รู้ทัน “กัญชา” ต้อง “ปรึกษา” ก่อนใช้แก้โรค

รู้ทัน “กัญชา” ต้อง “ปรึกษา” ก่อนใช้แก้โรค

เมื่อกระแสการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคกำลังมาแรงในสังคมไทย แต่ปัญหาคือหลายคนยังไม่รู้ถึงวิธีการใช้อย่างเหมาะสมและมีความเข้าใจผิดว่ากัญชาเป็นยาครอบจักรวาล

“การสื่อสาร” จึงเป็นทางออกที่จะช่วยสร้างความเข้าใจของประชาชนที่ต้องการนำกัญชามารักษาโรค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  กรมสุขภาพจิต และภาคีเครือข่าย จึงจัดเสวนา “การให้คำปรึกษาที่คลินิกกัญชา” หวังร่วมกันหาแนวทางในการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจ ผ่านกลไกการให้คำแนะนำของผู้ให้บริการ ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ภาวิณี อ่อนมุข แพทย์แผนไทยชำนาญการ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน เผยว่ามีผู้ใช้บริการปรึกษาด้านกัญชาเฉลี่ยวันละ 200 คน เป็นวัยทำงานมาใช้บริการมากที่สุด ส่วนใหญ่มีอาการนอนไม่หลับกว่าครึ่ง

เธอบอกการใช้กัญชามีข้อจำกัดหลายอย่าง อาทิ มียาที่ไม่ควรใช้ร่วมกับกัญชาเลย คือกลุ่มยารักษาโรคหัวใจ หรือผู้ที่มีความดันโลหิตไม่สามารถควบคุมได้ หรือผู้ที่ภาวะค่าตับหรือค่าไตที่สูง นอกจากนี้ทางการแพทย์ยังรับรองแค่การบริโภค ไม่ได้ใช้หยด ไม่ใช้ทา หรือหยอดใด ๆ ทั้งสิ้น

“นอกเหนือจากการกิน เราไม่รับรอง ที่สำคัญ ก่อนใช้ให้สืบค้นว่าวัตถุดิบที่ใช้มาจากไหน เพราะเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง เป็นสิ่งที่เรากังวลที่สุด เมื่อผู้ป่วยหากัญชามาใช้เองคือเขาไปได้มาจากแหล่งมีคุณภาพหรือเปล่า เนื่องจากต้นกัญชาเป็นพืชที่ดูดซับทุกอย่าง ถ้าปลูกในพื้นที่มีสารเคมีค่อนข้างเยอะ เช่น โลหะตกค้างในดิน ดังนั้นถ้าอยาใช้กัญชาเพื่อเป็นยา แนะนำต้องมีแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขดูแลให้คำแนะนำ”

 

กัญชาช่วยลดความอ้วน?

อีกหนึ่งกระแสกัญชามาแรงในกลุ่มวัยรุ่น คือมีความเชื่อว่ากัญชาสามารถช่วยลดความอ้วนได้ ในเรื่องนี้ ภาวิณีชี้แจงว่า

“กัญชามีฤทธิให้เจริญอาหาร จึงไม่ช่วยลดความอ้วน ตรงกันข้าม ผู้ใช้มีโอกาสจะเพิ่มความอ้วน มี วัยรุ่นที่มาขอรับกัญชาเพราะอยากลองใช้และมักมีการกล่าวอ้างอาการเท็จ แต่ทางคลีนิคมีกระบวนการคัดกรองอยู่แล้ว ดังนั้นโอกาสที่จะเข้าถึงเป็นเรื่องยาก”

ภาวิณียอมรับว่าเรื่องกัญชา งานที่หนักกว่าการรักษา คือการสื่อสารให้ผู้รับบริการเข้าใจ ถึงการใช้ที่เหมาะสม

“เราต้องใช้เวลาให้คำปรึกษาเฉลี่ยถึงคนละ 10-15 นาทีเพื่ออธิบายเรื่องเหล่านี้ จริง ๆ แล้ว ผู้ป่วยหลายคนไม่จำเป็นต้องพึ่งพากัญชา เพราะมียาตัวอื่นก็สามารถใช้รักษาอาการได้ เช่นอาการนอนไม่หลับ เรามียาเทพจิตที่เป็นยาในบัญชียาแห่งชาติ แต่บางรายก็อยากใช้กัญชา เราก็พยายามให้คำแนะนำว่ากัญชาไม่ได้รักษาโรคให้หายขาด ต้องมีการรักษารูปแบบอื่นหรือใช้ยาอื่นร่วมด้วย”

ด้านสิริกุล จุลคีรี นักจิตวิทยาชำนาญการพิเศษ สำนักวิชาการสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เอ่ยว่า แม้จากการวิจัย บางโรคชัดเจนว่ากัญชาสามารถบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายโรคที่ยังไม่มีข้อสรุป ไม่มีผลวิจัยรองรับ ทำให้เกิดความเป็นห่วง หากผู้บริโภคจะหามาใช้เอง

