'หัวใจ'เต้นผิดจังหวะอันตรายถึงชีวิต

'หัวใจ'เต้นผิดจังหวะอันตรายถึงชีวิต

 

ใจสั่นผิดปกติ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม จุกแน่นขึ้นคอ  จู่ๆอ่อนเพลียไม่มีแรง  นอนราบไม่ได้ สัญญาณเตือนว่าคุณอาจเข้าข่ายอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะลามไปสู่โรคไหลตายที่เกิดจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจเต้นผิดจังหวะ

นพ. ยศวีร์ อรรฆยากร อายุรแพทย์โรคหัวใจและผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ อธิบายว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นความผิดปกติของการเกิดกระแสไฟฟ้าหัวใจหรือการนำไฟฟ้าหัวใจหรือสองอย่างร่วมกัน ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นช้าผิดปกติ เต้นเร็วผิดปกติ หรือเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ  

สาเหตุของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแบ่งเป็น2 สาเหตุหลัก คือ1.โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคความดันโลหิตสูง และโรคลิ้นหัวใจผิดปกติ2.เกิดจากโรคประจำตัว เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ หรือเกิดจากยาแก้หวัดบางชนิดที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีนมีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ ยาเสพติดบางชนิดที่มีแอมเฟตามีนผสม หรือเครื่องดื่มที่มีคาแฟอีนผสม เช่น  ชา กาแฟ  น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ และแอลกอฮอลล์

ในคนปกติหัวใจเต้นประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที ถ้าเต้นเร็วกว่า100 ครั้งต่อนาที ถือว่าหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ แต่ถ้าเต้นน้อยกว่า  60 ครั้งต่อนาทีถือว่าช้าผิดปกติหรือถ้าหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ เช่น เต้นๆหยุด ๆ หรือเต้นเร็วสลับเต้นช้า ถือเป็นหัวใจเต้นผิดจังหวะ คนไข้ส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต  ปัจจัยแวดล้อมรวมกระทั่งการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

" คนไข้บางรายไม่เคยมีอาการมาก่อน แต่ตรวจร่างกายประจำปีแล้วเจอโดยบังเอิญ หรือบางรายจะมีอาการใจสั่น ผิดปกติ วูบ หน้ามืด เป็นลมจุกแน่นขึ้นคอ เจ็บแน่นหน้าอก อ่อนเพลียไม่มีแรง เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต บางรายหัวใจวาย น้ำท่วมปอด  หรือว่าเสียชีวิตกระทันหัน ปัจจุบันคนไข้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมักจะเจอบ่อยที่สุดประมาณ 70% รวมทั้งกลุ่มที่มีโรคประจำตัวหรือรับประทานยาบางชนิด จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าโรคหัวเต้นผิดจังหวะในคนไทย1,000คนจะพบ 40 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 65ปีขึ้นไปแต่ไม่ได้หมายความว่าเด็ก วัยรุ่น คนทำงานจะเป็นไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ "

การวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะทำได้โดย 1.การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เรียกว่า ECG ( Electrocardiogram) เป็นหลักกรณีคนไข้มีอาการตลอดเวลา 2.เครื่องบันทึกสัญญาณไฟฟ้า24-48 ชั่วโมง(Holter monitoring 24-48 hr.) เป็นเครื่องบันทึกสัญญาณไฟฟ้าของคนไข้สำหรับผู้ป่วยที่หัวใจเต้นผิดจังหวะในช่วงสั้นๆ แต่เป็นบ่อยเกือบทุกวัน3.เครื่องบันทึกสัญญาณไฟฟ้าแบบพกพา(Event recorder) กรณีที่คนไข้หัวใจเต้นผิดจังหวะไม่บ่อยเดือนละ1-2ครั้งลักษณะคล้ายโทรศัพท์มือถือ เวลาที่ผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือมีอาการขึ้นมาสามารถหยิบเครื่องนี้มาทาบหน้าอกได้ทันทีเครื่องจะบันทึกหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นช่วงสั้นๆ และสามารถกดปุ่มส่งบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจมาที่โรงพยาบาลได้ 4.เครื่องบันทึกสัญญาณไฟฟ้าชนิดฝังเครื่องใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอก (Implantable loop recorder) มีลักษณะเล็กคล้ายยูเอสบี แฟลชไดร์ฟ ซึ่งฝังบริเวณหน้าอกด้านซ้าย เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่หัวใจเต้นผิดจังหวะไม่บ่อย 5.การตรวจเช็คสัญญาณไฟฟ้าที่ผิดปกติในหัวใจโดยใช้สายสวนหัวใจ (EP study) กรณีที่ไม่สามารถเจอภาวะเต้นหัวใจเต้นผิดปกติได้จากการตรวจอื่นๆที่กล่าวมา

