ส.อ.ท. เผยยอดจดทะเบียนป้ายแดงรถ EV เดือน ก.พ. ทำสถิติสูงสุด 5,402 คัน
ส.อ.ท.เผยยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งอีวีเดือนก.พ.อยู่ที่ 5,402 คัน สูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึก เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5,016% ชี้ตลาดไทยขานรับนโยบายจากภาครัฐ ทั้งราคาเข้าถึงได้และความเชื่อมั่น โดยสัดส่วนการซื้อรถอีวีเดือน ก.พ.คิดเป็น 7.85% ของยอดขายรถยนต์นั่งทั้งหมด
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดจดทะเบียนป้ายแดงของรถยนต์นั่งประเภท BEV ในเดือนก.พ. 2566 อยู่ที่ 5,402 คัน สูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกจำนวนจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าในเดือนเดียวกัน 5,016.16% และเมื่อรวมยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งทั้งหมดในเดือนนี้ รถยนต์นั่ง BEV มีสัดส่วนคิดเป็น 7.85%
โดยรถยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ มียอดจดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.พ. 2566 ได้แก่ รถยนต์นั่งไฟฟ้าผสมเครื่องยนต์ (HEV) จำนวน 7,842 คัน เพิ่มขึ้น 46.71% และมีสัดส่วน 11.37% ของยอดรวมรถยนต์นั่ง รถยนต์นั่งไฟฟ้าแบบปลั๊กอิน (PHEV) จำนวน 1,249 คัน เพิ่มขึ้น 30.51% และมีสัดส่วน 1.82% ของยอดรวมรถยนต์นั่ง โดยเมื่อรวมยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งไฟฟ้าทุกประเภท จะทำให้คิดเป็นสัดส่วน 21.04% ของยอดรวมรถยนต์นั่งทั้งหมด
“ทั้งนี้เพราะนโยบายส่งเสริมกระตุ้นการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล จึงทำให้ราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าลดลงอยู่ในระดับที่ประชาชนเข้าถึงได้และสร้างความเชื่อมั่นให้รถยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ เข้ามาตั้งฐานผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยมากขึ้น ผู้ซื้อก็มั่นใจและสามารถเลือกซื้อรุ่นรถตามความนิยมของตนได้”
ทั้งนี้การจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2023 ระหว่าง 22 มี.ค.- 2 เม.ย. 66 คาดว่าจะมียอดจำหน่ายสูงกว่าปีก่อน หรือมากกว่า 4 หมื่นคัน โดยส่วนหนึ่งจะมาจาดกยอดขายรถยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันรถยนต์นั่ง BEV มียอดจดทะเบียนสะสม ณ วันที่ 28 ก.พ. 2566 จำนวนทั้งสิ้น 21,875 คัน เพิ่มขึ้น 375.75% จากช่วงเวลาเดียวกันปี 2565
ขณะที่จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนก.พ. 2566 มีทั้งสิ้น 165,612 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 6.39% เนื่องจากได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิพ) เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถผลิตได้ตามออเดอร์ที่ยังค้างอยู่ โดยคาดว่าสถานการณ์ขาดแคลนชิพเริ่มคลี่คลายตามลำดับ หลังจากการเปิดประเทศทำให้ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากการทำงานที่บ้านลดน้อยลง จึงทำให้ชิพสามารถถูกจัดสรรให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ได้ตามปกติ โดยรวมยอดการผลิตรถยนต์ 2 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.พ. 2566) อยู่ที่ 327,939 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 6.68%
ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนก.พ. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 71,551 คัน ลดลง 3.94% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากการผลิตรถกระบะเพื่อขายในประเทศน้อยลงเพราะขาดชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ที่ผ่านส่งผลให้ผู้ผลิตหันไปผลิตรถกระบะเพื่อส่งออกแทน รวมถึงการจำหน่ายรถบรรทุกที่ลดลงที่ยังต้องติดตามว่าเกิดจากปัจจัยใด เบื้องต้นคาดว่าน่าจะมีการนำเข้าในราคาต่ำมาจำหน่าย รวมยอดขาย 2 เดือนแรกอยู่ที่ 137,130 คันลดลง 4.73%
สำหรับยอดการส่งออกรถยนต์ในเดือนก.พ. 2566 ส่งออกได้ 88,525 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.42% เพิ่มขึ้นเพราะได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้นจึงผลิตส่งออกรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้น 50.04% และรถกระบะเพิ่มขึ้น 7.44% ทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย ออสเตรเลียและโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง อเมริกากลางและอเมริกาใต้
อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาเรื่องพื้นที่ในเรือขนส่งรถยนต์ (Ro-Ro) ไม่เพียงพอและวนกลับมาจากท่าเรือประเทศออสเตรเลียมารับรถยนต์รอบใหม่ล่าช้าจากรถยนต์ที่ส่งจากประเทศไทยมีดอกหญ้าติดไปกับรถ ต้องล้างทำความสะอาดรถเป็นจำนวนมาก ทำให้รถยนต์บนเรือไม่สามารถขึ้นท่าเรือได้
"ทั้งนี้ยังต้องจับตาผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลต่อการส่งออกรถยนต์ของไทยในระยะต่อไป โดยเฉพาะในช่วงนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้น รวมทั้งวิกฤติธนาคารต่างประเทศซึ่งอาจยังเป็นเพียงภูเขาน้ำแข็ง ขณะที่สถาบันการเงินในไทยอาจมีความเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อ นอกจากนี้ยังคงต้องติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์อย่างใกล้ชิด หากวิกฤติไม่ลุกลามคาดว่าการผลิตรถยนต์ของไทยจะกลับไปสู่ระดับ 2 ล้านคันได้ในปี 2567"