“ดังนั้น การเดินมาที่โรงพยาบาล พบแพทย์ แล้วขอคำแนะนำ จึงน่าจะดีกว่า เพราะเราไม่แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ท่านหามาจะมีคุณภาพมากน้อยเพียงไหน มีกระบวนการผลิตอย่างไร เราได้ข้อเท็จจริงจากการวิจัยว่ามีบางรายได้ไปหาซื้อผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ใช้เองเยอะมาก บางคนญาติซื้อให้ หรือได้ข่าวโฆษณา แล้วต้องมาโรงพยาบาลด้วยความดันสูง หรือมีอาการหัวใจเต้นเร็ว

ปัจจุบันการใช้กัญชาทางการแพทย์ยังอยู่ภายใต้การวิจัย ดังนั้น การใช้ยังควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด ปีที่แล้ว สสส. มีการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยในเรื่องนี้  ซึ่งวัตถุประสงค์คืออยากให้คนที่ป่วยเข้าถึงยาจริง ได้รับยาแล้วดีขึ้น แต่ต้องไม่ติด ซึ่งหากบางคนถ้าใช้กัญชาไปยาวนานแล้วไม่หาย หรือหายแต่ต้องพึ่งกัญชาตลอด ก็ไม่ควรใช้”

รู้ทัน “กัญชา” ต้อง “ปรึกษา” ก่อนใช้แก้โรค

กัญชากับสุขภาพจิต

วิศิษย์ศักดิ์ ทวีวัฒนปรีชา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้าศูนย์ให้คำปรึกษาการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ โรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า ปกติมีผู้ที่มาขอบริการรักษาเฉลี่ย 500-600 คนต่อปี เป็นยอดผู้ป่วยจิตเวช ที่ต้องการใช้กัญชาประมาณ 100 กว่าราย แต่เมื่อกระแสกัญชากำลังบูมขึ้น ทำให้ยอดผู้ที่มาขอใช้บริการพุ่งขึ้น  ซึ่งบางคนที่มามีทั้งผู้ที่เคยใช้น้ำมันกัญชามาแล้ว และบางคนกำลังตัดสินใจใช้

“เราจึงเปิดให้บริการรับการปรึกษา 3 ช่องทาง 1. สามารถเดินเข้ามาขอคำปรึกษาได้เลยที่คลินิก 2. ทางโทรศัพท์  และ 3. ผ่านแอพพลิเคชันไลน์ สิ่งที่กังวลคือการหามาใช้เอง ซึ่งน้ำมันกัญชาเปอร์เซ็นต์เข้มข้นไม่เหมือนกัน ใช้แล้วอาการข้างเคียง ส่วนถ้าใช้แล้วถึงขนาดติด แล้วจะเริ่มมีอาการระบบประสาทหลอน เช่น หูแว่ว เป็นต้น”

 

“ชมเป็น ถามเป็น และแนะนำเป็น”

ในด้านการพัฒนาหลักสูตรการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรคแก่ผู้ให้บริการสาธารณสุข ดร.โสฬวรรณ อินทสิทธิ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า มีการพัฒนาหลักสูตรที่ผู้ให้บริการรู้จักและเคยใช้ในการให้บริการทางการแพทย์อยู่แล้วมาประยุกต์ใช้ในการให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา ซึ่งมี 2-3 รูปแบบหลัก ๆ เบื้องต้นคือหลักสูตรการให้คำแนะนำแบบสั้น ที่เรียกว่า BA (Brief Advice) ซึ่งมีทักษะหลักอยู่ 3 ทักษะ นั่นคือ ชมเป็น ถามเป็น และแนะนำเป็น

“เรามองว่าคนที่เดินเข้ามาที่คลินิกกัญชา ใจเขามีความต้องการใช้ แต่จะตรงโรคหรือไม่ผู้ให้บริการย่อมทราบอยู่แล้ว ผู้ให้บริการมีหน้าที่คอยตั้งคำถาม ฟังความต้องการของเขา สิ่งไหนเป็นสิ่งที่เขาทำดีอยู่แล้วอยากให้ทำเพิ่ม ก็ควรชมไป แต่สิ่งไหนที่ไม่ถูกต้องก็ต้องคุย ตั้งคำถามกลับไปเพื่อให้เขาเกิดความเอะใจว่า โรคที่เขาเป็นจำเป็นต้องใช้กัญชาแน่หรือไม่ แต่หากผู้รับบริการยืนยันที่จะใช้จริง ผู้ให้บริการก็ต้องแนะนำเพิ่มเติมต่อว่าโอกาสที่จะติดหากใช้ไปนาน ๆ หรือมีอันตรายหรือไม่ อย่างไรต่อร่างกายและภาวะจิตประสาท เราต้องให้คำแนะนำถูกต้อง เป็นประโยชน์”

ดร.โสฬวรรณ กล่าวด้วยว่าวิธีนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคลากรสาธารณสุขก็นำไปใช้ได้ อาทิ แกนนำในชุมชนสามารถพูดคุยให้คำแนะนำได้ดี เพราะเป็นคนที่ใกล้ชิดผู้ใช้ที่สุด