สำหรับแนวทางการรักษา เริ่มจาก 1.การให้ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ 2 .การช็อคไฟฟ้าหัวใจเพื่อให้หัวใจเต้นกลับมาปกติ  3.การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยสายสวนหัวใจชนิดพิเศษสวนเข้าไปบริเวณเส้นเลือดดำที่ขาหนีบ จากข้อมูลพบว่า การจี้หัวใจผลเสียจะน้อยมากและสามารถรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดให้หายขาดได้90-95% แต่จะมีหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด เช่น หัวใจห้องบนสั่นพริ้ว(Atrial fibrillation) หายขาดได้น้อยกว่า70-80% 4.เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker)จะใส่ในกรณีที่ผู้ป่วยหัวใจเต้นช้ามากผิดปกติ จนอาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการวูบ หน้ามืดเป็นลมหมดสติ  น้ำท่วมปอดจนถึงขั้นหัวใจวายเครื่องกระตุ้นหัวใจ มี 2 ชนิด คือ ชนิดกระตุ้นห้องเดียว และ สองห้อง การฝังเครื่องชนิดใดขึ้นกับพยาธิสภาพที่ผู้ป่วยเป็นแบตเตอรี่มีอายุการใช้งาน 10 ปีขึ้นไปและสามารถเข้าเครื่องเอ็มอาร์ไอได้ด้วย 5.เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ หรือเครื่องช็อคไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AICD) กรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาว่าหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ จนทำให้ความดันต่ำหน้ามืดเป็นลม คลำชีพจรไม่ได้ หรือหัวใจห้องล่างสั่นพริ้ว ถ้าหัวใจไม่มีการกลับมาเต้นตามปกติในเวลาอันรวดเร็ว ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้แบตเตอรี่มีอายุการใช้งาน 7-8 ปีขึ้นไปแต่หากช็อตบ่อยแบตเตอรี่จะหมดเร็วขึ้นกว่าปกติ

“ข้อดีของแนวทางนี้คือกรณีคนไข้ไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาล อาทิ อยู่บ้านแล้วหัวใจเต้นผิดจังหวะสุ่มเสี่ยงที่อันตรายถึงชีวิตเครื่องจะกระตุกหัวใจขึ้นมาช่วยอัตโนมัติทำให้คนไข้ฟื้น อย่างไรก็ตามการรักษาแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าคนไข้เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบไหนไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว”

สำหรับคนไข้ที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ ควรมาพบแพทย์ตามนัด1-2 เดือน ติดตามผลการรักษาและอาการของคนไข้อย่างต่อเนื่อง คนไข้ที่ติดเครื่องกระตุ้นหัวใจจะมีการเช็คเครื่องและแผลทุกครั้ง  เพราะถือเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปอยู่ในร่างกายเพื่อดูว่าแบตเตอรี่เหลือเท่าไร สัญญาณไฟฟ้าเป็นอย่างไร  วิธีการป้องกันไม่ให้เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้แก่ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ 45 นาทีต่อวัน  3-5วันต่อสัปดาห์  เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ5 หมู่ อย่ารับประทานอาหารหวาน มันเค็มมากพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ 6-8ชั่วโมงต่อวัน  ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี  และคนไข้ที่มีโรคประจำตัวควรจะมาติดตามอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

อายุรแพทย์โรคหัวใจ  แนะนำให้สังเกตอาการ หากมีอาการแปลกๆ เช่น ใจสั่นผิดปกติ หรือมีอาการวูบหน้ามืดคล้ายจะเป็นลมหรือบางคนรู้สึกจุกแน่นขึ้นคอ ลิ้นปี่เหนื่อย เพลียไม่มีแรง นอนราบไม่ได้ ควรรีบมาพบอายุรแพทย์โรคหัวใจ อย่านิ่งนอนใจ จะได้คัดกรองกลุ่มอาการของโรคได้อย่างถูกต้องและทำการรักษาอย่างเหมาะสมเพราะหัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญซึ่งทำงานหนักต่อเนื่องตลอดเวลา เราจึงควรที่จะเรียนรู้ดูแลรักษาหัวใจตนเองให้แข็งแรง อย่าละเลยที่จะดูแลหัวใจของคุณให้เต้นถูกจังหวะ