‘บ้านร้าง’ ใน ‘ญี่ปุ่น’ ทะลุ 9 ล้านหลัง สวรรค์ของคนต่างชาติที่ฝันอยากมีบ้าน

‘บ้านร้าง’ ใน ‘ญี่ปุ่น’ ทะลุ 9 ล้านหลัง สวรรค์ของคนต่างชาติที่ฝันอยากมีบ้าน

ข้อมูลการสำรวจเผย ญี่ปุ่นมี “อะกิยะ” หรือ “บ้านร้าง” มากถึง 9 ล้านหลัง หรือคิดเป็น 14% ของบ้านทั้งหมด แต่อสังหาริมทรัพย์เหล่านี้กำลังดึงดูดความสนใจชาวต่างชาติมากยิ่งขึ้น

KEY

POINTS

  • ข้อมูลจากการสำรวจที่อยู่อาศัยและที่ดินในเดือนตุลาคม 2566 พบว่ามีจำนวนบ้านร้างทะลุ 9 ล้านหลังเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนหน้าในปี 2561 ประมาณ 510,000 หลัง
  • สาเหตุหลักที่ทำให้มีบ้านร้างจำนวนมากในญี่ปุ่นเป็นเพราะเดิมทีบ้านร้างส่วนใหญ่จะมีเพียงผู้สูงอายุอาศัยอยู่ตามลำพัง ลูกหลานย้ายเข้ามาทำงานในเมือง แต่เมื่อพวกเขาเสียชีวิต หรือย้ายไปอยู่ที่สถานดูแลผู้สูงอายุ บ้านเหล่านี้ก็จะถูกทิ้งร้าง อีกทั้งคนรุ่นหลังยังไม่ต้องการรับบ้านเก่าเป็นมรดก เนื่องจากมองว่าเป็น “ภาระ” เพราะต้องเสียค่าภาษีและการบำรุงรักษาจำนวนมาก

  • เงินเยนที่ต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จึงทำให้ชาวต่างชาติที่ฝันอยากมีบ้านของตนเองหันมาสนใจครอบครองอะกิยะกันมากขึ้น เพราะมีราคาถูกกว่าอสังหาริมทรัพย์ในประเทศตัวเอง

‘ญี่ปุ่น’ เข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว’ และมีจำนวนประชากรลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงยังทำให้มี “บ้านร้าง” หรือ “อะกิยะ” เพิ่มขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจที่อยู่อาศัยและที่ดินในเดือนตุลาคม 2566 พบว่ามีจำนวนบ้านร้างทะลุ 9 ล้านหลังเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนหน้าในปี 2561 ประมาณ 510,000 หลัง

จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า บ้านร้างในญี่ปุ่นคิดเป็น 14% ของบ้านทั้งหมดในญี่ปุ่น แต่ความจริงแล้วอาจจะมีมากกว่านั้น เนื่องจากการสำรวจนี้สำรวจเฉพาะบ้านที่สามารถอยู่อาศัยได้ ไม่นับรวมบ้านที่มีสภาพทรุดโทรมเสี่ยงต่อการพังทลาย โดยสถาบันวิจัยโนมูระประมาณว่า ตอนนี้มีอะกิยะมากกว่า 11 ล้านหลัง และคาดการณ์ว่าภายในปี 2576 สัดส่วนของบ้านร้างอาจเกิน 30% ของบ้านทั้งหมดในญี่ปุ่น  

 

“บ้านร้าง” เพราะไม่มีคนอยู่

การสำรวจยังพบว่ามีอะกิยะมากกว่า 4.4 ล้านหลังที่อยู่ในสภาพพร้อมให้เช่า ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลจากเมือง อีก 3.8 ล้านไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของหรืออยู่ในสถานะใด และมีเพียง 330,000 หลังเท่านั้นที่ขายได้ จากทั้งหมด 9 ล้านคัน

สาเหตุหลักที่ทำให้มีบ้านร้างจำนวนมากในญี่ปุ่นเป็นเพราะเดิมทีบ้านร้างส่วนใหญ่จะมีเพียงผู้สูงอายุอาศัยอยู่ตามลำพัง ลูกหลานย้ายเข้ามาทำงานในเมือง เมื่อพวกเขาเสียชีวิต หรือย้ายไปอยู่ที่สถานดูแลผู้สูงอายุ บ้านเหล่านี้ก็จะถูกทิ้งร้าง

อีกทั้งคนรุ่นหลังยังไม่ต้องการรับบ้านเก่าเป็นมรดก เนื่องจากมองว่าเป็น “ภาระ” เพราะต้องเสียค่าภาษีและการบำรุงรักษาจำนวนมาก หรือในบางครั้งคนรุ่นลูกก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรกับบ้านที่เป็นมรดกของพ่อแม่ จึงเลือกที่ปล่อยทิ้งไว้

ภาครัฐพยายามแก้ปัญหาบ้านร้างด้วยการก่อตั้ง “ธนาคารอะกิยะ” (Akiya Bank) สำหรับรวบรวมบ้านร้างสำหรับขายหรือเช่าในราคาถูก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความพยายามของภาครัฐในการฟื้นฟูพื้นที่ชนบทของประเทศและกำจัดอะกิยะ โดยมักจะเป็นเว็บไซต์ง่าย ๆ และมีรูปถ่ายบ้านในหลายมุมมอง อีกทั้งเทศบาลบางแห่งยังได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชนให้เข้ามาช่วยกันบริหารธนาคารอะกิยะ

ขณะที่ “Minna no Zero-en Bukken” หรือ ทรัพย์สินศูนย์เยนของทุกคน เป็นบริการหาบ้านให้สำหรับผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยแต่ไม่มีเงินสำหรับซื้อบ้าน ยกเว้นภาษีที่อยู่อาศัยประมาณ 120,000 เยนต่อปี (ราว 30,000 บาท) โดยเรียว นากามุระ ผู้ก่อตั้งบริการดังกล่าว ระบุว่า ในปัจจุบันญี่ปุ่นต้องคิดถึงวิธีการนำที่ดินและอาคารกลับมาใช้ใหม่ เขาจึงต้องการเสนอโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสครอบครองสินทรัพย์อย่างเท่าเทียม  

 

“บ้านร้าง” สวรรค์ของชาวต่างชาติที่อยากมีบ้าน

เป็นเวลาเกือบสิบปีแล้วที่ ฮานะ ซากาตะและสามีทำธุรกิจรีโนเวทบ้านร้างให้กลายเป็นบ้านเช่า โดยเริ่มจากการซื้อบ้านร้านในคาบสมุทรอิซุที่ร้างและทรุดโทรม มาทำเป็นบ้านพักตากอากาศ รวมถึงซื้อบ้านโคมินกะ (Kominka) ซึ่งเป็นบ้านโบราณของญี่ปุ่นที่มีอายุหลักร้อยปีมาทำใหม่ แม้ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงบ้านหลังเก่าให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งจะมีราคาสูง แต่บ้านโคมินกะกลับกลายเป็นที่ถูกใจของชาวต่างชาติ

“ตอนนี้ชาวต่างชาติต่างตื่นตาตื่นใจกับการได้เป็นเจ้าของบ้านหลังใหญ่ในชนบทที่มีราคาถูกเหมือนให้ฟรี ซึ่งภายใน 10 ปีข้างหน้าเราอาจจะได้เห็นคนต่างชาติเป็นเจ้าของอากิยะจำนวนมาก” ซากาตะกล่าว

ชาวต่างชาติชื่นชอบและสนใจที่อยากจะเข้าพักในบ้านโคมินกะ เพื่อสัมผัสวัฒนธรรมและสถาปัตกรรมแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น แต่ดูเหมือนว่าบ้านโคมินกะที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จะมีน้อยกว่าความต้องการอย่างมาก เพราะในปัจจุบันขาดผู้เชี่ยวชาญและผู้รับเหมาที่มีทักษะงานไม้แบบดั้งเดิมที่จะมาซ่อมแซมบ้านโคมินกะ

เงินเยนที่ต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ยิ่งทำให้ชาวต่างชาติหันมาเที่ยวญี่ปุ่นมากขึ้น ในเดือนมีนาคนที่ผ่านมาญี่ปุ่นต้อนรับนักท่องเที่ยวมากกว่า 3 ล้านคน และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวต่างชาติที่ฝันอยากมีบ้านของตนเองหันมาสนใจครอบครองอะกิยะกันมากขึ้น เพราะมีราคาถูกกว่าอสังหาริมทรัพย์ในประเทศตัวเอง

ปาร์กเกอร์ อัลเลน ซีอีโอ Akiya and Inaka บริษัทจัดหาอะกิยะให้แก่ชาวต่างชาติกล่าวว่า คนต่างชาติไม่ได้สนใจว่าบ้านร้างจะมีประวัติอะไร มักจะชอบบ้านที่ใกล้กับทะเลหรือภูเขา และยิ่งเก่ายิ่งดี

ขณะที่ Airbnb แพลตฟอร์มจองที่พักออนไลน์กำลังมองหาวิธีนำ “อะกิยะ” จำนวนมากมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ยาสุยูกิ ทานาเบะ ผู้จัดการ Airbnb ประจำประเทศญี่ปุ่นกล่าวกับสำนักข่าว Nikkei ว่า “เรากำลังเจรจากับบริษัทต่าง ๆ เพื่อค้นหาวิธีนำอากิยะมาใช้เชิงธุรกิจ เพราะในตอนนี้อะกิยะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีหลายหลังที่สภาพดีเกินกว่าจะปล่อยให้ทิ้งร้าง”

ทั้งนี้ Airbnb จะไม่ลงทุนซื้อบ้านร้าง หรือออกค่าใช้จ่ายในการรีโนเวทบ้าน แต่จะทำงานร่วมกับธุรกิจอื่น ๆ และรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนให้เจ้าของบ้านเปลี่ยนบ้านร้างมาเป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะบ้านโคมินกะที่เป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสจิตวิญญาณของญี่ปุ่น


ที่มา: Japan TimesNikkeiThe Guardian