Mercedes-Benz ‘A 200 AMG Dynamic' เล็ก พริกขี้หนู 1.3 L ก็สนุกได้
เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอ-คลาส (Mercedes-Benz A-Class) ปรับโฉม (facelift) เติมความสดใหม่ เปลี่ยนแปลงออปชั่น พร้อมราคาเพิ่ม 1.5 แสนบาท คุ้มไม่คุ้ม และรถตัวเริ่มต้นของเบนซ์ ขับแล้วเป็นอย่างไร ไปลองกัน
ตลาดรถยนต์ไทย รู้จักชื่อของ เอ-คลาส (A-Class) มายาวนาน โดยรุ่นแรกที่เปิดตัวในไทยเป็น เจเนอเรชั่นที่ 2 รหัสตัวถัง W169 ที่ถูกแซวว่าเป็น เบนซ์ แจ๊ส เพราะมีรูปโฉมคล้ายกัน แต่ก็ทำตลาดได้ไม่ดีนัก
ซึ่งไม่เฉพาะรูปโฉมที่ไม่ถูกจริตคนไทยมากนัก และดูจะแปลกแยกจากความเป็นเมอร์เซเดส-เบนซ์ ไปพอสมควรแล้ว ยังไม่ถูกจริตในเรื่องการขับขี่อีกด้วย
ยุคใหม่ของ เอ-คลาส เกิดขึ้นในปี 2554 เมื่อสตุทการ์ท เปิดตัว เอ-แพลตฟอร์ม สำหรับตลาดรถเล็กที่มีเป้าหมายสร้างฐานตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยใช้เมอร์เซเดส-เบนซ์ มาก่อน หรือวัยรุ่นหนุ่มสาว
เพราะเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอจี มองในขณะนั้นว่าทิศทางตลาดรถเล็กจะได้รับความนิยมมากขึ้น จากพฤติกรรมการใช้รถของผู้คนี่เปลี่ยนแปลงไป
และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็มีข้อมูลการตลาดออกมาว่า ลูกค้าของ เอ-คลาส นั้น 60-70% เป็นลูกค้าใหม่ ที่ไม่เคยใช้รถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ มาก่อน
โดย เอ แพลตฟอร์ม ที่พัฒนาออกมานั้น รองรับหลายตัวถัง เช่น เอ-คลาส, ซีแอลเอ หรือว่า จีแอลเอ
และ เอ-คลาส เจเนอเรชั่นที่ 3 เข้ามาตลาดเมืองไทยในปีถัดมาคือ 2555 ก่อนที่รุ่นปัจจุบันที่เป็น เจเนอเรชั่นที่ 4 จะเปิดตัวในปี 2562
และล่าสุดก็ถึงเวลาของการปรับโฉม หรือ facelift เติมความสดใหม่ ปรับเปลี่ยนออปชั่น และขยับราคาขึ้น 1.5 แสนบาท อยู่ที่ 2.32 ล้านบาทกับ Mercedes-Benz A200 AMG Dynamic ซึ่งถือเป็นรุ่นที่ถูกที่สุดของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในประเทศไทยขณะนี้
ส่วนถ้าใครจะขยับขึ้นไปเล่น GLA ก็มีค่าตัวอยู่ระหว่าง 2.33-2.48 ล้านบาท
สำหรับการขยับราคาของ A200 AMG Dynamic ขึ้นไป 1.5 แสนบาท ผมว่าลูกค้าก็น่าจะรับได้เ มื่อมองจากทิศทางราคารถที่ปรับเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา
และออปชั่นที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ เติมเข้าไป หรือ การปรับเปลี่ยนรายละเอียดในส่วนต่างๆ ก็เห็นความแตกต่างจากโฉมเดิม
การปรับโฉมหรือ face lift ของ A200 AMG Dynamic หลักๆ คือ
