ยามาฮ่า E01 พลังบิด EV ขี่สนุก คุมง่าย ไร้รอยต่อเทคโนโลยี
ทั้งโลกกำลังมุ่งไปที่พลังงานไฟฟ้า (EV)ไม่ใช่แค่รถยนต์เท่านั้น แต่กลุ่มสองล้อด้วยเช่นกัน ซึ่งจริงๆ แล้วที่ผ่านมา มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า มีจำหน่ายหลายยี่ห้อจนไล่ไม่หมด แต่ในกลุ่มที่เป็นแบรนด์ใหญ่ๆ ยังขยับตัวไม่มาก ที่มีก็ยังจำกัดวง ไม่ได้เปิดตลาดวงกว้างแต่อย่างใด
เดือนเมษายนที่ผ่านมา ยามาฮ่า เรียกเสียงฮือฮาจากเวทีโลก ด้วยการแถลงข่าวเผยโฉม มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (EV) ที่ชื่อ "E01" (Yamaha E01) ที่เมืองอิวาตะ ประเทศญี่ปุ่นพร้อมกันทั่วโลกผ่านออนไลน์ เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการส่งเจ้า สกูตเตอร์ พลังสะอาดคันนี้ลงตลาดจักรยานยนต์ทั่วโลกในอนาคต
จริงๆ แล้ว ยามาฮ่า นั้นสนใจและพัฒนา อีวี มาตั้งแต่ปี 2534 และสำหรับ E01 เผยโฉมเป็นครั้งแรกในปี 2562 ในฐานะรถต้นแบบ
ถ้าถามว่าทำไม เริ่มสนใจและพัฒนาตั้งแต่ปี 2534 แต่ที่ผ่านมา ไม่มีรถออกสู่ตลาดอย่างจริงจัง ในความคิดของผมก็คือ
1. ยังไม่มีความจำเป็น เพราะก่อนหน้านี้ตลาดยังไม่ได้มุ่งไปที่ อีวี แบบรุนแรง
2. ยามาฮ่า ก็คงไม่เอาแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมานานในเวทีโลก ไปเสี่ยงกับการเร่งเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ แต่ต้องรอให้ตกผลึกเสียก่อน
ซึ่งหากเทียบกับรถยนต์ก็จะเห็นว่าแบรนด์ที่ทำตลาดมายาวนาน ไม่เร่งเปิดตัว อีวี ปล่อยให้ผู้เล่นหน้าใหม่ลุยกันไปก่อน แม้จะขายได้เป็นกอบเป็นกำ จนทำให้ดูเหมือนเสียตลาดไปก็ตาม
เพราะแบรนด์เหล่านั้นพลาดไม่ได้ เนื่องจากมีตัวเปรียบเทียบก็คือ รถเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ทำตลาดหลายสิบปี หรือ ทะลุ 100 ปี ไปแล้ว
แต่ผู้เล่นรายใหม่นั้น พร้อมที่จะโดดลงในเวทีใหม่ได้เลย
ย้อนกลับมาที่ ยามาฮ่า E01 การเผยโฉมล่าสุดนี้ เป็นรถที่เรียกว่า POC (Proof of concept) พูดง่ายๆ คือ เหนือกว่า concept เหนือกว่า prototype เป็นรถที่เตรียมพร้อมในขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะทำตลาดจริง
ยามาฮ่า ผลิต E01 ออกมาทั้งสิ้น 500 คัน และส่งไปยังตลาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป ไต้หวัน หรือเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ไทย เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทดลองขับขี่ จากนั้นก็เก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ กลับมาผ่านทั้งตัวรถที่ติดตั้ง แอร์ซิม เอาไว้ และโดยทีมงานของแต่ละประเทศ
