รถพรีเมียมคึกคัก บีเอ็ม เสริมรถใหม่ เบนซ์ ไฟเขียวทุกดีลเลอร์ขาย EV
รถยนต์กลุ่มพรีเมียมมีความเคลื่อนไหวที่คึกคักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และในกลุ่มผู้นำตลาดอย่าง เมอร์เซเดส-เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู ขับเคี่ยวกันอย่างสนุก
ทั้งนี้ค่ายรถจากบาวาเรีย บีเอ็มดับเบิลยู ใช้เวลา 19 ปี ก่อนจะเบียดแซงผู้นำตลาดพรีเมียม มายาวนานอย่าง เมอร์เซเดส-เบนซ์ ไปได้ และยังสามารถครองตำแหน่งได้เหนียวแน่นเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันในปี 2565
แต่สำหรับปีนี้การแข่งขันเพิ่งเริ่มต้น และต่างฝ่ายก็มีแนวทางที่น่าสนใจ
อเล็กซานเดอร์ บารากา ประธานและซีอีโอ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย สิ่งที่ที่ทำให้บีเอ็มดับเบิลยูยังครองตำแหน่งได้มาจากหลายองค์ประกอบ หลักๆ คือ การนำเสนอสินค้าที่หลากหลายเป็นทางเลือกที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ากลุ่มต่างๆ การบริการและสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมที่ลูกค้าสามารถเลือกได้ตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลือกทางการเงินที่เห็นไ้ด้จากยอดสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น 4%
นอกจากนี้ยังเป็นผลจากแพ็คเกจการบริการหลังการขาย หรือแพ็คเกจกิจกรรมที่มีให้กับลูกค้า หรือ BMW Excellence Club ที่มี 6 แพ็คเกจให้เลือก
"แต่ละแพ็คเกจมาพร้อมกับสิทธิประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการรับรองจาก BMW Excellence Club Concierge ที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการจัดแผนการท่องเที่ยวหรือการนัดหมาย การจัดรถรับ-ส่ง จากสนามบิน และประสบการณ์ private club จากโรงแรมและรีสอร์ท Marriott ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก"
นอกจากนี้ การเน้นตลาดกลุ่มลักชัวรี่มากขึ้นก็ให้ผลลัพธ์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็น ซีรีส์ 7, ซีรีส์ 8, X7, และ M8 ที่ทำยอดขายได้ถึง 458 คัน เติบโต 25.8% จากปี 2564
และเพื่อเป็นการต่อยอดกลุ่มลักชัวรี่ บีเอ็มดับเบิลยูเริ่มต้นปี 2566 ด้วยการประกาศเปิดตัว 3 รุ่น คือ BMW XM ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ และ X7 xDrive40d M Sport, และ 750e xDrive M Sport ที่เป็นรุ่นปรับโฉม
ขณะที่ภาพรวม บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป เปิดตัวรวม 8 รุ่น โดยอีก 5 รุ่นที่เหลือ ประกอบด้วย บีเอ็มดับเบิลยู คือ X1 sDrive18i รุ่นใหม่, ซีรีส์ 3 Gran Sedan ปรับโฉม, มินิ เปิดตัว Resolute Edition 3 รุ่นย่อย และมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยู M 1000 R และ R 1250 GS ในตัวเลือกสีใหม่
ไฮไลต์สำคัญคือ XM ที่เป็นรถยนต์ตระกูล M สมรรถนะสูงรุ่นแรกที่ใช้ระบบขับเคลื่อนปลั๊ก-อิน ไฮบริด ติดตั้งเครื่องยนต์ เบนซิน 8 สูบ ขนาด 4.4 ลิตร BMW M TwinPower Turbo
- กําลังสูงสุด 653 แรงม้า
- แรงบิดสูงสุด 800 นิวตันเมตร
- ขับเคลื่อน 4 ล้อ
- อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.4.3 วินาที
- ความเร็วสูงสุด 270 กม./ชม.
BMW XM ติดต้ังแบตเตอรีลีเธียม ไอออน ความ จุ 29.5 กิโลวัตต์-ชั่วโมง เมื่อชาร์จเต็มสามารถใช้งานได้ระยะทางสูงสุด 98 กม.(NEDC) และทำความเร็วสูงสุด 140 กม./ชม.
อย่างไรก็ตามสำหรับแฟนๆ บีเอ็มดับเบิลยูที่จะซื้อรถจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการปรับราคาขึ้นตั้งแต่วันนี้ (1 มี.ค.) เฉลี่ย 1.5% จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ด้านเมอร์เซเดส-เบนซ์ ภายใต้การนำของผู้บริหารใหม่ มาร์ติน ชเวงค์ ประธานบริหารบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV)
เมอร์เซเดส-เบนซ์ เป็นผู้ผลิตรถพรีเมียมรายเดียวที่ประกอบ อีวี ในไทยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา คือ รุ่นเรือธงอย่าง EQS 500 4MATIC AMG Premium ราคา 7.9 ล้านบาท และให้สิทธิตัวแทนจำหน่าย 4 ราย ทำตลาด
อย่างไรก็ตามล่าสุด ชเวงค์ ที่เริ่มต้นการทำงานด้วยการเดินสายเยี่ยมตัวแทนจำหน่ายพร้อมรับฟังความคิดเห็นในตลาดต่างๆ ระบุว่าสิ่งหนึ่งที่สะท้อนมา ก็คือ ความต้องการทำตลาดอีวี เพราะมีความต้องการจากลูกค้า ดังนั้นในช่วงนี้จึงเตรียมเปิดให้ทุกแห่งทั่วประเทศที่ต้องการสามารถทำตลาด อีวี ได้
การเพิ่มตัวแทนจำหน่าย อีวี นอกจากเป็นผลจากความต้องการของตัวแทนจำหน่าย ของลุกค้า ทิศทางอีวี ยังเป็นไปตามแผนของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่จะรุกตลาดอีวีมากขึ้น โดยปีนี้จะเปิดตัวอย่างน้อย 2 รุ่น หนึ่งในนั้นคือ EQB รถ 7 ที่นั่ง
ปัจจุบันในต่างประเทศ EQB มีให้เลือก 3 รุ่นย่อย คือรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า ให้กำลังสูงสุด 190 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 385 นิวตันเมตร ระยะทางใช้งานสูงสุด 474 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง (WLTP)
และรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ อีก 2 รุ่น กำลัง 228 และ 292 แรงม้า แรงบิด 390 และ 520 นิวตันเมตร ระยะทางใช้านสูงสุด 419 กม. โดยทั้ง 3 รุ่น ติดตั้งแบตเตอรีขนาด 66.5 กิโลวัตต์-ชั่วโมง
นอกจากนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาการปรับรูปแบบการทำตลาดจากตัวแทนจำหน่ายเป็นเอเย่นต์ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศมาก่อนหน้านี้
โดยรูปแบบใหม่ มีแนวคิดหลักคือบริษัทที่จำหน่ายรถให้ลูกค้าโดยตรง ซึ่งจะทำให้ตัวแทนจำหน่ายลดภาระการสต็อกรถ และยังสามารถทำให้โครงสร้างราคาหรือว่าข้อเสนอต่างๆ เหมือนกันทั่วประเทศ