โลกแบ่งขั้ว ‘เวิร์ค - ไลฟ์ บาลานซ์’ แบบฉบับ ‘อีลอน มัสก์’

โลกแบ่งขั้ว ‘เวิร์ค - ไลฟ์  บาลานซ์’ แบบฉบับ ‘อีลอน มัสก์’

โลกโซเชียลวิจารณ์หนัก ทุ่มเท “ชั่วโมงทำงาน“ อย่างคนคลั่ง (รัก) งาน แบบ “อีลอน มัสก์“ เสนอไอเดีย 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ บ้างสนับสนุน บ้างชี้สวนทางโลกปฏิวัติใช้เวลาน้อย เน้นผลงานประสิทธิภาพมาก

KEY

POINTS

Key Pionts:

  • เจ้าหน้าที่ DOGE ต้องทำงานวันละ 17 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งไม่ใช่ชั่วโมงการทำงานของคนปกติทั่วไป
  • มัสก์ ดูเหมือนเป็นผู้นำความคิดของสังคม ไม่ว่าจะใช้เวลาทำงานกี่ชั่วโมงก็ตาม แต่น่าสนใจที่จะได้เห็นว่า ใครสามารถเอาชนะการทำงาน 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ของมัสก์ แล้วจะมีใครทำจริงหรือ
  • สุขภาพจิต และสุขภาพกาย เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ เห็นได้ชัดว่า ประสิทธิภาพการทำงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลาการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน

การทุ่มเทชั่วโมงทำงานยาวนานขึ้น กลายเป็นประเด็นร้อนให้กลับมาถกเถียงกันอีกครั้ง และครั้งนี้ร้อนแรงจนเป็นประเด็นระดับโลก เมื่อนารายา เมอร์ธี ผู้ร่วมก่อตั้ง Infosys เสนอให้คนรุ่นใหม่ทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จนกลายเป็นกระแสวิจารณ์อย่างหนักในโลกโซเชียล

จากนั้น ประธานบริษัท L&T ได้เสนอไอเดียให้ทำงานสัปดาห์ละ 90 ชั่วโมง แล้วเรื่องราวดูเข้มข้นขึ้นไปอีก เมื่ออีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสล่า และสเปซเอ็กซ์ เสนอให้ทำงานสัปดาห์ละ 120 ชั่วโมง

มัสก์โพสต์ข้อความบน X ดึงดูดความสนใจจากทุกคนได้อย่างรวดเร็ว โดยเขาประกาศด้วยความภาคภูมิใจว่า Department  of Goverment Efficiency หรือเรียกสั้นๆ ว่า  DOGE ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ล่าสุด เพื่อปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการสหรัฐให้มีประสิทธิภาพ รับกับนโยบาย Save America นั้น มีตารางการทำงานที่เคร่งครัดมาก

โดยเจ้าหน้าที่ DOGE ต้องทำงานวันละ 17 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งไม่ใช่ชั่วโมงการทำงานของคนปกติทั่วไป

ขณะที่บางคนสนับสนุนแนวทางมัสก์ ส่วนหลายคนตกใจกับแนวคิดการทุ่มเทให้เวลาทำงานที่ยาวนานขนาดนั้น

นักวิจารณ์ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อสุขภาพของคนทำงาน และตั้งคำถามกลับ ใครจะรักษาสุขภาพให้ดีได้ หากไม่ได้พักผ่อนอย่างเหมาะสมเพียงพอ

โลกแบ่งเป็นสองขั้ว

คุณคิดอย่างไรเกี่ยวกับจำนวนชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมต่อสัปดาห์ เพื่อที่จะสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน (Work - Life Balance) ระหว่างการทำงานจำนวน 60 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นต่อสัปดาห์ กับการทำงานจำนวน 40 - 50 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์

โลกโซเชียลมีความเห็นต่อมัสก์ที่แตกต่างกัน บางคนชื่นชมเขาว่ามีความทุ่มเท ขณะที่บางคนวิจารณ์ว่า มัสก์ส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

ด้านนักวิจารณ์ชี้ให้เห็นว่า การทำงานเป็นเวลานานนั่นไม่ได้หมายความว่า จะประสบความสำเร็จมากขึ้นเสมอไป เช่นเดียวกับอีกหลายคนมองว่า คุณภาพงานสำคัญกว่าจำนวนเวลาที่ใช้ไปกับการนั่งโต๊ะทำงาน

นอกจากนี้ ผู้คนแสดงความกังวลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน โดยกล่าวว่าการทำงานเป็นเวลานานทำให้มีเวลาส่วนตัวให้กับครอบครัว หรือสร้างสมดุลในชีวิตได้น้อยลง

เวิร์ค - ไลฟ์ บาลานซ์

ท้ายที่สุดแล้ว การทำงานหนักจะมีประโยชน์อะไร หากคุณไม่มีเวลาเพลิดเพลินไปกับเงินค่าตอบแทนที่ได้รับ

โดยรวมแล้วนักวิจารณ์ในโซเชียลพากันแสดงความกังวลต่อผลกระทบด้านลบที่มีต่อสุขภาพจิต และสุขภาพกายรวมถึงผลกระทบของมีเวลาให้กับครอบครัว

ในกลุ่มนี้ มีนักวิจารณ์บางคนพูดติดตลกว่า ข้อเสนอของมัสก์ จะทำได้จริง ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ DOGE เป็นหุ่นยนต์ หรือมนุษย์ต่างดาว ซึ่งจะสามารถทำงานสัปดาห์ละ 120 ชั่วโมงได้โดยไม่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ และชีวิตครอบครัวใดๆ

ถึงอย่างไรก็เกิดคำถามว่า การทุ่มเทเวลาการทำงานยาวนานขึ้น นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีจริงหรือไม่ เมื่อบริษัทจำนวนมาก เริ่มทดลองการลดชั่วโมงการทำงานในแต่ละสัปดาห์ และเน้นที่ความสมดุลระหว่าง ชีวิตกับการทำงาน

หลายคนเริ่มตั้งคำถามต่อแนวคิดที่ว่า “ยิ่งทำงานนานหลายชั่วโมง งานยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น” เป็นความคิดที่ล้าสมัยไปแล้วหรือไม่

แม้ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยกับแนวทางของมัสก์ หรือชื่นชอบมุมมองที่สมดุลย์ของเมอร์ธีมากกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่เริ่มชัดเจนขึ้นคือ “วัฒนธรรมการทำงานกำลังถูกพัฒนา”

มัสก์ ดูเหมือนเป็นผู้นำความคิดของสังคม ไม่ว่าจะใช้เวลาทำงานกี่ชั่วโมงก็ตาม แต่น่าสนใจที่จะได้เห็นว่า ใครสามารถเอาชนะการทำงาน 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ของมัสก์ได้ แล้วจะมีใครทำจริงหรือ

งานวิจัยฉบับหนึ่งแสดงให้เห็นว่า การทำงานหลายชั่วโมงติดต่อกัน ส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟ และประสิทธิภาพการทำงานลดลง

ดังนั้นไม่ว่า คุณเป็นทีมเดียวกับมัสก์ หรือเป็นทีมเดียวกับเมอร์ธี ก็ขอให้พิจารณาถึงเหตุผลการสร้างสมดุลย์ระหว่างชีวิตส่วนตัว กับการทำงานมากขึ้น เนื่องจากสุขภาพจิต และสุขภาพกาย เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ เห็นได้ชัดว่า ประสิทธิภาพการทำงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลาการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานด้วย

อ้างอิง :  TimeofIndia