และสำหรับไทย เป็นการนำเข้าล็อตใหญ่ที่สุด 40 คัน ซึ่งเป็นการบ่งบอกได้ 2 อย่าง ว่าทางยามาฮ่า ญี่ปุ่น ก็ให้ความสำคัญกับตลาดนี้ ขณะที่ไทยยามาฮ่าเองก็จริงจังกับพลังงานไฟฟ้า เพราะต้องไม่ลืมว่าต้นทุนในการนำเข้าครั้งนี้ มูลค่าคันละ 1.5 ล้านบาท ย้ำว่าไม่ใช่ราคาขายนะครับ แต่เป็นต้นทุนการนำเข้ารถล็อตนี้เข้ามาเพื่อจัดกิจกรรมทดสอบการขับขี่กับทั้งสื่อมวลชน และลูกค้า
ผมจึงตื่นเต้นไม่น้อยเมื่อได้รับเชิญ เพราะจะเป็นกลุ่มแรกที่จะลองว่าที่สินค้าใหม่ของยามาฮ่า โดยไม่ลืมว่าสิ่งที่อยู่ใต้ก้นเรา และลัดเลาะไปตามถนน ตามภูเขา มีมูลค่า 1.5 ล้านบาท
พื้นฐานการพัฒนา E01 ยามาฮ่า เลือกเอาสกู๊ตเตอร์ตัวเก่ง อย่าง NMAX เป็นตัวตั้ง ดังนั้นแนวคิดการใช้งานจึงใกล้เคียงกัน แต่ว่าจริงๆ แล้วไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน
“E01” ออกมาด้วยแนวคิด “Plugged Yamaha to new era” รองรับการเดินทางในยุคใหม่ โดยด้านสมรรถนะนั้นยึดเอารถในกลุ่มเครื่องยนต์ 125 ซีซี เป็นตัวตั้ง
โดยมอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังสูงสุด 8.1 กิโลวัตต์ หรือประมาณ 10.86 แรงม้า เมื่อใช้โหมด พาวเวอร์ และ สแตนดาร์ด ส่วนถ้าเลือกโหมด อีโค เพื่อความประหยัด จะลดมาเหลือ 5.4 กิโลวัตต์ หรือ 7.2 แรงม้า
แรงบิดสูงสุด โหมดสปอร์ต 30.2 นิวตันเมตร สแตนดาร์ด 24.5 นิวตันเมตร และ อีโค 21.4 นิวตันเมตร
สำหรับการเลือกโหมดขับขี่ ก็ไม่ยากอะไร มีปุ่มให้กดที่ด้านขวาแบบวนไปเรื่อยๆ และยังมี โหมดถอยหลังให้ใช้ เพิ่มความสะดวกไม่ต้องเข็นรถเอง โดยจะให้โหมดนี้ต้องกดปุ่มควบคุม 2 ปุ่ม ทั้งมือซ้าย และมือขวาเพื่อความปลอดภัยป้องกันกดผิดพลาด
ส่วนความเร็วของระบบถอยหลัง 1 กม./ชม. เหมาะสมครับ ปลอดภัย
ส่วนการใช้งานอื่นๆ ทำได้ง่าย การเริ่มต้นใช้งาน ไม่ต้องเสียบกุญแจ ใช้การบิดปุ่มควบคุมไปที่ On แล้วก็บิดคันเร่ง ออกตัวได้เลย รวมถึงเมื่อต้องการเปิดช่องเก็บของใต้เบาะ ก็บิดปุ่มเดียวกันนี้ ไปตรง Seat แล้วกดปุ่มซีท แค่นั้น
ด้านการออกแบบรถดูล้ำสมัย แต่ไม่แตกต่าง ซึ่งบางคนอาจจะไม่ชอบ เพราะเห็นว่าถ้าเป็น อีวี ควรไปอีกทาง แต่ผมว่าแบบนี้ก็ดีแล้ว ส่วนการใช้งาน ท่านั่ง ตำแหน่งจับแฮนด์ วางเท้า สบายๆ ขี่ไกลๆ ไม่เหนื่อย ไม่เมื่่อย เบรกน้ำหนักดีเป็นธรรมชาติ แม่นยำ
E01 ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า และแบตเตอรี ลิเธียม ไอออน ขนาด 4.9 กิโลวัตต์ ขับขี่ระยะทางสูงสุด 130 กม. ไว้ด้านล่าง ทำให้มีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำ
ดังนั้นแม้ว่าตัวรถจะมีน้ำหนักมากกว่า NMAX ไม่น้อย แต่การลองใช้งานจริง น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ไม่มีปัญหาครับในการขับขี่ หรือ ว่าช่วงที่รถจอดนิ่งๆ คร่อมรถไว้เฉยๆ โดยเท้ายันพื้นไว้ 1 ด้าน เชื่อว่าต่อให้เป็นผู้หญิงต้วเล็กๆ มาใช้งาน ก็ใช้ได้สบายๆ
ในภาพรวมที่ต้องชมในการพัฒนา E01 ก็คือ เป็นรอยต่อระหว่างเทคโนโลยีที่ไร้รอยต่อ นั่นคือ ใครที่ขี่จักรยานยนต์ทั่วๆ ไปอยู่แล้ว เมื่อโดดมาขึ้นคันนี้ แทบไม่ต้องปรับตัวอะไร สามารถใช้งานได้ตามปกติ
เพราะการเซ็ตรถที่มีแรงบิดสูงๆ แบบไม่ต้องรอรอบของมอเตอร์ไฟฟ้า ไม่ทำให้แรงเกินไป ในจังหวะออกตัว หรือจังหวะเร่ง เพราะหากมาเร็วเกินไป อาจเป็นอันตรายสำหรับการขับขี่ทั่วไปได้
และนั่นเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้การลองขับบนเส้นทางเขาใหญ่ที่เต็มไปด้วยโค้งครั้งนี้ ทำได้แบบสบายๆ เมื่อจะเติมคันเร่งในบางจังหวะที่อยู่ในโค้ง ก็ไม่ต้องกลัวว่ามันจะทำให้รถเสียการทรงตัว
แต่การไต่ความเร็ว ก็ยังคงเป็นจุดเด่น สามารถไล่ไปจนถึงท็อปสปีดได้รวดเร็วและลื่นไหล ซึ่งตามสเปค อยู่ที่ 100 กม./ชม. เมื่อขับขี่ด้วยโหมดพาวเวอร์ และสแตนดาร์ด ส่วนโหมดอีโค ที่เน้นประหยัด อยู่ที่ 60 กม./ชม.
ส่วนการลองขี่ของผมบนทางราบทำได้ 104 กม./ชม.
ขณะที่การควบคุมรถ แม้ว่าจะมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ NMAX แต่อย่างที่บอกว่าการมีศูนย์ถ่วงต่ำ และยังมีตัวช่วยอย่างแทรคชั่น คอนโทรล ทำให้สามารถพารถลัดเลาะไปตามโค้งต่างๆ ได้อย่างเพลิดเพลินสบายใจ และยังทำให้สรรพสัตว์ทั้่งหลายในเขาใหญ่สบายใจด้วย เพราะไม่มีเสียงรบกวน แม้แต่เสียงยางก็เบามาก จากการเลือกใช้ยางแบบแรงเสียดทานต่ำ
โดยรวมต้องบอกว่านี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผู้ผลิตไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือจักรยานยนต์ที่มีชื่อเสียงในตลาด การจะหันมาทำ EV ที่น่าจะง่ายกว่าเครื่องยนต์ แต่หลายๆ บริษัทไม่รีบร้อน เพราะอาจจะได้แค่รถพลังงงานไฟฟ้า แต่ไม่ได้ความเป็น ปอร์เช่ บีเอ็มดับเบิลยู เมอร์เซเดส-เบนซ์ หรือว่าความเป็นยามาฮ่า
ซึ่งหากสรุปในภาพรวมผมว่า ยามาฮ่าทำออกมาได้ดี ขี่ง่าย ควบคุมง่าย ขับสนุก ทีนี้ก็เหลืออยู่ว่าเมื่อจำหน่ายจริง ราคาจะอยู่ที่เท่าไร และจะขยับเรื่องของสเปคหลังจากได้ข้อมูลจากสื่อจากลูกค้าไปหรือไม่ เช่น ระยะทางการใช้งาน หรือ ความเร็วสูงสุดครับ