ทีมทรัมป์เลิกหวังกดดัน 'เฟด' ปรับโฟกัสมุ่งลด 'บอนด์ยีลด์ 10 ปี' แทน

ทีมทรัมป์เลิกหวังกดดัน 'เฟด' ปรับโฟกัสมุ่งลด 'บอนด์ยีลด์ 10 ปี' แทน

รมว.คลังสหรัฐ 'เบสเซนต์' เผย ทรัมป์เลิกหวังกดดันให้เฟดลดดอกเบี้ย จะหันไปกดผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีแทน พร้อมย้ำความสำคัญของพลังงานกับการลดเงินเฟ้อ

สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะมุ่งให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการกู้ยืม "โดยพิจารณาจากผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี มากกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น" ที่เป็นเกณฑ์อ้างอิงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

"ท่านประธานาธิบดีและผมจะมุ่งไปที่ดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี...ท่านไม่ได้เรียกร้องให้เฟดลดดอกเบี้ย" เบสเซนท์ให้สัมภาษณ์กับ Fox Business เมื่อวันพุธ โดยตอบคำถามนักข่าวที่ถามว่าทรัมป์ต้องการให้มีการลดดอกเบี้ยหรือไม่ แม้ว่าเมื่อเดือนที่แล้วทรัมป์จะเพิ่งกล่าวในวีดีโอคอลล์เรียกร้องให้เฟดลดดอกเบี้ย ที่งานเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ก็ตาม 

เบสเซนต์ซึ่งเป็นอดีตผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์กล่าวถึงเฟดว่า “ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ผมจะพูดถึงเฉพาะสิ่งที่พวกเขาทำเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่ผมคิดว่าพวกเขาควรจะทำ” และกล่าวว่าผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปียังคงพุ่งสูงขึ้น นับตั้งแต่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ 0.50% เมื่อเดือนก.ย.

ทว่าการที่บอนด์ยีลด์สหรัฐในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น "เป็นเพราะตลาดพันธบัตรตระหนักดีว่าภายใต้การบริหารของทรัมป์ ราคาพลังงานจะลดลง และสหรัฐสามารถมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อได้" 

“เราจะลดรายจ่าย ลดขนาดของรัฐบาล รัฐบาลจะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และเรากำลังจะเข้าสู่วัฎจักรอัตราดอกเบี้ยที่ดี” เบสเซนต์กล่าว 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีคลังคนใหม่ของสหรัฐซึ่งเป็นนักการเงินที่มาจากสายกองทุนเฮดจ์ฟันด์ มีแนวนโยบายเศรษฐกิจหลักๆ "3-3-3" ในการบริหารงาน คือ ลดการขาดดุลทางการคลังลงให้เหลือ 3% จากปัจจุบันที่สูงกว่า 6%, เพิ่มการผลิตน้ำมันเป็น 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับ 3%
 

นอกจากประเด็นดอกเบี้ยแล้ว เบสเซนท์ยังย้ำมุมมองเรื่องการขยายอุปทานพลังงานด้วยว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่จะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อลง โดยสำหรับชนชั้นแรงงานชาวอเมริกันแล้ว องค์ประกอบด้านพลังงานเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนที่สุดสำหรับความคาดหวังเงินเฟ้อในระยะยาว

แม้ว่าดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นของเฟดจะทำหน้าที่อ้างอิงสำคัญสำหรับตลาดเงิน แต่พันธบัตรอายุ 10 ปีก็เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่สำคัญไม่แพ้กันสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยระยะยาว 30 ปี ไปจนถึงดอกเบี้ยกู้ยืมที่สำคัญๆ

ขณะที่บอนด์ยีลด์ 10 ปีล่าสุดของสหรัฐเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เพิ่งลดลงแตะระดับต่ำที่สุดในปีนี้ จากปัจจัยลบตัวเลขกิจกรรมภาคบริการที่อ่อนแรงลง ส่วนการซื้อขายในตลาดเอเชียแทบไม่เปลี่ยนแปลงหลังจากมีความเห็นของเบสเซนต์ 

บลูมเบิร์กระบุว่า รัฐบาลสหรัฐสามารถมีอิทธิพลต่อผลตอบแทนพันธบัตรได้โดยการตัดสินใจว่า จะออกพันธบัตรโดยกำหนดระยะการไถ่ถอนเมื่อใด และบริหารจัดการหนี้ในภาพรวมด้วยการลดการขาดดุลทางการคลังลง

ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังสหรัฐยังคงรักษาแนวทางในการเดินหน้าขายพันธบัตรระยะยาวไว้จนถึงปี 2025 ซึ่งเบสเซนต์วิพากษ์วิจารณ์แนวทางนี้ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะได้รับเลือกให้เป็นรัฐมนตรีคลังคนใหม่ ส่วนบรรดาผู้ค้ามองว่าการออกพันธบัตรระยะยาวเพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก แม้ว่าจะทำให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม

ทางเลือกหนึ่งที่อาจจัดการได้ตรงเป้าหมายมากกว่าก็คือ การควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield curve control) คล้ายกับที่ญี่ปุ่นเคยทำมาแล้ว โดยธนาคารกลางจะทุ่มเงินเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อกดบอนด์ยีลด์ให้ลงมาใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ และเฟดเองก็เคยใช้วิธีนี้เช่นกันในช่วงทศวรรษ 1940 ภายใต้ส่วนหนึ่งของปฏิบัติการ Operation Twist เมื่อกว่าทศวรรษที่แล้ว

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินของเฟดเป็นอิสระจากกระทรวงการคลัง และเบสเซนต์เองก็ไม่เคยกล่าวว่าเขาเห็นด้วยกับการแทรกแซงเฟดโดยตรง