- ไฟหน้าแบบใหม่ LED High-Performance ดีไซน์รูปแบบการแสดงแสงใหม่แบบ reflection technology พร้อมระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ Adaptive Highbeam Assist
- กันชนหน้ารูปแบบ AMG
- กระจังหน้าแบบ Star pattern radiator grille ที่มีดวงดาวระยับระยับเต็มกระจังหน้า
- ฝากระโปรงหน้า Power dome กับเส้นสายทีเป็นสันคม ซึ่งผมชอบการเปลี่ยนแปลงส่วนนี้มากที่สุดสำหรับภายนอก เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนปรับโฉม เพราะมันดูสปอร์ตขึ้นชัดเจน ดูบึกบึนขึ้นชัดเจน และดูมีมิติมากขึ้นด้วย
- นอกจากนี้ก็ยังมีไฟท้าย LED ใหม่
- ล้อ AMG แบบ 5 ก้านคู่ สีดำ ขนาด 18 นิ้ว พร้อมยาง 225/45 R18
- ชุดเบรกเดิม แต่เพิ่มจาก 1 พอร์ท เป็น 2 พอร์ท
- ที่เห็นชัดเจนอีกอย่างคือ หลังคาแบบ พาโนรามิค ซันรูฟ ไฟฟ้า เพิ่มความโปร่งโล่ง หรูหรา
- ฝากระโปรงท้าย เพิ่มระบบ HANDS-FREE ACCESS สำหรับการเปิดฝาท้าย และคิกเซ็นเซอร์ แค่แหย่เท้าเข้าไปใต้กันชนกระโปรงหลังก็จะเปิดอัตโนมัติ แต่การปิดยังใช้มือปิดเช่นเดิม เพราถ้าเพิ่มปิดอัตโนมัติ ราคาคงเพิ่มขึ้น เพราะต้องมีต้นทุน อย่างน้อยก็มีมอเตอร์เพิ่มเข้ามา
และถ้ามองแง่ความจำเป็นก็อาจจะน้อยว่าพวกรถแนว เอสยูวี ที่ฝาท้ายเมื่อเปิดแล้ว คนตัวเล็กเอื้อมไปปิดลำบาก และก็ยังมีนำ้หนักค่อนข้างมากอีกด้วย
ภายในห้องโดยสาร เปลี่ยนพวงมาลัยให้สปอร์ตมากขึ้น ในรูปแบบ AMG และเอาใจตลาดเมืองร้อน ด้วยการเพิ่มช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง และยังเปลี่ยนระบบปรับอากาศเป็น THERMOTRONIC Dual Zone
ด้านฟังก์ชันการใช้งาน เพิ่ม MBUX7 จุดขายหลักของเมอร์เซเดส-เบนซ์ เข้ามาให้ เพิ่มระบบสั่งการด้วยเสียงภาษาไทย เพิ่มระบบเชื่อมต่อไร้สายทั้ง Apple CarPlay และ Android Auto
แต่ก็มีสิ่งที่หายไป 2 สิ่ง คือ ระบบตัดแสงอัตโนมัติกระจกมองข้างฝั่งขับ กระจกมองหลัง และทัชแพด (touchpad) ที่คอนโซลเกียร์
เหตุผลเท่าที่ทราบมาก็คือ จริงๆ แล้วผู้ขับขี่ไม่ค่อยได้ใช้มากนัก แถมยังมีความสุ่มเสี่ยงเพราะมันอยู่ติดกับที่วางขวดน้ำ แก้วน้ำ ทำให้โอกาสที่น้ำหกใส่ หรือหยดใส่ มี ทำให้การทำงานรวน
ส่วนมุมมองของผม สำหรับตลาดบ้านเรา คิดว่ามีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เพราะจริงๆ แล้วการใช้งานอาจจะไม่ค่อยถนัด 100% ด้วยความที่เมืองไทยใช้รถพวงมาลัยขวา ดังนั้นเวลาคุมทัชแพดจึงใช้มือซ้าย ซึ่งอาจจะไม่ถนัด โดยเฉพาะถ้าจะเขียนตัวอักษร ตัวเลข
ส่วนพื้นที่ที่เคยเป็นที่อยู่ของ ทัชแพด เมื่อถอดออกไป มันกลายเป็นถาดเล็กๆ น่าจะใส่พวกเหรียญ หรือบัตรจอดรถ อะไรประมาณนั้น เพราะวางโทรศัพท์ไม่ได้ มันเล็กเกินไป
