ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ การสอบสวน BEV จีนของอียู มีผลต่อการส่งออก BEV ไทยปี 67
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ กรณีคณะกรรมาธิการยุโรป เปิดสอบสวน BEV นำเข้าจากจีนทุกค่ายไม่จำกัดสัญชาติ มองไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์ โดยค่ายจีนที่ได้รับผลกระทบมากแล้ว มีการลงทุนในไทยด้วย อาจส่งออก BEV รุ่นเดียวกันที่ผลิตในไทยไปยังตลาดยุโรปทดแทน "SCB EIC" ประเมินว่า ทุก ๆ 1 แสนคันของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ภายในประเทศ ดันGDP ไทย โต 0.2%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ ปัจจุบัน BEV นำเข้าจากจีนมีส่วนแบ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาดอียู นำมาซึ่งความกังวลของคณะกรรมาธิการยุโรปจนเดินไปสู่การเปิดสอบสวนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 ต.ค. กับ BEV นำเข้าจากจีนทุกค่ายไม่จำกัดสัญชาติ เรื่องที่อาจมีการรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ซึ่งอาจทำให้เกิดมาตรการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุน อย่างเร็วที่สุดคือเดือนก.ค. 2567
ในกรณีที่อียูออกมาตรการขึ้นภาษีต่อต้านการอุดหนุนออกมาจริง ก็อาจกระทบต่อการส่งออก BEV จากจีนไปยุโรปไม่มากก็น้อย ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจไม่เท่ากัน โดยคาดว่าอาจจะมีทั้งค่ายที่โดนเรียกปรับภาษีสูง และค่ายที่โดนเรียกปรับภาษีต่ำกว่า
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จากกรณีนี้ไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์ โดยค่ายจีนที่ได้รับผลกระทบมากแล้ว มีการลงทุนในไทยด้วย อาจส่งออก BEV รุ่นเดียวกันที่ผลิตในไทยไปยังตลาดยุโรปทดแทน อย่างไรก็ดี เนื่องจากต้นทุนการผลิตในไทยอาจสูงกว่าผลิตในจีน เพราะค่ายรถจีนเพิ่งจะเริ่มเดินสายการผลิตในไทยปีหน้า ทำให้ยังไม่ถึงจุดที่ได้ Economies of scale จึงอาจทำให้ไทยได้โอกาสส่งออกทดแทนไปยุโรปแค่บางส่วน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในจำนวนกำลังการผลิต BEV ปี 2567 ของค่ายจีนในไทยที่น่าจะทำได้ไม่น้อยกว่า 70,000 คันนั้น มีโอกาสที่จะส่งออกไปตลาดยุโรปราว 10,000 คัน ซึ่งแม้จะยังน้อยหรือคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 8% ของยอดขาย BEV ค่ายจีนทั้งหมดในยุโรปที่อาจขายได้ไม่ต่ำกว่า 130,000 คันในปีหน้า แต่ก็จะนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการส่งออก BEV จากไทยไปยุโรป
อย่างไรก็ดี ตัวเลขคาดการณ์ส่งออกมีโอกาสต่ำกว่าที่คาดได้ หากคำตัดสินออกมาล่าช้าหรือแม้แต่มีประเด็นที่ส่งผลให้ทิศทางการตัดสินของคณะกรรมาธิการยุโรปเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะจากความเห็นที่ยังไม่ลงรอยกันเองในกลุ่มประเทศอียูต่อแนวทางการเก็บภาษีต่อต้านการอุดหนุนดังกล่าว และยังมีกรณีที่จีนอาจมีมาตรการตอบโต้ออกมาที่อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต BEV ในยุโรป เนื่องจากจีนครองตลาดห่วงโซ่อุปทานการผลิตแบตเตอรี่อยู่
3 ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตตลาด EV โลก
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่ายอดขายเละยอดผลิตรถ EV ทั่วโลกในช่วงระหว่างปี 2022 - 2030 จะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 20% และ 33% ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจาก 1) นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อาทิ ไทย บราซิล และอินเดีย ที่ต่างมุ่งส่งเสริมการใช้งานและการลงทุนในอุตสาหกรรม EV 2) การเปิดรับจากฝั่งผู้บริโภค โดยเฉพาะหลังเผชิญราคาพลังงานที่ผันผวน รวมถึงต้นทุนการเป็นเจ้าของรถ EV ก็ทยอยลดลงต่อเนื่อง และคาดว่าในระยะยาวจะต่ำกว่ารถสันดาปจากค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและการบำรุงรักษา และ 3) การรุกตลาดของค่ายรถยนต์จีนที่ทำให้ตัวเลือกในตลาดรถยนต์ EV มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในด้านรูปลักษณ์ ฟังก์ชันการใช้งาน และระดับราคา
