สนพ. เผยเอกชนขานรับนโยบาย 30@30 ปักหมุดฐานผลิตอีวี-ชิ้นส่วนสำคัญ
สนพ. เผยเอกชนขานรับนโยบาย 30@30 พร้อมเดินหน้าเร่งเครื่องก้าวสู่เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญ
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน นำโดยคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงงานประกอบยานยนต์ไฟฟ้า บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แบบครบวงจรรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย และโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจรและ
มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดใน South East Asia ดำเนินตามนโยบายการผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล พร้อมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยให้เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญ
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เผยว่า สนพ. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเสนอนโยบายและแผนการบริหารงานด้านพลังงานของประเทศ และในฐานะเลขานุการร่วมของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ซึ่งหลังจากการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ครั้งที่ 29 รัฐบาลได้ประกาศจุดยืนผลักดันไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น และวันนี้ได้มีโอกาสเยี่ยมชมดูงานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถบัสไฟฟ้าฝีมือคนไทย และโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ตามนโยบาย 30@30 เพื่อพัฒนาส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับ บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด มีกำลังการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตสูงสุด 9,000 คันต่อปี ทั้งนี้บริษัทประเมินว่ากำลังการผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน จึงเตรียมขยายโรงงานแห่งที่ 2 ให้รองรับการผลิตได้ประมาณ 50,000 คันต่อปี พร้อมเตรียมแผนสนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศมากขึ้นเพื่อลดการนำเข้า โดยตั้งเป้าว่าจะนำเข้า 20% และใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 80% ขานรับนโยบายจากภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญ ในส่วนของบริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด นายชาญยุทธ ฉายาวัฒนะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ พาเยี่ยมชมโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่มีเทคโนโลยีแบบ Ultra Fast Charge รองรับการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ให้ใช้งานได้อย่างคุ้มค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับความต้องการใช้งานแบตเตอรี่ในประเทศไทยที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดผลสำเร็จ นำไปสู่การเป็นศูนย์กลางฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค
นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า การเข้าเยี่ยมชมของ 2 บริษัท ในครั้งนี้เพื่อรับฟังความเห็นผู้ประกอบการต่อนโยบายส่งเสริมการผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ตลอดจนสร้าง
ความเชื่อมั่นให้เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนตามแนวทางของบอร์ด EV ซึ่งในปัจจุบันพบว่าเทคโนโลยีนวัตกรรมของยานยนต์ไฟฟ้ามีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นสูง
ส่งผลให้ประชาชนเริ่มหันมาสนใจยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น หากบรรลุเป้าหมายนโยบาย 30@30 จะช่วยลดการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อก้าวไปสู่ Green Economy หรือเศรษฐกิจพลังงานสะอาดตามเป้าหมาย Zero Emission ของประเทศด้วย