ซึ่งจริงๆ แล้วหากทำให้ใหญ่เพิ่มขึ้น หรือไม่ก็ปิดเรียบๆ ไปเลย หรือทำเป็นกล่องวางของน่าจะดีกว่า
ส่วนทัชแพดเล็กบนทวงมาลัย 2 ด้าน ซ้ายขวาที่ใช้นิ้วโป้งควบคุมยังคงมี และใช้งานได้ดีเช่นเดิม
ส่วนออปชั่นอื่นๆ เช่น เบาะหุ้มหนัง ARTICO สลับ MICROCUT microfibre คู่หน้าปรับด้วยไฟฟ้า และที่น่าจะเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าคือ รหน่วยบันทึกความจำ หรือ memory seat ที่ให้มาทั้ง 2 เบาะคู่หน้า บันทึกได้ 3 ตำแหน่ง และยังมีระบบดันหลัง 4 ทิศทางทั้ง 2 เบาะเช่นกัน
จอแสดงข้อมูลสำหรับผู้ขับแบบ All-digital instrument display ขนาด 10.25 นิ้ว ส่วนจอกลางระบบสัมผัสขนาด 10.25 นิ้ว ช่อง USB Type-C 4 ช่อง Ambient Light 64 เฉดสี
ระบบความปลอดภัยและระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ ADAS เช่น
- ระบบเบรก ADAPTIVE Brake
- ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินแบบแอคทีฟ
- ไฟกระพริบเบรกฉุกเฉิน
- ระบบรักษาความเร็วอัตโนมัติ
- ระบบจำกัดความเร็ว
- ระบบแจ้งเตือนเมื่อมีรถอยู่ในจุดอับสายตา
- ระบบแจ้งเตือนขณะเปิดประตู
- ระบบช่วยการนำรถเข้าจอดอัตโนมัติ
- ระบบแจ้งเตือนระดับแรงดันลมยาง
- ระบบช่วยเตือนอาการเหนื่อยล้าขณะขับขี่
A200 AMG Dynamic เป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า เครื่องยนต์ขนาดกะทัดรัด 1.3 ลิตร 4 สูบ แถวเรียง พ่วงเทอร์โบเข้ามา พร้อมระบบ cylinder shutdown ซึ่งจะตัดการทำงานของลูกสูบ 2 สูบ เหลือแค่ 2 สูบ หากระบบคำนวณแล้วว่าในช่วงเวลานั้นๆ แค่ 2 สูบ ก็เพียงพอ ทำให้ลดการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและการปล่อยไอเสีย
- กำลังสูงสุด 163 แรงม้า ที่ 5,500 รอบ/นาที
- แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร ที่รอบกว้าง 1,620-4,000 รอบ/นาที
สำหรับ ระบบ cylinder shutdown จะทำงานก็ต่อเมื่อเลือกโหมดขับขี่ Eco เท่านั้น ถ้าเลือก Comfort, Sport หรือ Individual ระบบไม่ทำงานนะครับ
แต่จะว่าไปแล้วการขับขี่ด้วยโหมด Eco ก็ไม่ได้พยายามทำให้ประหยัดเชื้อเพลิงจนไม่อยากจะขับเหมือนที่เราอาจจะเคยเจอในรถบางรุ่นนะครับ เช่น กดคันเร่งแล้วก็เหมือนไปปลุกคนที่กำลังง่วงจัดๆ ไม่อยากตอบสนอง
แต่แน่นอนว่าโหมดนี้มันตอบสนองช้ากว่า Comfort หรือ Comfort แต่ผมว่าเขาเซ็ตมาให้ใช้งานได้ในชีวิตจริง
อย่างการลองขับครั้งนี้จากกรุงเทพฯ ไปหัวหิน ผมก็เลือก Eco เป็นหลัก สลับกับ Comfort ซึ่งก็สามารถใช้งานได้ตามปกติ ขับตามสภาพจราจรได้ เร่งแซงได้ ทำความเร็วได้ แต่พยายามที่จะขับแบบที่รถทั่วไปขับกัน ความเร็วก็อยู่ในเกณฑ์กฎหมายกำหนด อาจจะสูงไปบ้างบางช่วงจังหวะที่เร่งแซง
