“พอแล้วดี” The Creator รุ่น 2 ต่อยอดธุรกิจสร้างสรรค์

“พอแล้วดี” The Creator รุ่น 2 ต่อยอดธุรกิจสร้างสรรค์ บนพื้นฐานของความพอเพียง
หลังจากโครงการ “พอแล้วดี” The Creator รุ่น 1 (2559) สิ้นสุดลงและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ ทำให้ในปีนี้ โครงการ “พอแล้วดี” The Creator รุ่น 2 จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งหวังที่จะบ่มเพาะนักธุรกิจรุ่นใหม่ให้เป็นต้นแบบของสังคม บนพื้นฐานแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ผสมผสาน “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ซึ่งจะนำมาสู่เศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน ที่ไม่จำกัดเฉพาะในภาคเกษตรกรรมเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจอื่นในปัจจุบันที่ตอบโจทย์และการดำเนินชีวิตของคนเมืองได้
ในปี 2560 มีกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นจำนวน 18ธุรกิจ ซึ่งทางโครงการฯ แบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 5 ประเภท คือ ธุรกิจแฟชั่นและดีไซน์ที่ยั่งยืน ( Sustainable Fashion & Design) ธุรกิจวัฒนธรรมและท่องเที่ยวชุมชน (Cultural & Community Tourism) ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคออร์แกนิค(Organic Retails) ธุรกิจผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน(Everyday Product)และธุรกิจผลผลิตเกษตรยั่งยืน (Sustainable Agricultural Retails)สำหรับปีนี้ได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่นักธุรกิจรุ่นใหม่ ทั้งสิ้น 3 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน 2560 โดยเริ่มจากการให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ได้ทบทวนและทำความเข้าใจอัตลักษณ์ของแบรนด์ที่พวกเขาสร้างขึ้นมา ผ่านการทำความรู้จักและประเมินตนเอง การฝึกวิเคราะห์ธุรกิจผ่าน Business model Canvas ตลอดจนการนำ“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ของธุรกิจให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน
โดยทั้งหมดนี้เป็นการเรียนรู้ที่ให้นักธุรกิจได้นำกลับไปทดสอบจริงแล้วกลับมาถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนร่วมกัน นอกจากนั้นยังมีโค้ชที่เชี่ยวชาญทั้งในเรื่องการตลาด การสร้างแบรนด์ การออกแบบ และการสร้างกลยุทธ์ ฯลฯมาอบรมให้คำแนะนำซึ่งช่วยให้นักธุรกิจรุ่นใหม่เหล่านี้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้และเผยแพร่ให้สังคมภายนอกเกิดการรับรู้ถึงคุณค่าของความพอเพียงได้มากขึ้น
“คนรุ่นใหม่” พลังสานต่อศาสตร์พระราชา
ดร.ศิริกุล เลากัยกุลผู้อำนวยการโครงการพิเศษ มูลนิธิมั่นพัฒนากล่าวว่า ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาอย่างยิ่งในศาสตร์พระราชาและที่ผ่านมา ตนเองได้นำมาใช้กับการทำงานด้านการสร้างแบรนด์และการตลาดมาโดยตลอด เมื่อเริ่มทำโครงการพอแล้วดีจึงเห็นถึงประโยชน์และคุณค่าที่จะนำเรื่อง “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เข้ามาใช้ในการอบรมให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อสร้างความเข้าใจและเชื่อมโยงคนเหล่านี้ให้กลายเป็นส่วนเล็กๆ ที่สามารถนำเอาหลักคิดนี้ไปสานต่อและประยุกต์ใช้กับธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนได้
ดร.ศิริกุล บอกว่า “พอแล้วดี” The Creator รุ่น 2นี้ แตกต่างจากปีก่อนในเรื่องความหลากหลายของธุรกิจที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาในโครงการและมีจำนวนธุรกิจมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่เริ่มธุรกิจได้ประมาณ 1-2 ปี เท่านั้น แต่พอเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันกลับได้เห็นถึงพลังของการแบ่งปันช่วยเหลือกันเพื่อจะทำให้ธุรกิจและสังคมรอบตัวเขาเข้มแข็งขึ้น
ในอนาคตหากมีการดำเนินโครงการ“พอแล้วดี” The Creatorรุ่นต่อไปตนเองคาดหวังว่าจะได้เห็นธุรกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาใช้ได้กับธุรกิจทุกประเภท ไม่ใช่แค่เรื่องการเกษตร แต่การเกษตรก็สามารถแปรรูปเป็นสินค้าและบริการมาบวกกับความคิดสร้างสรรค์ได้ จึงอยากเป็นอีกแรงที่ลุกขึ้นมาทำให้คนในประเทศเห็นว่าคำว่าพอเพียงใช้ได้กับทุกวงการ
“31Thanwa” แบรนด์กระเป๋าเสริมพลังสร้างโอกาสเพื่อผู้หญิง
จากทายาทธุรกิจรองเท้าหนังส่งออก สู่เจ้าของธุรกิจกระเป๋าหนังที่ไม่ได้มีแค่ความสวยงามแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางสังคม คุณบุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์ เจ้าของธุรกิจกระเป๋าหนังแบรนด์“31 Thanwa”อายุ 31 ปี กรุงเทพฯ เล่าว่า ธุรกิจนี้เกิดจากจุดพลิกผันเมื่อเธอและคุณพ่อมีปัญหาทางด้านสุขภาพ เธอจึงลาออกจากการทำงานประจำกลับมาสานต่อธุรกิจรองเท้าหนังของครอบครัวและเกิดเป็นไอเดียที่อยากจะต่อยอดการทำธุรกิจมาทำธุรกิจที่เกี่ยวกับแฟชั่น เนื่องด้วยมีความสนใจและชื่นชอบแฟชั่นเป็นทุนเดิม ประกอบกับเรียนจบมาทางด้านการออกแบบตกแต่งภายใน จึงนำเอาองค์ความรู้เรื่องงานฝีมือมาผสมผสานกับความเชี่ยวชาญและเทคนิคการทำรองเท้าหนังของที่บ้านมาต่อยอดผลิตเป็นกระเป๋าหนัง
คุณบุณยนุชบอกว่าปัจจุบันวงการแฟชั่นเครื่องหนังมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างเร็วมาก เราไม่สามารถตามกระแสได้ทัน ซึ่งในปีที่ผ่านมาแบรนด์กระเป๋าแฟชั่นของไทยต้องปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก เพราะเกิดจากลดต้นทุน ลดคุณภาพ เพื่อจะให้ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการของราคาไม่สูง ทำให้สินค้าล้นตลาด ซึ่งมีผลกระทบต่อแบรนด์ของตนเองเช่นกัน จึงทำให้กลับมาทบทวนว่าจะทำอย่างไรให้แบรนด์ของตัวเองเติบโตอยู่ได้อย่างยั่งยืน จนกระทั่งได้เข้าร่วมและมาอบรมกับโครงการฯ ทำให้มุมมองในเรื่องการทำงานด้านแฟชั่นของตนเปลี่ยนไป จากที่เคยวิ่งตามกระแสตลอดเวลา ไม่มีความพอดี กลายเป็นหยุดและหันกลับมาทบทวนตัวเอง เพื่อวิเคราะห์ ค้นหาจุดยืน ว่าเราพอใจและต้องการอะไรเพื่อให้สามารถออกแบบและสร้างแบรนด์ในรูปแบบของตนเองได้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดการทำกระเป๋าหนัง “31 Thanwa”ที่อยากสร้างกระเป๋าให้แตกต่างจากที่มีในตลาดและสามารถสร้างคุณค่าให้กับสังคมโดยเลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวและคุณค่าของผู้หญิงเข้ามาสร้างเป็นจุดเด่นให้สามารถดึงดูดลูกค้าให้หันมาสนใจและให้ความสำคัญกับแบรนด์ของเราได้
คุณบุณยนุชบอกเพิ่มเติมว่าในโรงงานทำรองเท้าหนังของครอบครัวจะมีผู้หญิงทำงานเป็นช่างค่อนข้างมากและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบาก เราจึงนำผู้หญิงเหล่านั้นมาฝึกฝนและพัฒนาฝีมือเป็นช่างเย็บกระเป๋า เพื่อสนับสนุนให้ผู้หญิงเหล่านั้นได้มีอาชีพที่มั่นคงมีโอกาสทางสังคม สามารถพึ่งพาตนเอง เลี้ยงดูครอบครัวได้และนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นี่คือจุดเด่นที่เราจะนำเสนอเรื่องราวชีวิตของช่างทำกระเป๋าที่เป็นผู้หญิงให้กับลูกค้าที่สนใจเพื่อให้ลูกค้าเห็นถึงคุณค่าของความเป็นผู้หญิงด้วยกันเอง
“เราอยากสร้างให้แบรนด์ของเราเติบโตได้อย่างยั่งยืน จึงอยากทำสินค้าหรือกระเป๋าหนังที่สามารถช่วยเหลือและให้คุณค่ากับสังคม โดยแผนระยะยาวต้องการพัฒนาองค์ความรู้ ด้วยการฝึก ทักษะฝีมือในการทำกระเป๋าให้กับช่างฝีมือใหม่ เพื่อสร้างอาชีพและโอกาสทางสังคมให้กับผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งพวกเขาจะได้มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว และมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงส่งต่อองค์ความรู้ไปยังสังคมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นต่อไป”
“ข้าวธรรมชาติ” เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวนา
จากเจ้าของกิจการโรงสีข้าวมาสู่การเป็นผู้ผลิตข้าวธรรมชาติที่ปลอดสารเคมี นายชินศรี พูลระออ อายุ 39 ปี เจ้าของธุรกิจแบรนด์ข้าวธรรมชาติ จังหวัดเชียงราย ที่พลิกฟื้นการทำเกษตรและชีวิตของเกษตรกรในชุมชนให้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายชินศรีเล่าว่า ครอบครัวของตนทำกิจการโรงสีข้าวที่รับซื้อข้าวจากเกษตรกรโดยตรงซึ่งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ตนเกิดความสงสัยว่าทำไมข้าวที่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงรายปลูกถึงมีต้นทุนการผลิตที่สูง แต่ได้ผลผลิตน้อย ด้อยคุณภาพ และขายได้ราคาที่ต่ำกว่าราคาในท้องตลาดซึ่งส่งผลให้เกษตรกรในชุมชนขาดทุนและเป็นหนี้เพิ่มขึ้น จึงเกิดแนวคิดการไปศึกษาเรียนรู้เรื่องการปลูกข้าวเพื่อที่จะช่วยให้เกษตรกรในชุมชนสามารถสร้างผลผลิตที่ได้มาตรฐาน ทำให้จำหน่ายหรือส่งออกได้ในราคาที่ดี และส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายชินศรีกล่าวว่า การที่เข้าร่วมโครงการฯ นี้ สามารถนำความรู้เรื่องการทำเกษตรตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในกระบวนการปลูกและผลิตข้าวตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่กระบวนการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้นำพันธุ์ข้าวดั้งเดิมของจังหวัดเชียงรายคือ ข้าวดอกมะลิ 105 ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นกลับมาให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกใหม่อีกครั้ง การวางแผนการปลูกข้าวด้วยการคำนวณพื้นที่และทรัพยากรน้ำว่ามีเพียงพอต่อการเพาะปลูก รวมถึงการปลูกข้าวที่ไม่ใช่สารเคมีซึ่งทั้งหมดนี้หากจะทำให้สำเร็จได้ต้องเริ่มจากการสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่รอบๆ ชุมชนก่อน ทั้งในเรื่องวิธีการปลูกข้าว การผลิต โดยเฉพาะการนำความรู้ท้องถิ่นมาผนวกกับองค์ความรู้ทางวิชาการจึงสามารถทำเกษตรกรรมแบบเกษตรอินทรีย์ได้ดียิ่งขึ้นผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานและมีปริมาณเพิ่มขึ้นในขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตก็ลดลงส่งผลให้เกษตรกรสามารถขายข้าวได้ราคาสูงขึ้น นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้
“การที่จะทำให้แบรนด์ข้าวธรรมชาติเกิดความยั่งยืนได้ เราต้องทำให้เกษตรกรรู้จักตัวเอง มีความภูมิใจในอาชีพชาวนา รักในอาชีพของตน รวมถึงรู้จักอนุรักษ์พันธุ์ข้าวดั้งเดิมและนำมาพัฒนาต่อยอด ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ข้าว เพื่อที่เกษตรจะสามารถพึ่งพาตนเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้”
“HOM” มากกว่าที่พัก เรียนรู้วิถีอาหารชุมชน
จากอาชีพวิศวกรขุดเจาะปิโตรเคมีที่มีประสบการณ์การทำงานในหลายประเทศ และมีเงินเดือนหลายแสนบาท แต่ คุณภาวลินลิมธงชัย มาสะกีอายุ 36 ปี เจ้าของธุรกิจ Hom Hostel & Cooking Club กรุงเทพฯ ที่ตัดสินใจทิ้งหน้าที่การงานและเงินเดือนสูงเพื่อกลับมาอยู่กับครอบครัว
คุณภาวลินบอกว่า Hom Hostel & Cooking Club เกิดจากการนำตึกแถวของที่บ้านมาออกแบบและปรับปรุงใหม่ให้กลายเป็นที่พัก ภายใต้แนวคิดที่ว่าอยากจะทำที่พักหรือโฮสเทลให้เป็นมากกว่าแค่การมาพักผ่อน เราจึงสร้างความโดดเด่นที่แตกต่างจากที่อื่น ตรงที่นอกจากผู้เข้าพักสามารถมาพักผ่อนได้แล้ว ยังสามารถมาเรียนรู้การทำอาหารซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การมีครัวทำอาหารนานาชาติซึ่งเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าพักสามารถทำอาหารในแบบฉบับของตนเองได้ เราอยากให้ผู้เข้าพักสามารถมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะตนเชื่อว่าอาหารสามารถเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน Hom Hostel & Cooking Club จึงเปรียบเสมือนเป็นชุมชนของคนรักการทำอาหารที่พร้อมจะมาแลกเปลี่ยน แบ่งปัน เรื่องราว ต่างๆ เข้าด้วยกัน
“การเข้ามาอบรมโครงการ “พอแล้วดี” ทำให้รู้ว่าเราสามารถนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของเราได้ โดยเฉพาะการนำมาปรับใช้กับธุรกิจของตน ในเรื่องการรู้จักตนเองและรู้ว่าเราควรพอที่จุดใด ธุรกิจจะดำเนินอยู่ได้ถ้าเรามีการวางแผน และดำเนินธุรกิจบนฐานของความพอเพียงพอดี รวมถึงการมีภูมิคุ้มกันที่ดี เมื่อธุรกิจดำเนินไปได้ดีเราควรเริ่มที่จะแบ่งปันช่วยเหลือสังคม จุดนี้จึงทำให้เกิดความคิดที่อยากจะเชื่อมโยงธุรกิจในเรื่องอาหารเข้ากับชุมชน โดยการสร้างแผนที่อาหารชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ อาทิ ชุมชนนางเลิ้ง บางลำพู เยาวราช แจกจ่ายให้ผู้เข้าพักในโฮสเทลสามารถเข้าไปศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของอาหารไทยดั้งเดิม และวิถีชีวิตของคนในชุมชน นอกไปจากนั้นยังมีแผนที่จะส่งต่อแนวคิดของการทำ Hom Hostel & Cooking Club ไปให้ที่พักที่มีแนวความคิดคล้ายๆ กันในจังหวัดอื่นๆ เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายในการทำที่พักรวมกันอีกด้วย
ติดตามตัวอย่างโครงการ “พอแล้วดี The Creator” รุ่น 2 เพิ่มเติมได้ในคอลัมน์เวทีมั่นพัฒนาฉบับถัดไป และทางเว็บไซต์ของมูลนิธิมั่นพัฒนา www.tsdf.or.th และเว็บไซต์ของโครงการฯ www.PorLaewDeeTheCreator.com