ค่ายรถลุยเป้าผลิตปีนี้ 1.9 ล้านคัน หวั่นภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจโลกถดถอย
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2566 ยังมีทิศทางขยายตัว โดย ส.อ.ท. ประเมินว่าการผลิตรถยนต์ปีนี้จะมีจำนวน 1.95 ล้านคัน แต่มีหลายปัจจัยที่ต้องจับตาถึงผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจกระทบการส่งออก
สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คาดการณ์ยอดการผลิตรถยนต์ในปี 2566 จะอยู่ที่ 1.95 ล้านคัน แบ่งเป็นยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 9 แสนคัน เพิ่มขึ้น 6.36% และส่งออก 1.05 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 1.22%
โดยประเมินตัวเลขการส่งออกรถยนต์ในปี 2566 ตามประมาณการส่งออกในภาพรวมซึ่งอยู่ที่ 1% อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่ารถกระบะที่เป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนของไทยจะยังส่งออกได้ดี และไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อีกทั้งการที่ประเทศจีนเปิดประเทศอีกครั้งอาจส่งผลให้การค้าโลกและการท่องเที่ยวเติบโตได้ดีในปีนี้ และเป็นผลดีต่อการส่งออกในหลายประเทศ
นอกจากนี้ สถานการณ์ขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) คลี่คลายลงมาก หลังจากที่คนกลับมาดำเนินชีวิตปกติ ลดการเรียนออนไลน์และทำงานจากที่บ้านซึ่งทำให้ความต้องการชิปสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชะลอตัวลง โดยคาดว่าสถานการณ์ขาดแคลนชิปจะคลี่คลายภายในปี 2569 เมื่อโรงงานใหม่ที่ลงทุนเริ่มเดินเครื่องผลิต
สำหรับปัจจัยบวกการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ คาดการณ์ว่ามาจากการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยราว 27 ล้านคน รวมถึงการเดินหน้าลงทุนในโครงการรัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างต่อเนื่อง และการเลือกตั้งที่คาดว่าจะทำให้เงินสะพัด นอกจากนี้การคาดการณ์ของหลายสำนักมองว่าเศรษฐกิจในประเทศไทยจะมีอัตราเติบโตอยู่ที่ 3%
อย่างไรก็ตาม ยังต้องประเมินความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่คาดการณ์ว่าจะชะลอตัวลงและอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะทำให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ รวมทั้งยังต้องจับตาปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ จับตาช่องแคบไต้หวันและพื้นที่อื่น รวมถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ และค่าเงินบาทที่คาดว่าจะแข็งค่าถึงระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์
ซึ่งการที่ไทยยังไม่มีการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป (EU) ทำให้เสียเปรียบประเทศคู่แข่งรายอื่นๆ โดยในปีที่ผ่านมา ยอดการส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดยุโรปลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะรัสเซียและยูเครน
สำหรับยอดผลิตรถยนต์ปี 2565 อยู่ที่ 1.88 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 11.73% จากปีก่อนหน้า ทะลุสถิติที่เคยตั้งเป้าไว้ แบ่งเป็นผลิตเพื่อส่งออกอยู่ที่ 1.03 ล้านคัน และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 846,198 คัน เนื่องจากทยอยได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นมา โดยส่วนใหญ่เป็นยอดผลิตรถกระบะซึ่งเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนของไทย อยู่ที่ 1.24 ล้านคัน รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามากว่าสิบล้านคน และมีการลงทุนการจ้างงานเพิ่มขึ้น
สำหรับยอดผลิตรถยนต์ทั้งหมดในเดือน ธ.ค.2565 มีทั้งสิ้น 158,606 คัน เพิ่มขึ้น 2.75% จากปีก่อน เพราะได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ของรถยนต์หลายรุ่นดีขึ้น
ด้านยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน ธ.ค. ส่งออกได้ 111,605 คัน สูงสุดในรอบ 42 เดือน เพิ่มขึ้น 10.17% จากปี 2564 โดยมีการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกากลางและอเมริกาใต้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาการขาดพื้นที่จอดรถยนต์ในเรือขนส่งรถยนต์
ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน ธ.ค.2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 82,799 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน 9.02% เพราะผลิตลดลงจากการขาดชิ้นส่วนของรถยนต์บางรุ่นและปัญหาน้ำท่วมบางพื้นที่
ทั้งนี้ ปี 2565 มียอดจดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) รถยนต์นั่งไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) อยู่ที่ 9,583 คัน เพิ่มขึ้น 393.5% จากปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วน 1.52% จากยอดการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ทั้งหมดในประเทศ โดย ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 มีสถิติจำนวนรถยนต์นั่งประเภท BEV จดทะเบียนสะสมจำนวน 13,551 คัน
รวมทั้งในเดือน ธ.ค.มียอดจดทะเบียนใหม่รถยนต์นั่งไฟฟ้าประเภท BEV อยู่ที่ 1,242 คัน เพิ่มขึ้น 820% จากปีก่อน รถยนต์ไฟฟ้าประเภท HEV อยู่ที่ 4,071 คัน เพิ่มขึ้น 83.79% ส่วนรถยนต์ประเภท PHEV อยู่ที่ 679 คัน เพิ่มขึ้น 22.78%
“คาดว่าในปี 2566 จะมียอดจดทะเบียน BEV อยู่ที่ 35,000 คัน เนื่องจากความเชื่อมั่นในการใช้รถอีวีที่เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่มีค่ายรถยนต์ระดับโลกตัดสินใจเข้ามาลงทุนสร้างฐานการผลิตและตั้งสำนักงานขายในประเทศ ซึ่งจะเริ่มมีการผลิตอีวีในไทยตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป รวมทั้งปัจจัยสำคัญอย่างราคาที่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท จากการที่รัฐประกาศใช้มาตรการอุดหนุนผู้ซื้อและการลดอัตราภาษี อีกทั้งมีรายงานวิเคราะห์ว่าราคารถอีวีใน 4 ปีข้างหน้า หรือปี 2569 จะเทียบเท่าหรือต่ำกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายใน”
อย่างไรก็ตาม มองว่าความต้องการซื้อรถอีวีที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกจะทำให้ราคาแร่ลิเธียมซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่จะราคาเพิ่มสูงขึ้นและกดดันราคาขายให้ปรับขึ้นตาม เนื่องจากในปัจจุบันราคาแร่ลิเธียมในตลาดโลกเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 7 เท่า