โตโยต้า ผู้นำเปลี่ยน กลยุทธ์เปลี่ยน จริงหรือ?
โตโยต้าประกาศการเปลี่ยนผู้บริหารสูงสุดจากคุณ Akio Toyoda (วัย 66) สู่คุณ Koji Sato (วัย 53) ผู้บริหารสูงสุดของ Lexus และ Chief Brand Officer ซึ่งจะมีผลในเดือนเมษายนนี้ เป็นข่าวดังระดับโลกในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
ความน่าสนใจคือการคาดการณ์ถึงกลยุทธ์ที่จะเปลี่ยนไปของโตโยต้า ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์อันดับ 1 ของโลก และเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดของญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านสู่รถอีวี มีบริษัทใหม่ๆ ถือกำเนิดและเติบโตอย่างมาก (เช่น Tesla หรือ BYD)
ขณะที่โตโยต้าเปรียบเสมือนยักษ์ผู้ค่อยๆ ขยับในวงการรถยนต์อีวี ที่จะเคลื่อนตัวช้าผู้อื่น ทั้งๆ ที่โตโยต้าเป็นผู้บุกเบิกรถยนต์ไฮบริดที่ผสมผสานทั้งน้ำมันและไฟฟ้าอย่างเช่น Prius มาก่อน
อย่างไรก็ดีเชื่อกันว่า การเข้ามาของคุณ Sato ในครั้งนี้ จะไม่ได้ทำให้กลยุทธ์ที่เกี่ยวกับรถอีวีของโตโยต้าพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพียงแต่จะช่วยเร่งและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของโตโยต้าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอีวีให้เร็วขึ้น
คุณ Toyoda เพียงแค่สละตำแหน่ง President และ CEO และเลื่อนไปนั่งเป็นประธานกรรมการบริษัท ส่วนคุณ Sato นั้นก็เป็นผู้บริหารที่เติบโตมาภายใต้วัฒนธรรมการบริหารแบบโตโยต้า
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นที่โตโยต้า ก็เชื่อกันว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบของคุณ Toyoda ในฐานะประธานบอร์ดก่อน
นอกจากนี้ในงานวันแถลงข่าวที่ผ่านมา คุณ Sato ยังให้สัมภาษณ์ว่า “การมุ่งสู่รถไฟฟ้านั้นไม่ใช่วิถีเดียวที่จะช่วยให้บรรลุเป้าเรื่อง Carbon Neutrality จะต้องมองทุกอย่างให้รอบด้านในลักษณะ 360 องศา” ซึ่งก็สะท้อนแนวคิดของคุณ Toyoda ต่อเรื่องนี้
เนื่องจากที่ผ่านมา โตโยต้ามีมุมมองว่าการแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกร้อน สำหรับบริษัทรถยนต์ จะต้องเป็นในลักษณะ Multi-Solution ที่มีทางเลือกที่หลากหลายทั้งรถอีวี รถไฮบริด และรถจากพลังงานไฮโดรเจน
สาเหตุของแนวทางที่หลากหลายนั้น เนื่องจากทางโตโยต้ามองว่ารถไฟฟ้าอย่างเดียวก็ไม่ได้ดีต่อสิ่งแวดล้อมแบบที่คิด เนื่องจากจะต้องวิ่งด้วยไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน (โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา) ในหลายประเทศสถานีสำหรับชาร์จไฟก็ยังไม่เพียงพอ และลิเธียม ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญสำหรับแบตเตอรี่รถไฟฟ้ามีต้นทุนที่สูง
ล่าสุด Gill Pratt ชาวอเมริกัน อดีตอาจารย์ MIT และปัจจุบันเป็น Chief Scientist ของโตโยต้าก็เพิ่งแถลงข่าวว่าคำนวณแล้วพบว่า ถ้าคิดรวมปริมาณคาร์บอนที่โรงไฟฟ้าปล่อยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามาป้อนรถอีวีด้วย (แม้จะเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้ถ่านหิน) จะทำให้ปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยตลอดอายุการใช้งานของรถอีวีและรถไฮบริดนั้นใกล้เคียงกัน
ใช่ว่าโตโยต้าจะไม่สนใจอีวีเลย เพียงแต่จะพัฒนาหลายๆ ทางเลือกและค่อยเป็นค่อยไปในการเข้าสู่ตลาดอีวี โดยคุณ Toyoda มีแผนการลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถอีวี และการตั้งบริษัททางด้านซอฟแวร์และเทคโนโลยี (ชื่อ Woven Planet ซึ่งลูกของ Akio Toyoda เป็นหนึ่งในทีมผู้บริหาร)
โดยโตโยต้าตั้งเป้าไว้ว่าจะขายรถอีวีให้ได้ 3.5 ล้านคันต่อปีภายในปี 2030 และต้องการให้รถ Lexus ทั้งหมดเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2035
อย่างไรก็ดีขณะที่โตโยต้ามีหลายทางเลือกและค่อยเป็นค่อยไป อุตสาหกรรมและคู่แข่ง ก็ไม่ได้หยุดรอโตโยต้า ประกอบกับทางการสนับสนุนของภาครัฐและความตื่นตัวของผู้บริโภค ก็ทำให้รถอีวีมีการเติบโตอย่างมากในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้บริหารของโตโยต้าเองก็ออกมายอมรับว่ารถอีวีนั้นขายดีกว่าที่คาดไว้
ความท้าทายสำหรับผู้นำคนใหม่ของโตโยต้าคือ ขณะที่โตโยต้ายังคงใช้นโยบาย Multi-Solution อยู่ แต่จะเร่งผลักดันการเติบโตในส่วนรถอีวีของโตโยต้าอย่างไร เพื่อให้ทันกับคู่แข่งและความต้องการของตลาด
เชื่อว่ากลยุทธ์ของโตโยต้าภายใต้ผู้นำคนใหม่จะไม่ได้เปลี่ยนแบบพลิกผัน แต่จะเป็นการเร่งในส่วนอีวีให้เร็วขึ้น
ทัศนะ มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]