'HAVAL JOLION SPORT' ช่วงล่างเด่น ลดออปชั่น หั่นราคา น่าใช่แค่ไหน
จุดเด่นอย่างหนึ่งของ Haval Jolion (ฮาวาล โจไลอ้อน) ที่เปิดตัวปลายปี 2564 ก็คือ การใส่ออปชั่นจำนวนมาก แต่ก็ทำให้มีราคาที่ค่อนข้างสูง แต่การเพิ่มีรุ่นย่อยใหม่ Sport กับการลดออปชั่น และกดราคาลงมา ทำให้มันน่าสนใจมากขึ้น
Haval Jolion (ฮาวาล โจไลอ้อน) เป็นรถยนต์รุ่นที่ 3 ที่เกรท วอลล์ เปิดตัวในไทย ต่อเนื่องจาก ฮาวาล เอช 6 และ โอร่า กู๊ดแคท เป็นรถในกลุ่ม บี-เอสยูวี ที่มาต่อยอดความร้อนแรงของ เอช 6 ที่สร้างยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำในกลุ่ม ซี-เอสยูวี
ออปชั่นต่างๆ ที่ใส่เข้าไป เมื่อครั้งเปิดตัว ต่างจากรุ่นพี่อย่าง Haval H 6 ไม่มากนัก อย่างไรก็ตามการที่ตลาดนี้ซึ่งมีการเติบโตสูง ทำให้มีคู่แข่งจำนวนมาก และมีรายที่แข็งแกร่งหลายราย ทำให้ยอดขายของ โจไลอ้อน นั้นไม่สูงนัก
แต่การที่เป็นตลาดใหญ่ และมีทิศทางที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกรท วอลล์ ต้องพยายามผลักดันตลาดนี้เต็มที่เช่นกัน ล่าสุด ปรับโฉม ปรับออปชั่น และเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ คือ SPORT ที่มาพร้อมการหน้าตาใหม่ ตกแต่งใหม่ กับค่าตัว 7.99 แสนบาท
ขณะที่ก่อนหน้านี้ Jolion ทำตลาด 3 รุ่น คือ
- TECH ค่าตัว 8.78 แสนบาท
- PRO 9.39 แสนบาท
- ULTRA 9.99 แสนบาท
แต่การมาของ SPORT เกิดขึ้นพร้อมกับการหายไปของ TECH และ PRO โดยยังคงรุ่น ULTRA เป็นตัวท็อปเอาไว้เช่นเดิม
การมีราคาที่ต่ำกว่า 8 แสนบาท น่าจะทำให้เพิ่มขีดแข่งขันในตลาดนี้ได้มากทีเดียว แม้ว่าจะตัดออปชั่นหลายอย่างออกไปก็ตาม เมื่อเทียบกับ ULTRA
ซึ่งหลายอย่างที่หายไปก็อาจจะเป็นออปชั่นที่มีความสำคัญในความคิดของผู้บริโภคบางกลุ่ม แต่ก็มีบางกลุ่มเช่นกันที่มองว่าพร้อมให้ตัดทิ้งหากได้ราคาที่ถูกลงอย่างน่าพอใจ เพราะหลายอย่างเป็นลูกเล่นที่ไม่ค่อยได้ใช้งานจริงสักเท่าไร
สิ่งที่หายไป เช่น กล้อง 360 องศา แต่กล้องมองหลังยังมีอยู่ ระบบเรดาร์ ซึ่งทำให้ระบบเตือนชนและช่วยเบรกด้านหน้าหายไปด้วย ระบบเตือนการชนด้านหลัง ระบบสั่งการด้วยเสียง การควบคุมรถด้วยแอปพลิเคชั่น
