ความรับผิดชอบ 4 ทศวรรษ พลังงานไทย

ความรับผิดชอบ 4 ทศวรรษ พลังงานไทย

 เชฟรอนรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม ความท้าทาย และโอกาสครั้งใหม่ของประเทศ

การผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยซึ่งดำเนินมาเกือบ 4 ทศวรรษ กำลังก้าวสู่ความท้าทายครั้งใหม่นั่นคือการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมและสิ่งติดตั้งอื่นๆ เพื่อใช้ในการผลิตปิโตรเลียมที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาเอกชนผู้รับสัมปทานมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามความรับผิดชอบในการรื้อถอนตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญาสัมปทาน โดยได้ดำเนินการต่างๆ ตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กิจกรรมการรื้อถอนมีความปลอดภัยและมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสูงสุด ควบคู่ไปกับภารกิจสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง    อาทิ การศึกษานำร่องการนำส่วนบนของแท่นปิโตรเลียมไปจัดการบนฝั่ง และการนำขาแท่นไปทำเป็นปะการังเทียม ซึ่งไม่เพียงช่วยสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการรื้อถอนซึ่งเป็นเรื่องใหม่ แต่ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ประเทศไทยจะได้จากกิจกรรมการรื้อถอน

ทำไมต้องรื้อถอน

1

“เอราวัณ” แหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกในอ่าวไทย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524

ประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเชิงพาณิชย์ได้เป็นครั้งแรก จาก “เอราวัณ” แหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เมื่อปี พ.ศ. 2524 ช่วยให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองทางพลังงานได้มากขึ้น ลดปริมาณการนำเข้าพลังงาน นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศสู่ยุค “โชติช่วงชัชวาล” ที่มีความมั่นคงทางพลังงาน สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมรุดหน้ามาจนถึงทุกวันนี้

หลังจากการดำเนินการกว่า 4 ทศวรรษ แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและแหล่งปิโตรเลียมใกล้เคียงในพื้นที่แปลงสำรวจปิโตรเลียมหมายเลข 10,11, 12 และ 13 กำลังจะสิ้นสุดระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมตามสัญญาสัมปทานในปี พ.ศ. 2565 บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และผู้รับสัมปทานร่วม มีความมุ่งมั่นในการดำเนินการรื้อถอนแท่นและสิ่งติดตั้งอื่นๆ ที่รัฐระบุว่าไม่สามารถใช้ประโยชน์ในกิจการปิโตรเลียมได้อีกต่อไป ตลอดจนส่งมอบสิ่งติดตั้งที่ยังใช้ประโยชน์ได้ให้แก่ภาครัฐ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของอุตสาหกรรมพลังงานไทย และเมื่อพิจารณาจากแท่นปิโตรเลียมที่มีอยู่ในอ่าวไทยทั้งหมดกว่า 400 แท่น ที่อาจต้องทยอยรื้อถอนนับจากนี้ไป การรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมจึงเป็นความท้าทายบทใหม่ของประเทศ

รื้อถอนด้วยความรับผิดชอบ

การรื้อถอนสิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แล้ว เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในกิจการปิโตรเลียมที่ดำเนินงานกันอยู่ทั่วโลก เชฟรอนเองก็ดำเนินกิจกรรมการรื้อถอนสิ่งติดตั้งทั้งบนบกและในทะเลมาอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก โดยมี Environmental Management Company ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะของเชฟรอนคอร์ปอเรชั่นที่สหรัฐอเมริกา ที่มีความรู้และประสบการณ์ คอยสนับสนุนให้การดำเนินงานรื้อถอนของเชฟรอนเป็นไปอย่างปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูงสุด

สำหรับประเทศไทยเองนั้น มีกฎหมายเกี่ยวกับการรื้อถอนที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยผู้รับสัมปทานจะต้องปฏิบัติตามกระบวนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอน ได้แก่ การจัดทำรายงานและแผนต่างๆ ครอบคลุมตั้งแต่ การประเมินด้านสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอนโดยในระหว่างการดำเนินการมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาวิธีการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่เหมาะสมที่สุด ไปจนถึงการจัดทำแผนงานการรื้อถอนโดยละเอียดและประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน เพื่อยื่นต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เพื่อพิจารณาอนุมัติเพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งเชฟรอนเองก็ได้ดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ มาโดยตลอด ตลอดจนมีความพร้อมและความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามความรับผิดชอบในการรื้อถอนตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาสัมปทาน โดยเริ่มวางแผนและดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินกิจกรรมการรื้อถอน ควบคู่ไปกับการสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

อนุรักษ์ควบคู่พัฒนา

2

การรื้อถอนส่วนบนของแท่นหลุมผลิต

สำหรับสิ่งติดตั้งในกิจการปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย อาจแบ่งได้เป็นสองส่วน คือสิ่งติดตั้งที่อยู่เหนือน้ำ เช่น ส่วนบนของแท่นผลิตปิโตรเลียม และสิ่งติดตั้งที่อยู่ใต้น้ำ เช่น ขาแท่นปิโตรเลียม ท่อขนส่งใต้ทะเล เป็นต้น ซึ่งมีทางเลือกในการจัดการได้หลายวิธี โดยที่ผ่านมาเชฟรอนได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการศึกษาทางเลือกในการรื้อถอนที่มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้พบว่าการรื้อถอนก็สามารถช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจได้อีกด้วย ดังเช่น การนำส่วนบนของแท่นปิโตรเลียมกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) ในพื้นที่สัมปทานบริเวณอื่นซึ่งช่วยลดการนำเข้าวัสดุ อุปกรณ์ และเป็นการอนุรักษ์พลังงานอีกทางหนึ่ง สำหรับส่วนบนที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้วก็นำมาจัดการบนฝั่งซึ่งนำไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ซึ่งเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สำหรับขาแท่นสามารถนำมาจัดทำเป็นปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้คงความอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังสร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ชาวประมง และผู้ใช้ประโยชน์ทางทะเลอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เสริมแกร่ง EEC

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ดำเนินโครงการนำร่องการนำส่วนบนของแท่นหลุมผลิตไปจัดการบนฝั่ง ศึกษาการนำแท่นหลุมผลิตสี่แท่นที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในกิจการปิโตรเลียมได้แล้ว โดยได้ดำเนินการทำความสะอาดขั้นต้น ตัดส่วนบนของแท่นหลุมผลิต แล้วขนส่งทางเรือไปยังสถานที่แยกชิ้นส่วนและจัดการวัสดุและของเสียจากการรื้อถอน (Dismantling Yard) ในจังหวัดชลบุรี ในระหว่างปี พ.ศ. 2560-2561 ซึ่งการดำเนินโครงการประสบความสำเร็จตามแผนที่วางไว้

 

การดำเนินโครงการนี้ทำให้พบว่าผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการบริหารจัดการสถานที่แยกชิ้นส่วนและจัดการวัสดุและของเสียจากการรื้อถอน ตามมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่กฎหมายกำหนด นับเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ให้กับประเทศ เฉพาะในประเทศไทยเองก็มีแท่นผลิตอยู่เกือบ 400 แท่น ซึ่งอาจต้องทยอยรื้อถอนต่อไป โดยแต่ละแท่นมีน้ำหนักเป็นพันตัน นอกจากนั้นในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ก็ยังไม่มีกระบวนการรื้อถอนด้วยวิธีนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะรับรื้อถอนแท่นผลิตของประเทศอื่นได้อีกด้วย นอกจากนั้นชิ้นส่วนต่างๆ ของแท่นผลิตที่ยังใช้ประโยชน์ได้ยังสามารถนำไปใช้ซ้ำ หรือแยกชิ้นส่วนออกมารีไซเคิลในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจหลอมเหล็ก ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกมาก

  

โดยล่าสุด กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ในระหว่างหารือกับสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางการจัดตั้งโรงงานแยกชิ้นส่วน ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงการแยกชิ้นส่วนและจัดการวัสดุและของเสียจากการรื้อถอนจะกลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ช่วยสร้างงานทั้งทางตรงและในธุรกิจต่อเนื่องได้อีกมหาศาล

ปะการังเทียมขาแท่นเพื่อการอนุรักษ์

3

โครงการศึกษาการนำโครงสร้างเหล็กมาวางเป็นปะการังเทียม

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 8 ขาแท่นไปจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในกิจการปิโตรเลียมได้แล้ว ในบริเวณพื้นที่อ่าวไทย โดยได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างทั้งสามหน่วยงานไปเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2562

 

ทั้งนี้ การจัดทำและจัดวางปะการังเทียมมีความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยปะการังเทียมจะทำหน้าที่คล้ายแนวปะการังธรรมชาติเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและหลบภัยของสิ่งมีชีวิต ซึ่งการนำขาแท่นหลุมผลิตมาใช้ทำปะการังเทียม มีการดำเนินงานอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยเอง มูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้ศึกษาการใช้โครงสร้างเหล็กชนิดเดียวกับขาแท่นมาจัดวางเป็นปะการังเทียมในบริเวณพื้นที่เกาะพะงัน และพบว่ามีความเหมาะสมในการเข้าอยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมทั้งการใช้ประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยวเป็นแหล่งดำน้ำและการประมง จึงเป็นที่มาของการดำเนินโครงการนี้

 

โดยเชฟรอนจะมอบขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 8 ขาแท่น ให้แก่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อจัดวางเป็นปะการังเทียม ในปี พ.ศ. 2562  และทำการศึกษาตามขอบเขตการศึกษาของโครงการต่อไป ขาแท่นเหล่านี้ทำจากเหล็กกล้าสำหรับการใช้งานในทะเล มีน้ำหนักประมาณ 500 – 1,200 ตัน จึงมีความมั่นคงแข็งแรง และด้วยลักษณะโครงสร้างที่ซับซ้อนและไม่มีส่วนใดสัมผัสกับปิโตรเลียมมาก่อน ทำให้สามารถเป็นพื้นที่ผิวในการลงเกาะของปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้ โดยเมื่อจัดวางแล้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะศึกษา ติดตามและตรวจสอบสภาพแวดล้อมด้านกายภาพและชีวภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการวางแผนงานและการจัดการปะการังเทียมจากขาแท่นเพื่อการอนุรักษ์ให้กับประเทศต่อไป

4

สิ่งมีชีวิตบริเวณขาแท่นผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย

อุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทย ได้ก้าวสู่ยุคแห่งการรื้อถอน ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐและผู้ประกอบการได้ทำงานร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการกิจกรรมการรื้อถอนในอนาคตให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาสในการสร้างและถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน