TIJ จับมือฮาร์วาร์ดจัดเวิร์คชอป "นิติธรรม" ระดับโลก
กลับมาอีกครั้งสำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการในหลักสูตร TIJ Workshop for Emerging Leaders on the Rule of Law and Policy ที่ผู้คนในแวดวงกระบวนการยุติธรรมและผู้นำรุ่นใหม่จากทุกภาคส่วนกล่าวขวัญถึงมากที่สุดหลักสูตรหนึ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
หลักสูตรนี้เป็นการอบรมระยะสั้นแบบ Exclusive ที่ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ (Thailand Institute of Justice) จับมือกับ สถาบันเพื่อกฎหมายและนโยบายโลก หรือ IGLP (Institute for Global Law and Policy) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Law School) เปิดเวทีให้ผู้นำรุ่นใหม่จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมของไทย ได้ศึกษาและถกแถลงร่วมกันในประเด็นกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม หลักนิติธรรม และการพัฒนาที่ยั่งยืน
จุดเด่นของหลักสูตรนี้คือไม่ใช่แค่นั่งเรียน แต่ยังเปิดให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถนำทฤษฎีและแนวคิดที่ผ่านการระดมสมองร่วมกันไปประยุกต์ใช้ให้ปฏิบัติได้จริง โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้พลังของผู้นำรุ่นใหม่ นักกำหนดนโยบาย และนักวิชาการแก้ไขปัญหาสังคม ลดความเหลื่อมล้ำจากการบังคับใช้กฎหมายและภาวการณ์ของการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด
ยิ่งไปกว่านั้น โครงการนี้ยังเป็นศูนย์รวมสุดยอดคณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำจากทั่วโลกในเครือข่ายของ IGLP มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งนอกจากคุณวุฒิจะเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติแล้ว เทคนิคการเรียนการสอน ตลอดจนวิธีการใหม่ๆ ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ จะได้รับการถ่ายทอดผ่านการอบรมตลอดหลักสูตรที่ใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์
IGLP คือ สถาบันกฎหมายและนโยบายระดับโลก ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาแนวทางใหม่ๆ ในการดำเนินนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาความยากจน ความขัดแย้ง ตลอดจนความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำที่เป็นสถานการณ์ท้าทายที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์การพัฒนาทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด นวัตกรรมการเงินในรูปแบบใหม่ๆ และการสื่อสารที่ไร้พรมแดน
สอดคล้องกับพันธกิจของ TIJ ที่ต้องการขับเคลื่อนประเด็นกฎหมายและหลักนิติธรรมเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ขจัดความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ มุ่งสู่สังคมสันติสุข
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ เล่าให้ฟังว่า หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรความร่วมมือด้านหลักนิติธรรมแห่งแรกและแห่งเดียวที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจัดทำขึ้นในเอเชีย โดยพัฒนาเนื้อหาให้ครอบคลุมข้อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในมิติต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำหลักนิติธรรมไปปฏิบัติและประยุกต์ใช้ได้จริง ถือเป็นหนึ่งในความพยายามเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อันเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs (Sustainable Development Goals:) เป้าหมายที่ 16 ว่าด้วยการส่งเสริมสังคมที่สงบสุข และให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม
"เป้าหมายสำคัญของการอบรม คือการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของผู้นำรุ่นใหม่จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และประชาสังคม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายด้วยแนวคิดและวิธีการใหม่ๆ นำไปสู่การพัฒนาสังคมอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนต่อไป" ผู้อำนวยการ TIJ กล่าว
การอบรมหลักสูตรนี้ผ่านมาแล้ว 2 รุ่น แต่ไฮไลท์สำหรับรุ่นต่อไป คือ คอร์สที่เรียกว่า "Problem Labs" ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรมจาก 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม Emerging Leaders หรือผู้นำรุ่นใหม่ และนักกำหนดนโยบาย กับ
กลุ่ม Scholars หมายถึงนักวิชาการ และนักวิจัยได้ศึกษาและระดมสมองเพื่อค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในมิติของนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับแก้ไขปัญหาที่กำลังท้าทายความเปลี่ยนแปลงในสังคม เพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะที่เป็นทางออกร่วมกัน
ปัญหาหลักๆ ที่ถูกกำหนดเป็นประเด็นให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ระดมสมองร่วมกัน มี 6 ปัญหา ได้แก่ ปัญหาอาชญากรรมและความมั่นคงไซเบอร์ จากสถานการณ์ที่เทคโนโลยีดิจิทัลก้าวหน้าไปมาก กลายเป็นช่องทางของการก่ออาชญากรรมรูปแบบใหม่ๆ ได้เช่นกัน ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายให้เท่าทันและเป็นธรรม
ปัญหาข้อมูลส่วนบุคคล บิ๊กดาต้า และสมองกล เพราะข้อมูลที่ไหลเวียนจำนวนมากในแต่ละวินาทีนี้ อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งกฎหมายและนโยบายสาธารณะต้องปรับตัวกันขนานใหญ่เช่นกัน
ปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่ใช่จำกัดเฉพาะ "คนชายขอบ" ตามนิยามเดิมๆ แต่ยังหมายถึงผู้คนจำนวนมากทั่วโลกที่หลุดจากความคุ้มครองทางกฎหมาย เพราะการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี
ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินและการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะ FinTechซึ่งหมายถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินและการลงทุน ยิ่งทำให้คนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนของสถาบันการเงินอยู่แล้ว เข้าถึงยากขึ้นไปอีก และยังเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมจาก "คริปโตเคอร์เรนซี่" หรือสกุลเงินออนไลน์
ปัญหาการคอร์รัปชั่น เพราะการมีรัฐบาลที่โปร่งใสจะช่วยลดปัญหาทั้งเรื่องสินบนและการทุจริตรูปแบบต่างๆ โดยแนวทางที่มีการเสนอกันมานาน คือการทำ open data หรือ "ข้อมูลเปิดของภาครัฐ" เพื่อให้เกิดการตรวจสอบโดยสาธารณะ แต่แนวคิดนี้ยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในสังคมไทย
และสุดท้ายคือ การส่งเสริมโอกาสของผู้หญิงให้เข้ามามีส่วนร่วมในวิชาชีพด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยคำนึงถึงกลุ่มเปราะบางในสังคม
ได้อ่านคอร์สอบรมสุดพิเศษนี้แล้ว ผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะผู้นำรุ่นใหม่จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม สามารถส่งใบสมัครออนไลน์ได้ที่ www.tijforum.org ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน โดยการอบรมจะอยู่ในช่วงวันที่ 6-11 มกราคมปีหน้า หลักสูตรดีๆ แบบนี้มีเพียงปีละ 1 ครั้ง เชิญร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายขับเคลื่อนหลักนิติธรรมเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน...
เพราะความยุติธรรมไม่ใช่เรื่องของนักกฎหมายเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของ "เรา" ทุกคน