ฮุนได Stargazer เบาะแถว 3 เด่นสุดในคลาส Mini MPV
หลังจากฮุนได มอเตอร์ เกาหลี ตัดสินใจเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยเองเป็นครั้งแรก นี่คือรถรุ่นแรกที่เปิดตัวในนามบริษัทใหม่ นั่นคือ “สตาร์เกเซอร์” (Hyundai Stargazer) รถ Mini MPV ที่มีฐานการผลิตจากอินโดนีเซีย
ฮุนไดนั้นเข้ามาทำตลาดในไทยยาวนานหลายสิบปี แต่เป็นการทำธุรกิจผ่านตัวแทนจำหน่ายที่เป็นไทย จากนั้นเปลี่ยนมือไปดูแลตลาดโดยบริษัทเทรดดิ้ง จากญี่ปุ่น ก่อนที่ล่าสุด ฮุนได มอเตอร์ ตัดสินใจเข้ามาทำตลาดเอง โดยบริษัท ฮุนได โมบิลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา
ผู้บริหารฮุนได มอเตอร์ พูดถึงเหตุผล ในโอกาสที่ผมไปเยือนสำนักงานใหญ่ กรุงโซล ช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาว่ามาจากหลายส่วน อย่างแรกคือมองว่าไทยเป็นตลาดศักยภาพสูง ต่อมาคือ บริษัทพร้อมที่รุกตลาดเต็มจากความพร้อมด้านผลิตภัณฑ์ต่างจากอดีต และที่สำคัญคือ ข้อมูล ที่เก็บรวมรวมมาหลายปี
และบอกอีกว่าในปีแรกจะมีรถทำตลาดรวม 5 รุ่น โดย 2 รุ่นนี้มีอยู่แล้ว ส่วนรุ่นใหม่ 3 รุ่น ก็เริ่มจาก ฮุนได สตาร์เกเซอร์ ( Hyundai Stargazer ) ตัวนี้แหละครับ
เปิดตัวครั้งแรกในงาน บางกอก อินเตอร์ชันแนล มอเตอร์โชว์ ที่ผ่านมา ซึ่งก็ถือว่าราคาทำได้ค่อนข้างดี
- เริ่มต้น 7.69 แสนบาท กับรุ่น Trend
- Style 8.29 แสนบาท
- Smart 7 ราคา 8.69 แสนบาท
- Smart 6 ค่าตัว 8.89 แสนบาท
และก็ยังเพิ่มทางเลือกสำหรับใครที่อยากได้หลังคาสีดำ สำหรับ Smart 6 เท่านั้น และมีสีตัวถังให้เลือก 2 สี เท่านั้น คือ ขาวกับเงิน โดยเพิ่มเงิน 2 หมื่นบาท หรือเท่ากับค่าตัวอยู่ที่ 9.09 แสนบาท
การออกแบบ ฮุนได สตาร์เกเซอร์ นั้นค่อนข้างมีเอกลักษณ์ทีเดียว ทั้งรูปทรงโดยรวมที่ใช้แนวคิด หัวกระสุน การออกแบบด้านหน้าที่ดูพรีเมียม สปอร์ต ด้านหลังเด่นกับรูปทรงไฟท้าย โดยเฉพาะค่ำคืนที่เห็นได้ชัดเจน และมองรวมๆ แล้วถือว่าเป็นรถที่ค่อนข้างสมส่วน
ภายในอาจดูเรียบๆ ไปนิด และบางอย่างอาจะไม่ถูกจริตกับคนไทยในเรื่องของความธรรมดาเกินไป แต่หลายอย่างฮุนไดก็พยายามปรับ พยายามเปลี่ยนสำหรับเวอร์ชั่นที่นำเข้ามาจำหน่ายในไทย แตกต่างจากต้นฉบับที่อินโดนีเซีย
แต่ก็ยังคงคอนเซ็ปท์ การเป็นรถเอนกประสงค์ในร่างกะทัดรัด เช่น ที่วางแก้วน้ำ ขวดน้ำ กล่อง หรือช่องสำหรับเก็บของต่างๆ รวมแล้ว 31 จุด
สำหรับออปชั่นเด่นๆ ที่ให้มา เช่น
- ล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว
- เบรกหน้าดิสก์เบรก หลังดรัมเบรก
- ระบบเบรก ABS
- ระบบ เสริมแรงเบรก (BAS)
- ระบบควบคุมการทรงตัว
- ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน
ติดตั้งฮุนได สมาร์ทเซนส์ ที่มีระบบการทำงานเช่น
- ระบบเตือนการชนด้านหน้า
- ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ
- ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง
- ระบบควบคุมรถให้อยู่กลางช่องทาง
- ระบบควบคุมไฟสูงอัตโนมัติ
- ระบบเตือนเมื่อรถอยู่ในจุดอับสายตา
- ระบบเตือนและเบรกอัตโนมัติขณะถอยรถ
- กล้องมองหลัง
ช่องเชื่อมต่อยูเอสบี ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือแบบไร้สาย เป็นต้น
สตาร์เกเซอร์ มาพร้อมเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร ขนาดยอดนิยมของรถในตลาดนี้
- กำลังสูงสุด 115 แรงม้า ที่ 6,300 รอบ/นาที
- แรงบิดสูงสุด 144 นิวตันเมตร ที่ 4,500 รอบ/นาที
ส่งกำลังผ่านเกียร์ ซีวีที แต่ชื่อที่ฮุนไดเรียกคือ ไอวีที ที่สายพานเกียร์เป็นโลหะ ซึ่งฮุนไดบอกว่าทำให้สูญเสียกำลังน้อยลงเมื่อเทียบสายพานทั่วไป และทำให้จังหวะการตอบสนองของกำลังเครื่องยนต์ที่เปลี่ยนแปลงในช่วงต่างๆ ดีขึ้น ขับขี่ได้กระชับ กระฉับกระเฉงขึ้น
ก็ถือว่าใช้ได้อยู่ครับ กับการลองขับขี่จากสนามบิน ภูเก็ต ไปพังงา เสม็ดนางชี แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของพังงาที่ทิวทัศน์สวยงาม ซึ่งเป็นเส้นทางหลากหลาย ทั้งทางตรงทางโค้ง ทางขึ้น-ลงเนิน เกียร์ตอบอสนองได้รวดเร็ว และนุ่มนวล ทั้งการปรับเปลี่ยนจังหวะเกียร์ทั่วไป หรือ จังหวะเปลี่ยนความเร็วแบบรวดเร็ว เช่น จังหวะเร่งแซง
ตัวเครื่องยนต์ก็ตอบสนองในเกณฑ์ที่ดี ใช้งานได้ เดินทางได้จะเป็นเส้นทางราบ หรือทางที่ต้องขึ้นเขาลงเนินบ้าง กำลังเพียงพอ ซึ่งการลองขับครั้งนี้ เราเดินทาง 3 คน แต่ถ้านั่งเต็มที่ 6 หรือ 7 คน ผมว่าก็น่าจะไหวอยู่ เพียงแต่ความปราดเปรียวอาจลดลงบ้าง
ช่วงล่างอยู่ในเกณฑ์ที่ดีครับ เส้นทางต่างๆ เหล่านี้ผ่านไปได้ไม่ยาก ทางตรงการทางตัวดี ทางโค้งทางเขาก็จัดการได้ แม้มีการให้ตัวอยู่บ้างแต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร จากการที่เซ็ทช่วงล่างมาให้มีความนุ่มอยู่บ้างเพื่อให้นั่งสบาย โดยเฉพาะเมื่อต้องผ่านเส้นทางที่ขรุขระ
