ลองขับ 'MG4' EV อารมณ์สปอร์ตจัดเต็ม สเน่ห์ขับหลัง สาดโค้งได้ แก้อาการไม่ยาก
มันดีกว่าที่คิดครับ เอ็มจี 4 (MG4) เมื่อได้ลองขับ มีหลายอย่างที่น่าสนใจกับรถคันนี้ ทั้งสมรรถนะ การควบคุมรถ หรือ ฟีลลิ่งที่ได้จากรถ
แต่ก่อนอื่นต้องบอกว่า เอ็มจี 4 (MG4) เป็นรถได้รับความสนใจไม่น้อยทีเเดียวสำหรับน้องใหม่ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) ที่เอ็มจี ประเทศไทย เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ รวมถึงราคาค่าตัวในงาน มหกรรมยานยนต์ปีนี้
แต่ก่อนหน้านี้ เอ็มจี เปิดโอกาสให้ลูกค้าจองสิทธิ์ซื้อล่วงหน้า พร้อมแคมเปญแถมอุปกรณ์ V2L หรืออุปกรณ์สำหรับดึงพลังงานไฟฟ้าจากรถออกมาใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอก มูลค่า 10,000 บาท และได้รับการตอบรับที่ดี แว่ว ๆ ว่ามียอดจองหลายพันคันแล้ว
เอ็มจี 4 หรือว่า เอ็มจี มู่หลาน (MG Mulan) ในตลาดประเทศจีนที่เปิดตัวเป็นตลาดแรกเมื่อเร็วๆนี้ มีจุดเด่นหลักๆ คือ เป็น อีวี รุ่นแรกของ เอ็มจี ที่พัฒนาขึ้นบน NEBULA PURE ELECTRIC PLATFORM หรือแพลทฟอร์มที่พัฒนาสำหรับ อีวี โดยเฉพาะ
ที่ผ่านมา แม้ว่าเอ็มจี จะเปิดตัว อีวี มาแล้วหลายรุ่น รวมถึงในบ้านเราเอง ก็ทำตลาดแล้ว 2 รุ่น คือ แซดเอส อีวี และอีพี พลัส แต่ว่าทั้ง 2 รุ่นนั้นเป็นการใช้แพลทฟอร์มร่วมกับรถยนต์รุ่นอื่นๆ ที่มีการผลิตอยู่แล้ว
แต่การพัฒนาขึ้นบนแพลทฟอร์ม NEBULA ซึ่งรองรับอีวีโดยเฉพาะ ดังนั้นตำแหน่งการจัดวางต่างๆ ทั้งแบตเตอรี มอเตอร์ หรือชุดอินเวอร์เตอร์ต่างๆ รวมถึงการจัดการกับห้องโดยสาร พื้นที่เก็บสัมภาระ จึงเหมาะกับ อีวี โดยเฉพาะ
สิ่งที่ได้มาเบื้องต้นกับแพลทฟอร์มนี้ คือ เป็นรถที่มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำจากตำแหน่งการติดตั้งแบตเตอรี ตำแหน่งเบาะนั่ง นอกจากนี้การกระจายน้ำหนักรถ หน้า/หลัง ยังทำได้ดี เพราะกระจายแบบ 50/50 เท่ากันเป๊ะ
ตามหลักการก็คือ มันจะช่วยให้รถมีความคล่องตัวในการควบคุม และการโยนตัว ให้ตัวของตัวถังลดลง
ขณะที่ช่วงล่าง เอ็มจี4 ด้านหน้าเป็นแบบอิสระ แมคเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังอิสระแบบ 5-Link
จุดขายอีกอย่าง คือ การเป็นรถขับเคลื่อนล้อหลัง ที่หลายคนอยากได้อารมณ์ของรถประเภทนี้ โดยมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนวางอยู่ที่เพลาหลัง
- ให้กำลังสูงสุด 170 แรงม้า
- แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร
ส่วนแบตเตอรี เป็นแบบ RUBIK’s CUBE BATTERYขนาดความจุ 51 kWh ไม่ได้เป็นแบตเตอรีแบบโมดูล แต่เป็นแบตเตอรีจัดเรียงเซลล์แบบแนวนอน ระบายความร้อนด้วยระบบ Liquid Cooling system
แบตเตอรีรองรับการขับขี่ได้ระยะทางสูงสุด 425 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง (มาตรฐาน NEDC) และมีระบบชาร์จพลังงานกลับเข้าสู่ แบตเตอรี่ในขณะชะลอรถ ด้วยระบบ KERS (Kinetic Energy Recovery System) ซึ่งเลือกการชาร์จกลับได้ 4 ระดับ ได้แก่ ระดับ ต่ำ กลาง สูง และ แบบแปรผันตามการขับขี่ (ADAPTIVE)
แต่ว่าการทำงานส่วนนี้เป็นอย่างไร คงต้องรอการขับขี่ระยะทางไกลๆ หรือ ไม่ต้องไกล แต่ใช้งานกันนานๆ แต่วันนี้เรามาลองกันเรื่องของสมรรถนะหลักๆ ของรถว่าเป็นอย่างไร
แม้จะเป็นการลองในพื้นที่ปิด ในสนามปทุมธานี สปีดเวย์ และมีเวลาประมาณ 20 นาที ซึ่งเวลาระดับนี้ ผมยังไม่ยุ่งเรื่องอื่นๆ ขอลองขับให้เต็มที่ก่อนดีกว่า
แม้จะเป็นการขับในสนามแข่งรถเล็กๆ แต่ต้องยกเครดิตให้กับหัวหน้าทีม instructor ที่เป็นนักแข่งรถมืออาชีพ อย่าง “เอส” นราศักดิ์ อิทธิริทพงษ์ ที่วางเลย์เอาท์ให้ขับได้สนุก และรู้อาการของรถได้ดี และเป็นการขับแบบต่อเนื่อง มีจุดหยุดบ้างเล็กน้อย 2 จุด เพื่อความปลอดภัย เพราะจะมีรถอยู่ในสนามพร้อมกัน 3 คัน
อีกอย่างที่ชอบสำหรับรูปแบบการทดลองขับก็คือ เป็นการขับที่เราไปคนเดียว ไม่มีทีม instructor นั่งไปด้วย เพราะบางทีถ้ามีใครนั่งไปด้วย เราก็จะเกรงๆ ใจกันพอประมาณ
การออกแบบเลย์เอาท์การขับมีทั้งทางตรง ทางโค้งแคบๆ แบบหักศอก โค้งยาวๆ และโค้ง S (ทำได้ในสนามนี้) ที่โยกซ้ายแล้วโยกขวาทันที โดยที่ล้อขวาจะเหยียบตรงมุมขอบสนามเล็กน้อย ถ้าอยากได้ไลน์การขับที่ถูกต้อง แต่ตรงนั้นมีโคลนเละๆ อยู่บนพื้นเล็กน้อย เพราะวันนั้นฝนตกครับ
ผมนึกว่ากำลังขับแรลลีเสียอยู่อีก
นอกจากนั้นก็มีพื้นที่แบบ เลนเชนจ์ แบบ 3 จังหวะต่อเนื่อง คือ ซ้ายแล้วขวา แล้วซ้ายอีกที และจริงๆ ต้องแถมอีกครึ่งจังหวะคือ ดึงรถไปทางขวาเล็กน้อยให้ตั้งตรง
และสเตชั่นนี้ต้องยอมรับว่าทีมงานเพิ่มความท้าทาย คือ เป็นเลนเชนจ์ที่ระยะทางระหว่างโค้งค่อนข้างสั้น ดังนั้นจึงต้องหมุนพวงมาลัยอย่างเร็วสลับไปมา แต่ทำอย่างไรให้เร็วและสมูท ไม่กระชากกระชั้น นั่นเป็นเรื่องที่ท้าทาย
ทีนี้มากันทีละเรื่องครับ กับการลองขับครั้งนี้
การออกตัว รวดเร็ว แต่ไม่ถึงกับจี๊ดจ๊าดแบบที่หลายคนมีจินตนาการถึงพลังของมอเตอร์ไฟฟ้า แต่อันนี้ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นการเซ็ทเอาไว้เพื่อความปลอดภัย เพราะขืนให้มอเตอร์ปลดปล่อยพลังงานเต็มที่ตั้งแต่จังหวะกดคันเร่งแรงๆ เต็มที่ หากเจอพื้นลื่นๆ หรือจังหวะรถยังจัดระเบียบตัวเองไม่ดี มีความเสี่ยงได้เช่นกัน
แต่ก็เป็นแค่จังหวะไม่นานนัก เพราะพอรถเคลื่อนตัวแล้ว การเรียกแรงบิดมาใช้งานก็ทำได้รวดเร็วทันอกทันใจ และอารมณ์นี้เอาไปใช้ได้ในช่วงการออกจากโค้งด้วยครับ
เมื่อพูดถึงความแรงแล้ว ก็มาดูที่การเบรกกันบ้าง การลดความเร็วด้วยการเบรกหนักๆ รถนิ่งดีครับ แถมสนามนี้ยังให้ลองเบรกในโค้งที่ต่อเนื่องมาจากทางตรง
คือเมื่อเติมความเร็วมาทางตรง เบรกชะลอความเร็วเพื่อเข้าโค้งขวากว้างๆ เมื่อรถผ่านกลางโค้ง ก็เติมคันเร่งออกจากโค้ง จนเกิดการโต้เถียงกันระหว่างยางกับผิวแทรค และเมื่อออกจากโค้งนี้ด้วยความเร็ว ก็โยกรถเข้าโค้งซ้ายทันที พร้อมกับเบรก เพราะห่างไปประมาณ 50 เมตร เป็นจุดที่ต้องหยุดรถ
การเข้าโค้งด้วยความเร็ว พร้อมกับเบรกเพื่อให้รถหยุดสนิท เป็นเรื่องที่ท้าทายธรรมชาติของรถครับ แต่ปรากฏว่า เอ็มจี4 ทำได้ดี
ถามว่ารถไม่มีอาการเลยหรือ
มีครับ แต่เป็นอาการที่อยู่ในการควบคุม คือเมื่อเบรกหนักๆ ในขณะที่ล้อหน้าเลี้ยวทางซ้ายตามทิศทางชองโค้ง ล้อหลังจึงประท้วงด้วยการไถลออกด้านนอกโค้ง แต่เราแค่แก้ทางด้วยการคืนพวงมาลัยกลับมาทางขวาเล็กน้อย จากนั้นทั้งการควบคุมและระบบต่างๆ ก็เข้ามาจัดการให้รถจัดระเบียบตัวเองได้ดี
การขับในโค้ง S ก็เช่นกัน โดยเฉพาะการออกจากโค้ง 2 ที่ล้อขวาเหยียบโคลนเล็กน้อย ท้ายรถก็จะปัดออกทางซ้ายเล็กน้อย แต่ก็เหมือนกัน ไม่ต้องทำอะไรมาก ขยับพวงมาลัยเล็กน้อยเท่านั้น ทุกอย่างก็กลับมาเป็นปกติ
ในสถานี เลนเชนจ์ ตรงนี้จะเป็นคำตอบที่ชัดเจนของการกระจายน้ำหนัก หน้า/หลัง เรื่องของศูนย์ถ่วงต่ำ และการเซ็ทช่วงล่าง
เพราะมันให้คำตอบถึงความแม่นยำของพวงมาลัย ความคมของหน้ารถ และชัดเจนก็คือ ความนิ่งของตัวถัง การโยนตัวของรถมีน้อย ซึ่งช่วยได้เยอะสำหรับการขับแบบที่ต้องเปลี่ยนช่องทางแบบรวดเร็ว กะทันหัน
ดังนั้นหากสรุปเรื่องของการขับขี่ เอ็มจี 4 ให้อารมณ์สปอร์ตที่ชัดเจน และแถมด้วยความสนุกในการควบคุมรถ พูดง่ายๆ ใครเป็นคนที่ชอบการขับรถน่าจะชอบ เอ็มจี 4
ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ค่อยๆ ดูกันไป เช่น ออปชั่นต่างๆ ว่าตรงกับความต้องการหรือไม่ หรือ โครงสร้างตัวถัง พื้นที่ใช้สอยหรือความสวยงามที่เป็นความชอบของแต่ละบุคคลครับ
ทีนี้มาดูถึงออปชั่นคร่าวๆ ของ เอ็มจี 4 ว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งในด้านความปลอดภัย เอ็มจีระบุว่า มีรวม 26 ระบบ ทั้ง Advanced Driver Assistance System (ADAS) ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตา และระบบช่วยควบคุมการขับขี่ เช่น
- ระบบช่วยเบรกขณะถอย (RCTB)
- ระบบช่วยเบรก ฉุกเฉินอัตโนมัติ AEB (Autonomous Emergency Braking)
- ระบบตรวจจับพฤติกรรมการขับขี่ DMS (Driver Monitor System)
ระบบปฏิบัติการ i–SMART เช่น
ระบบตรวจเช็ก อัจฉริยะ (Smart Check) ทั้งสถานะแบตเตอรี่และการชาร์จ การค้นหาสถานีชาร์จ โดยล่าสุดได้เปิดตัวฟีเจอร์ BATTERY DOCTOR บนแอพพลิเคชั่น MG THAILAND บันทึกและวิเคราะห์ พฤติกรรมการใช้งาน พร้อมให้คำแนะนำในการดูแล
ระบบสั่งการ (Smart Command)
ระบบเชื่อมต่ออัจฉริยะ (Smart Connect)
เอ็มจี 4 จะเปิดตัว 2 รุ่นย่อย ได้แก่ รุ่น D และรุ่น X มีสีตัวถังให้เลือก 5 สี คือ สีฟ้า (Brighton Blue) สีด า (Black Knight) สีแดง (Scarlet Red) สีเทา (Andes Grey) และสีขาว (Arctic White) ตกแต่งภายในด้วยสีด า (Black) ในรุ่น D และสไตล์ทูโทนเทา-ดำ (Grey & Black) ในรุ่น X