ระบบคุมความเร็วอัตโนมัติที่ตัดแบบแปรผันออก ระบบช่วยจอด หลังคาพาโนรามิก ซันรูฟ ระบบเปิด-ปิดฝาท้าย ด้วยไฟฟ้า พร้อมคิก เซ็นเซอร์ เป็นต้น
ก็อย่างที่บอกแหละครับ ถ้าออปชั่นที่หายไป แลกกับการจ่ายน้อยลง ก็ต้องหาคำตอบให้ตัวเองให้ได้ว่า จำเป็นต้องใช้ออปชั่นพวกนั้นหรือไม่
การเปลี่ยนแปลงของ Haval Jolion Sport ไม่ใช่แค่ด้านออปชั่น แต่ยังปรับเปลี่ยนรายละเอียดตัวรถหลายอย่าง ให้มีแนวคิดตามชื่อรุ่น Sport
การปรับเปลี่ยน ไม่ใช่การเติมสีดำเข้าไป แต่รายละเอียดหลายอย่างปรับเปลี่ยนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
- โคมไฟหน้า ไฟขับขี่ช่วงกลางวัน แอลอีดี ปรับรูปทรงใหม่
- กันชนหน้า กระจังหน้า ที่ออกแบบใหม่ ผมว่าดูลงตัวมากขึ้น และดุดันสมกับชื่อสปอร์ตมากขึ้นเช่นกัน
- กระจังหน้าเป็นแบบ Black Symmetric สีดำล้วน จากเดิมเป็นโครเมียม และฝังด้วยโลโก้ HAVAL ใหม่ ที่ดูปราดเปรียวขึ้นจากแบบเดิม
- ด้านท้าย ดิฟฟิวเซอร์ ออกแบบใหม่ มีเส้นสาย และรูปทรงที่คมขึ้น หนักแน่นขึ้น
- ไฟท้าย LED ไฟเบรกดวงที่สาม LED
- ล้ออัลลอยแบบสปอร์ต ขนาด 18 นิ้ว (เท่าเดิม) แต่เปลี่ยนเป็นสีดำล้วน
- กระจกมองข้าง ราวหลังคา สปอยเลอร์หลังสีดำ แต่ก็น่าจะละเลงสีดำให้กับเสาอากาศครีบฉลามไปด้วยก็ดี
ภายในห้องโดยสาร ก็หันมาเน้นการใช้สีดำเป็นหลัก ทั้งคอนโซลหน้า แผงข้างประตู หรือเบาะนั่งที่ใช้วัสดุหนังสังเคราะห์ พร้อมกับตัดด้วยเส้นสายสีเงินในส่วนต่างๆ
ส่วนออปชั่นหลักๆ ที่มีมากับรถเช่น หน้าจอมัลติมีเดียแบบสัมผัสขนาด 10.25 นิ้ว รองรับ Apple CarPlay, Android Auto, Bluetooth และ MP3 ลำโพง 6 ดอก
หน้าจอแสดงผลข้อมูลการขับขี่แบบดิจิทัลขนาด 7 นิ้ว ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ แยกอิสระซ้าย-ขวา เกียร์แบบ Electronic Shifter ชุดเกียร์ไฟฟ้า กุญแจ Smart Key และระบบ Push Start
เบาะคนขับปรับไฟฟ้าได้ 6 ทิศทาง แผงควบคุมที่คอนโซลกลาง พร้อมที่พักแขนและที่วางแก้วน้ำ ช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง เบาะด้านหลังพับได้แบบ 60:40
.
ระบบความปลอดภัยและช่วยเหลือผู้ขับขี่ เช่น ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ กล้องแสดงภาพขณะถอยหลัง ถุุงลมคู่หน้าและด้านข้าง ระบบติดต่อศูนย์ช่วยเหลือฉุกเฉิน พร้อมทั้งส่งตำแหน่ง ระบบช่วยลงทางลาดชัน ระบบช่วยออกตัวบนทางชัน
ระบบตรวจความดันลมยาง ระบบช่วยเตือนความเมื่อยล้าขณะขับขี่ (DFM)
ระบบไฟกระพริบเมื่อเบรกฉุกเฉิน ระบบช่วยชะลอความรุนแรงของการเกิดการชนซ้ำครั้งที่ 2 เซนเซอร์กะระยะด้านหลัง 3 จุด ระบบ Auto Break Hold เบรกมือไฟฟ้า ระบบควบคุุมเสถียรภาพการทรงตัว ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและควบคุมการลื่นไถล เป็นต้น
ส่วนทางด้านเทคนิคยังเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นระบบ ไฮบริด ที่มอเตอร์ทำงานร่วมกับเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร
- กำลังสูงสุด 190 แรงม้า
- แรงบิดสูงสุด 375 นิวตันเมตร
- เกียร์ DHT
- ช่วงล่างด้านหน้าอิสระแมคเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังทอร์ชันบีม
โหมดการขับขี่ มีให้เลือก 4 โหมด คือ
- Eco
- Normal
- Sport
- Slipery
และมีระบบ Intelligent Single Pedal คุมการเร่งหรือชะลอตัวแป้นคันเร่งแป้นเดียวให้ใช้ แต่ผมไม่นิยมเท่าไร หากขับบนถนนทั่วไป แต่ถ้าเป็นทางเขา ทางโค้ง ใช้ได้ดีครับ
ระบบไฮบริดรองรับการใช้งานได้สบายครับ การตอบสนองในช่วงกลางถึงระดับความเร็วสูงทำได้ดี ปรับเปลี่ยนความเร็วได้เร็วทำให้ขับขี่ทั้งทางหลวงสายหลัก หรือทางสายรอง 2 เลนสวนทางไม่ยาก เร่งแซงได้แบบไม่ต้องลุ้น แต่ถ้าเติมคันเร่งเรียกแรงบิดอย่างเร่งรีบจะมีเสียงเค้นเครื่องยนต์ให้รู้สึกได้
การออกตัวและความเร็วช่วงเริ่มต้นไม่จี๊ดจ๊าดนัก แต่ไม่ได้อืด ออกตัวตามจังหวะได้ ออกตัวเมื่อได้สัญญาณไฟเขียว กดคันเร่งปกติ ก็จะทิ้งระยะจากคันหลังได้สบายใจ
การทรงตัวของรถอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเลยครับ รถนิ่งแม้จะใช้ความเร็วสูง การควบคุมรถยังทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องเกร็งไม้เกร็งมือ ขณะที่ในเส้นทางโค้ง การยึดเกาะถนนมั่นใจได้ อาการโยนตัวของรถมีน้อย รวมถึงการจัดการกับคอสะพานที่ทำได้ดี จังหวะรีบาวด์น้อย ทำให้ควบรถต่อไปได้ทันที
โดยรวมผมว่าช่วงล่างดีขึ้นกว่าตัวเดิม แม้จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร แต่เชื่อว่าน่าจะมีการเซ็ทอะไรที่แตกต่างออกไปจากเดิมอยู่บ้าง รวมถึงน้ำหนักที่ลดลงไปจากออปชั่นที่หายไป
ในการการดูดซับแรงสั่นสะเทือนช่วงล่างยังมีความกระด้างให้รู้สึกได้ โดยเฉพาะเมื่อเจอกับถนนที่ขรุขระ ไม่เรียบ ในแง่คนชอบขับรถไม่มีปัญหากับช่วงล่างที่แข็งแต่คุมรถง่าย แต่ถ้าปกติมีคนใช้รถร่วมกันหลายคน ก็ลองให้ผู้ที่มีหน้าที่เป็นผู้โดยสารเป็นส่วนใหญ่ ลองนั่งดูว่า โอไคไหม
.
การเก็บเสียงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีสำหรับรถในตลาดนี้ เสียงจากภายนอกที่เข้ามาไม่มากพอที่จะทำให้เกิดความรู้สึกรำคาญ
พวงมาลัยมีความแม่นยำปานกลางค่อนข้างไปทางที่ดี ปรับอีกนิดก็จะสมบูรณ์ และถ้าจะให้ดี น่าจะทำให้สามารถปรับระยะเข้า-ออกได้ เพื่อความสะดวกในการจัดท่านั่งที่ถนัดถนี่ที่สุดสำหรับผู้ขับขี่ แต่ว่าโจไลอ้อน ปรับได้เฉพาะขึ้น-ลง เท่านั้น
โดยรวม ถือเป็น เอสยูวี ขนาดเล็กที่ขับได้ดี ห้องโดยสารกว้างขวางเพียงพอการใช้งาน และหากราคาที่ออกมาดีด้วย ก็น่าจะช่วยฟื้นตลาด โจไลอ้อน ขึ้นมาได้แน่ครับ