“อีเอ” เร่งเครื่องผลิตรถอีวีเชิงพาณิชย์ จ่อเปิดเฟส 2 กำลังผลิต 5 หมื่นคัน/ปี
“EA” ระบุ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามาแรง เร่งเครื่องผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เต็มที่ กำลังผลิต 9 พันคันต่อปี จ่อเปิดเฟส 2 กำลังผลิต 5 หมื่นคันต่อปี
ดร.ศรัญญู สอนกำเนิด รักษาการ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด บริษัทจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กับ บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX กล่าวว่า บริษัทได้เร่งกำพลังการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรับความต้องการของลูกค้า ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และความแข็งแกร่งของพันธมิตร ส่งผลให้การผลิตรถไฟฟ้าจึงมีความรวดเร็วผ่าน 4 ขั้นตอน คือ
1. การเชื่อม ซึ่งจะมีเครื่องมือที่ทันสมัย ทำให้รถที่ผลิตเป็นมาตรฐาน มีคุณภาพสูง มีมาตฐานเดียวกัน
2. เคลือบและทำสี ถือเป็นขั้นตอนที่ต้องลงทุนสูงด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้สีมีความคงทน ซึ่งการชุบรถในบ่อจะเป็นการชุบทั้งคันด้วยน้ำยาและสีที่มีคุณภาพ เพื่อไม่ให้เกิดสนิมตามการประกันรถ 8 ปี
“สีที่ชุบจะชุบด้วยระบบไฟฟ้า ไม่ให้น้ำฝนเข้าไปในตัวเนื้อเหล็ก เหมือนการทาสีลองพื้น เมื่อจุ่มตัวโครงรถลงไปในบ่อจะปล่อยกระแสไฟฟ้า อุณหภูมิของสีที่อยู่ในบ่อจะสามารถเคลื่อบสีได้ 100% ป้องกันน้ำฝนและแสงแดดได้ดี ต่อจากนั่นก็พ่นสีโดยใช้หุ่นยนต์ เพื่อให้รถทั้งคันเป็นสีในเฉดเดียวกัน ต่างจากการใช้คนพ่นสีที่อาจเกิดการเหนื่อยล้าระหว่างการพ่น ทำให้สีระดับเดียวกัน”
3. การประกอบ อาทิ ระบบไฟ แบตเตอรี่ ซึ่งแบตเตอรี่จะอยู่บนหลังคารถ เพื่อป้องกันการลุยน้ำ จากการทดสอบความสูงของน้ำอยู่ที่ระดับ 50 ซม. พร้อมติดระบบแอร์ ระบบหล่อเย็น ร้อน และมอเตอร์ ล้อ กระจก เป็นต้น จนเป็นรถที่พร้อมสามารถใช้บริการรถได้ โดยชิ้นส่วนต้องได้มาตรฐานจากสถาบันยานยนต์
4. ทดสอบ เพราะเมื่อได้รถที่สมบูรณ์แล้วก็ต้องทดสอบระบบต่าง ๆ อาทิ เบรก โดยขับขึ้นลงทางลาดชัน ทดสอบการขับขี่เสมือเวลาฝนตก เพื่อให้มั่นใจในทุกสถานการณ์
“ตอนนี้ตามกฎหมายโรงงานผลิตรถไฟฟ้าของกลุ่มอีเอ ต้องใช้อุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 40% ซึ่งขณะนี้ เราใช้ส่วนประกอบราว 50% เนื่องจากที่ผ่านมาเรายังขาดซัพพลายเชนต่าง ๆ จึงต้องนำเข้า แต่มั่นใจว่าต่อจากนี้จะปรับสับส่วนในประเทศมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความมั่นใจเกี่ยวกับการใช้งานแบตเตอรี่นั้น รถทุกคันจะมีกล่องดำ เพื่อบอกผู้ประกอบการและเตือนการชาร์จไฟฟ้า ซึ่งรถที่ผลิตเป็นรถที่ให้บริการเชิงพาณิชย์จะมีการกำหนดเส้นทางตายตัวอยู่แล้ว จึงสามารถควบคุมระยะทางจากจุดAไปจุดB ได้อย่างชัดเจน
“โรงงานนี้ลงทุนเบื้องต้นเฉพาะที่ดิน 2,000 ล้านบาท จากการเริ่มต้นเปิดตัวปี 2563 และเริ่มผลิตรถสู่ตลาดปีนี้มียอดส่งออกรวมแล้ว ราว 1,500 คัน แบ่งเป็นรถโดยสารสาธารณะ ความยาว 11 เมตร 1,250 คัน รถหัวลาก 210 คัน มินิบัส 600 คัน เป็นต้น และมียอดสั่งที่คอนเฟิร์มออร์เดอร์ที่จะเริ่มผลิตต้นปี 2566 อีกกว่า 4,500 คัน”
สำหรับสายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตสูงสุด 9,000 คันต่อปี บนเนื้อที่ 80 ไร่ งบลงทุนเบื้องต้น 2,000 ล้านบาท ที่ไม่รวมเครื่องจักรอีกราว 700 ล้านบาท โดยบริษัทประเมินว่ากำลังการผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน จึงเตรียมขยายโรงงานแห่งที่ 2 ให้รองรับการผลิตได้ประมาณ 50,000 คันต่อปี พร้อมเตรียมแผนสนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศมากขึ้นเพื่อลดการนำเข้า โดยตั้งเป้าว่าจะนำเข้า 20% และใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 80% ขานรับนโยบายจากภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญ
ทั้งนี้ เนื่องจากยอดการสั่งมีเพิ่มขึ้น ดังนั้น เฟส 2 จะไปเพิ่มเนื้อที่และกำลังการผลิตที่ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด บนเนื้อที่เป็นพันไร่ โดยขณะนี้เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่มีเทคโนโลยีแบบ Ultra Fast Charge รองรับการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ให้ใช้งานได้อย่างคุ้มค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับความต้องการใช้งานแบตเตอรี่ในประเทศไทยที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดผลสำเร็จ นำไปสู่การเป็นศูนย์กลางฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค