นิสสัน โชว์ต้นแบบ ซีดาน กลิ่นอาย Skyline ฟังก์ชั่น ไลฟ์สไตล์ กิน นอน เล่น เพียบ
แม้ตลาดซีดาน D-Segment จะถูกดิสรัปท์ด้วย เอสยูวี รวมถึง B-Segment และคนรุ่นใหม่ไม่อยากซื้อรถ แต่ล่าสุดนิสสัน มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจ กับต้นแบบ ซีดาน Contemporary Lifestyle Vehicle ที่มีกลิ่นอายของ Skyline และเพิ่มสิ่งดึงดูดใจด้วย ฟังก์ชั่นเพื่อการกิน นอน เล่น เต็มคัน
นิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า ต้นแบบ ซีดาน ใหม่ จะออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ร่วมสมัย ออกแบบด้วยแนวคิดที่เป็นอิสระและความคิดสร้างสรรค์ โดยเรียกมันว่า “คอนเทมโพรารี ไลฟ์สไตล์ วีฮิเคิล” (Contemporary Lifestyle Vehicle)
เป็นรถต้นแบบที่ออกแบบ ด้วยแนวทางแบบบ ริโคลาจ (Bricolage) ซึ่งเป็นการสร้างผลงานโดยใช้การผสมผสานสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน
รถต้นแบบคันนี้นำออกจัดแสดง ที่นิสสัน โกลบอล เฮดควอเตอร์ส แกลเลอรี (Nissan Global Headquarters Gallery) ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ถึงวันที่ 2 เมษายน 2566
นิสสันระลุว่า รถซีดานต้นแบบนี้ได้รับแรงบันดาลใจหลัก มาจากรถสปอร์ตคันเก่งของนิสสัน คือ สกายไลน์ (Skyline) อันโด่งดัง
แต่แนวทางการออกแบบประโยชน์ใช้สอยแตกต่างกันออกไป โดยรถต้นแบบคันนี้ ผู้ใช้จะกิน จะนอน จะเล่นในรถยนต์ก็ทำได้สะดวก ซึ่งเป็นผลมาจากการใส่ออปชั่น และเทคโนโลยีหลายอย่างเข้าไป
พร้อมกับการทดสอบ ฟังก์ชันทางการใช้งานเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมถึงการนำเทคโนโลยีเอไอ (AI) เข้ามาเสริมอีกทางหนึ่งด้วย
รถต้นแบบคันนี้จะลงตัวกับการใช้งานในชีวิตประจำวันภายใต้ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่
ฟังก์ชั่นรองรับไลฟ์สไตล์ที่อยู่ใน Contemporary Lifestyle Vehicle มีอะไรบ้าง ไปดูตัวอย่างกัน
- ที่เก็บขยะที่กระจกมองข้าง
- โต๊ะแบบเลื่อนสำหรับผู้โดยสารตอนหน้า
- ที่วางโทรศัพท์ที่ซ่อนอยู่ในพวงมาลัย
- โต๊ะสำหรับผู้ขับจากม่านบังแดดที่มีทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่
- จอแสดงผลแบบถอดได้
- ขวดน้ำพร้อมระบบทำความร้อน
- กล้องตรวจจับภายในห้องโดยสาร (AI sensing camera)
- ปุ่มควบคุมแบบ One Button
- เบาะเลื่อนอัตโนมัติ
- ระบบพับเบาะเป็นที่นอนแบบแบนราบ
- ที่พักเท้าพับเก็บได้
- ที่เก็บผ้าห่มหลังเบาะหน้า
- จอหลังคา (moon roof vision)
- ช่องจ่ายไฟ 100 โวลต์ ที่กระจกมองข้าง
- ที่เก็บร่มบริเวณกาบรถ
- ที่เก็บของใต้กันชนท้าย
- ที่แขวนของด้านนอก (บริเวณเสา B)
- ที่แขวนเสื้อ
- จอภาพยนตร์ และเครื่องฉาย
- ระบบผู้ช่วยเหลือ (AI Assistant : Sora)
เท็ตสึโระ อุเอดะ (Tetsuro Ueda) หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญฝ่ายการสัญจรและห้องปฏิบัติการเอไอ (Mobility & AI Laboratory) กล่าวว่า นวัตกรรมเพื่อยกระดับชีวิตของผู้คนคือเป้าหมายขององค์กร
"แต่คำว่านวัตกรรมนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่เทคโนโลยีขั้นสูงที่ไม่เคยมีมาก่อน อย่างการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและระบบอัจฉริยะ แต่ยังรวมถึงการแสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในสิ่งที่มีอยู่แล้ว และการค้นหาวิธีที่จะทำให้ประสบการณ์ของผู้ใช้งานน่าพึงพอใจยิ่งขึ้นกว่าเดิม"
เหตุผลดังกล่าว ทำให้นิสสันเชื่อว่าแนวคิดแบบบริโคลาจจึงเหมาะสมอย่างยิ่งกับนวัตกรรมประเภทนี้ และเชื่อว่านวัตกรรมจากบริโคลาจยังสามารถแก้ปัญหาด้านความยั่งยืนได้อย่างตอบโจทย์
"คอนเทมโพรารี ไลฟ์สไตล์ วีฮิเคิล เป็นเพียงแค่ก้าวแรกในการแสดงให้โลกเห็นถึงอิทธิพลของบริโคลาจที่มีต่อภาคการผลิต โดยเราจะเดินหน้าศึกษานวัตกรรมนี้และสร้างสรรค์สิ่งที่น่าตื่นเต้นต่อไป"