ไทยเสี่ยงพลาดเป้า 30@30 แนะรัฐเร่งหนุนอุตสาหกรรม “อีวี”
บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี อาร์เธอร์ ดี. ลิตเติล (ADL) เปิดเผยรายงานวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทย ระบุตลาดการใช้รถอีวีส่วนบุคคลอาจไปไม่ถึงเป้าตามนโยบาย 30@30 คาดสัดส่วนการใช้รถอีวีนั่งส่วนบุคคลในปี 2030 จะอยู่ที่ 7% เท่านั้น
แนะไทยเร่งวางกลยุทธ์ขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีชาร์จ ดึงลงทุนซัพพลายเชนแบตเตอรี่และเทคโนโลยีรีไซเคิล
ฮิโรทากะ อุชิตะ ประธานบริหารและผู้อำนวยการ ประจำบริษัท อาร์เธอร์ ดี. ลิตเติล ประเทศไทย กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมอีวี มีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างมาก หากประเทศต้องการรักษาตำแหน่งการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของภูมิภาคเอเชียเอาไว้ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ดึงเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
อีกทั้ง ปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเทรนด์การลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งขับเคลื่อนโดยเป้าหมายในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ทำให้มีการผลิตอีวีของตลาดทั่วโลกที่มาแข่งขันกับประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น กลุ่มประเทศในอาเซียนอเมริกาเหนือ และตะวันออกกลาง
ทั้งนี้ บริษัทได้จัดทำรายงานวิเคราะห์อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยผ่านดัชนีชี้วัดความพร้อมด้านการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทั่วโลก (Global Electric Mobility Readiness Index -GEMRIX)
ซึ่ง ADL พัฒนาขึ้นจากการเปรียบเทียบความพร้อมใน 4 ปัจจัยของตลาดยานยนต์ไฟฟ้า
ประกอบด้วย 1.ตลาด 2.ผู้บริโภค 3.โครงสร้างพื้นฐาน 4.นโยบายรัฐ โดยรายงานดังกล่าวทำการวิเคราะห์ 15 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมของตลาดการใช้รถอีวีอยู่ในลำดับที่ 9
อันเดรียส ชลอสเซอร์ พาร์ทเนอร์และประธานบริหารกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อัตราการใช้รถอีวีเพิ่มสูงขึ้นมากทั่วโลก ซึ่งจากรายงานพบว่า 8 ใน 15 ประเทศ ได้มีการประกาศจุดยืนการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างชัดเจน โดยยกเลิกการผลิตและจดทะเบียนใหม่รถเครื่องยนต์สันดาปภายในช้าสุดในปี 2040
ขณะที่ประเทศไทยเองได้ประกาศแผนที่มุ่งมั่นในการคว้าส่วนแบ่งตลาดอีวี และยังตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนจุดยืนในอุตสาหกรรมยานยนต์สู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอีวีของภูมิภาค พร้อมกับดำเนินแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลไทยจะออกมาตรการกระตุ้นและการออกกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการเติบโตของตลาด แต่อัตราการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยยังถือว่าต่ำอยู่ โดยความท้าทายที่สำคัญของอุตสากรรมอีวีของประเทศไทย ประกอบด้วย
1.ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาประดับโลก ทำให้ไม่สามารถเกิดการเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็ว ทั้งยังอาจเกิดผลกระทบต่อการจ้างงานของซัพพลายเชนการผลิตเป็นวงกว้าง
2.การขาดแคลนแหล่งวัตถุดิบการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมภายในประเทศ ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันรองจาก อินโดนีเซียที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรหลักอย่างนิกเกล ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในแบตเตอรี่ลิเธียม
3.ขาดการผลักดันเชิงกลยุทธ์ในการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีชาร์จ
4.ความตระหนักรู้ของผู้บริโภคภายในประเทศในการตัดสินใจซื้อรถอีวี
5.ศักยภาพของตลาดส่งออกยานยนต์ เนื่องจากตลาดส่งออกเดิมมีการผลิตรถอีวีเองภายในประเทศ
อัคเชย์ ปราสาด ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายอุตสาหกรรมยานยนต์และการผลิต ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า วิวัฒนาการของอุตสาหกรรมอีวีไทยจะขึ้นอยู่กับผู้เล่นในอีโคซิสเต็ม เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มผู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อรถอีวีในประเทศยังมีจำกัดด้วยเงื่อนไขในฝั่งของอุปทานที่ยังไม่มีความหลากหลาย ทั้งนี้ ผู้เล่นในอุตสาหกรรมต้องร่วมมือกันทั้งห่วงโซ่คุณค่ารวมทั้งสร้างโอกาสให้มีการตั้งสตาร์ตอัปในประเทศเพื่อออกแบบแบรนด์อีวีของตนเอง ซึ่งอาจเป็นการพลิกเกมในวงการยานยนต์ไทยในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน ยังต้องพึ่งพาแบรนด์และผู้เล่นจากต่างประเทศอยู่
ทั้งนี้ จากรายงานผลการวิเคราะห์ตลาดรถอีวีในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดประเภทให้เป็นตลาดอีวีเกิดใหม่ (Emerging EV Market) เช่นเดียวกับสหรัฐ ญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยได้คะแนนระหว่าง 40-60 คะแนน และบริษัทมองเห็นศักยภาพของตลาดอีวีในประเทศไทยจากการประกาศนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนการใช้อีวีในประเทศทั้งการอุดหนุนด้านอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งทำให้สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะจีน
อย่างไรก็ตาม บริษัทประเมินสถานการณ์ตลาดในปัจจุบันคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยจะพลาดเป้าการขายรถอีวีที่ตั้งไว้ 1.123 ล้านคันภายในปี 2030 ตามนโยบาย 30@30 โดยจะมียอดขายอีวีสำหรับรถยนต์และรถกระบะจะอยู่ที่ 61,000 คัน หรือเพียง 7% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ขณะที่รถไฟฟ้า 2 ล้อ อยูที่ 763,000 คัน และรถบัสและรถบรรทุกอยู่ที่ 7,000 คัน นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่าประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับรถ 2 ล้อ แต่จะไม่บรรลุเป้าหมายสำหรับรถยนต์ รถกระบะ รถบัสและรถบรรทุก
ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลไทยจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อก้าวสู่การเป็นฮับการผลิตรถอีวี ประกอบด้วย การเร่งวางกลยุทธ์การขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีชาร์จ โดยการเก็บข้อมูลการใช้งานของสถานีชาร์จและเปิดโอกาสให้เกิดสตาร์ตอัปที่จะเข้ามาสนับสนุนการเติบโตของฝั่งอุปทาน รวมไปถึงมาตรการด้านการเงินที่สนับสนุนการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับอีวี
อีกทั้ง การเร่งดึงดูดการลงทุนในซัพพลายเชนการผลิตแบตเตอรี่ทางเลือกจากวัตถุดิบแร่อื่นๆ เช่นสังกะสีที่พบมากในไทย รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ซึ่งจะสร้างความแข็งแกร่งของซัพพลายเชนแบตเตอรี่ได้ในระยะยาว