ก็ต้องบอกว่าโหมดนี้ใช้งานได้ปกติ และที่ได้แถมมาจากการขับแบบนี้คือ อัตราสิ้นเปลืองที่ทำได้ดีเลย อยู่ประมาณ 17 กม./ลิตร
ส่วนขากลับ ผมเลือกลองโหมด Sport และขับขี่แบบคนขี้รำคาญสภาพจราจร รำคาญคนขับช้าแช่ขวา ทำให้ต้องซอกแซกไปมา และเติมคันเร่งบ่อยครั้ง ใช้ความเร็วเฉลี่ยอยู่ในระดับสูง แต่ก็แปลกใจไม่น้อยครับ เมื่อตัวเลขโชว์ที่ประมาณ 13 กม./ลิตร
เรื่องความประหยัดถือว่าสอบผ่านเลยครับ
ส่วนการตอบสนองของเครื่องยนต์ก็ทำได้ดีเลย อย่าได้ปรามาสเครื่องตัวเล็กๆ เพราะสามารถเรียกความเร็วมาได้อย่างต่อเนื่อง จังหวะเร่งแซงแบบรวดเร็วก็เรียกกำลังมาได้เร็วเช่นกัน และโดยที่ไม่ค่อยมีอาการที่เรียกเค้นเครื่องให้รู้สึกสักเท่าใด
ส่วนหนึ่งก็มาจากแรงบิดที่ค่อนข้างสูง และทำงานที่รอบกว้าง บวกกับความแม่นยำ และความลื่นไหลในจังหวะเปลียนเกียร์ของเกียร์อัตโนมัติ คลัทช์คู่ 7 สปีด หรือ 7G DCT
เพราะฉะนั้นเรื่องของสมรรถนะของรถเล็ก เครื่องเล็ก คันนี้ ก็สอบผ่านเช่นกัน
ช่วงล่างโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดี รถนิ่ง แม้จะใช้ความเร็วค่อนข้างสูงก็ตาม ทำให้คุมรถได้ไม่ยาก แต่ก็แอบมีความกระด้างให้รู้สึกได้เมื่อเจอถนนที่ไม่เรียบกริบ รวมถึงบางช่วงที่ถนนไม่เรียบเป็นคลื่นเป็นลอนจะรู้สึกถึงอาการดิ้นบ้างเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้สร้างปัญหาอะไรในการขับมากนัก
ช่วงล่างของ A200 AMG Dynamic ด้านหน้าเป็นแบบแมคเฟอร์สัน สตรัท ด้านหลัง ทอร์ชั่น บีม หรือ คานแข็ง
พวงมาลัยมีความแม่นยำ กระชับมือ น้ำหนักดี และเมื่อเลือกโหมด Sport จะรู้สึกนิ่งยิ่งขึ้น คุมรถได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่ถ้าใครบอกว่าอยากได้อารมณ์พวงมาลัยแบบนี้ แต่ไม่อยากได้การตอบสนองของเครื่องยนต์ที่รวดเร็วของโหมด Sport ก็ไปใช้ Individual เลือกเซ็ท พวงมาลัย Sport เครื่องยนต์ Comfort ก็ได้ครับ
ทัศนวิสัยในส่วนของผู้ขับขี่ชัดเจน เบาะนั่งกระชับลำตัว และออกแบบให้ตัวจมลงเล็กน้อย เติมอารมณ์สปอร์ตมากขึ้น เบาะหลังช่วงรองนั่งสั้นไปนิดแต่ก็รับได้ ขณะที่การเก็บเสียงก็ทำได้ดีทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นจังหวะขับขี่ หรือ จอดติดไฟแดงที่ถูกขนาบด้วยรถบรรทุกครับ
โดยรวมแล้ว สำหรับใครที่ต้องการขับเมอร์เซเดส-เบนซ์ ราคาไม่แรง รับได้กับขนาดรถกะทัดรัด A200 AMG Dynamic ก็น่าสนใจ เพราะเรื่องของความคล่องตัวดี และสมรรถนะการขับขี่ก็ตอบสนองทั้งการใช้งานทั่วไป หรือ ชีวิตที่เร่งรีบครับ