ภาพรวมของช่างล่างใกล้เคียงกับคู่แข่งต่างๆ ในตลาด แต่ถ้าถามผมในตลาดนี้ ถ้าชอบช่วงล่างของใครมากที่สุด ผมชอบ เอ็กซ์แพนเดอร์ ครอส ครับ
พวงมาลัยไฟฟ้า น้ำหนักดี รองรับทั้งขับขี่ที่ความเร็วสูง หรือว่า ที่ความเร็วต่ำๆ ได้ เหมาะสม แต่ยังมีระยะฟรีมากไปนิด
แต่สำหรับสตาร์เกเซอร์ ก็มีจุดเด่นที่เหนือกว่าใครเช่นกันในความรู้ของผมคือ เบาะนั่งแถวที่ 3 ที่ออกแบบมาได้ดีเลย นั่งได้สบายที่สุด ทั้งเรื่องของตำแหน่งเบาะ พื้นที่วางเท้า พื้นที่เข่า พื้นที่เหนือศีรษะ พนักพิงหลัง หมอนรองศีรษะ เรียกว่าผู้ใหญ่ก็นั่งได้ครับ ไม่ได้เป็นด็อก ซีท หรือ ไล่ให้เด็กๆ ไปนั่งเท่านั้น
ส่วนเบาะนั่งแถว 2 ซึ่งรุ่นที่ผมลองเป็นรุ่น Smart6 เบาะแถว 2 เป็นแบบ 2 ที่นั่งแยกจากกัน เพิ่มความเป็นส่วนตัว ก็นั่งอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ สำหรับในกลุ่ม บี-เซ็กเมนต์ ตัวเบาะจะจมๆ สักหน่อยจนรู้สึกเหมือนขอบหน้าต่างสูงทั้งนี้ก็เพราะเขาออกแบบให้เบาะนั่งแถว 3 มีทัศนวิสัยที่เปิดโล่งมากขึ้น ไม่อึดอัดเพราะถูกคนนั่งแถว 2 บังมากเกินไป
และสำหรับเบาะแถว 2 ด้านซ้ายมีโต๊ะให้ใช้งานติดตั้งอยู่ที่ด้านหลังของเบาะนั่งผู้โดยวสารแถวหน้า แต่มันรับน้ำหนักได้แค่ประมาณ 3 กก. ผมว่าคงออกแบบให้วางของชั่วคราวแก้เมื่อย เช่น วางโทรศัพท์ ไอแพด หนังสือ มากกว่าจะใช้เป็นโต๊ะทำงานจริงจัง
ทั้งเบาะแถว 2 และ 3 สามารถพับแบบแยกได้เพื่อเพิ่มพื้นที่บรรทุกสัมภาระ และพับได้ค่อนข้างราบ ทำให้ขนของขึ้น-ลง ได้สะดวก และเป็นเหตุหนึ่งที่ตัวเบาะที่หลายคนบอกว่าขาดความหนานุ่มไปหน่อย ก็คงเป็นเพราะต้องการให้พับแล้วเพิ่มพื้นที่ได้ดีพอ
และจะว่าไปแล้ว ต่อให้เบาะไม่ต้องหนานุ่ม แต่ก็เพียงพอต่อการนั่ง ที่ค่อนข้างสบายตัวอยู่แล้วครับ
ทั้งแถว 2 และแถว 3 มีช่องแอร์ที่เพดานพร้อมคอมเพรสเซอร์แยกต่างหากจากด้านหน้า ทำให้การกระจายความเย็นของพื้นที่ด้านหลังทำได้ดี
ในภาพรวมๆ ก็เป็นรถที่เป็นทางเลือกที่ดี ทั้งการออกแบบที่มีเอกลักษณ์ สวยงามใช้ได้ สมรรถนะเครื่องยนต์ การขับขี่ที่ค่อนข้างดี และเด่นที่การใช้งานในห้องโดยสาร โดยเฉพาะเบาะแถว 3
ซึ่งหากใครซื้อรถด้วยจุดประสงค์นี้ ผมว่าน่าสนใจเลยสำหรับคันนี้ครับ