ผู้ผลิตยานยนต์สันดาปจำนวนไม่น้อยกำลังทยอยปรับตัวให้สอดรับกับกระแสนิยมและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
SCB EIC ได้ศึกษาแผนการลงทุนของบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ทั่วโลกและพบว่า ค่ายรถจากฝั่งตะวันตก อาทิ BMW Mercedes-Benz และ Volkswagen มีการเปลี่ยนผ่านที่เท่าทันกับกระแส EV ทั้งในด้านการเพิ่มความหลากหลายของโมเดลรถยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาแบตเตอรี่ EV ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะที่เจ้าตลาดเดิมจากฝั่งตะวันออก เช่น Toyota Honda และ Nissan กลับมีแนวทางการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ SCB EIC คาดว่า การแข่งขันในตลาดรถยนต์ทั่วโลกจะทวีความรุนแรง โดยกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนที่ปรับตัวได้ช้าจะเผชิญความเสี่ยงจากการสูญเสียส่วนแบ่งทางตลาด ขณะที่ผู้บริโภคจะได้รับอานิสงส์จากตัวเลือกในตลาดที่มีความหลากหลายมากขึ้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC นัยต่อเศรษฐกิจไทยจากการก้าวไปเป็น Regional EV hub ไม่เพียงแต่จะมาจากภาคการส่งออก แต่ยังเชื่อมโยงกับมูลค่าเพิ่มจากภาคธุรกิจที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรม EV ที่กำลังทยอยเกิดขึ้นอย่างครบวงจรภายในประเทศอีกด้วย ทั้งอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ สถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมถึงกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนบางประเภท ซึ่งเดิมเป็น Supplier ให้กับผู้ผลิตรถสันดาป
อย่างไรก็ตาม กระแสนิยมยานยนต์ไฟฟ้าก็นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์บางกลุ่ม
แม้ว่าการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นโอกาสต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่อุปทาน แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์บางกลุ่มมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มความต้องการที่ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบส่งกำลังและเชื้อเพลิง โดย SCB EIC คาดว่า มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมเหล่านี้จะปรับลดลง 3.8 พันล้านบาท หรือราว 10% จากปี 2022 หากรถ EV สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 15% ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลกภายในปี 2025
ความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คือ การเร่งพัฒนาระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้า และการส่งเสริมภาคธุรกิจให้สามารถปรับตัวได้สอดรับกับความต้องการใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น
SCB EIC ประเมินว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเผชิญกับความท้าทายสำคัญ 2 ประการ คือ 1) การสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานและระบบนิเวศน์ EV ให้เกิดขึ้นภายในประเทศอย่างครบวงจร เพื่อลดการนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนจากต่างประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มจากกิจกรรมการผลิตที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นเป็นหลัก
2) การส่งเสริมภาคธุรกิจให้สามารถปรับตัวและมีความพร้อมสำหรับโอกาสใหม่ๆ โดยกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตไปพร้อม ๆ กับตลาด EV อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มอเตอร์ไฟฟ้า ยางล้อ และชุดสายไฟ ควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ ขณะที่กลุ่มเปราะบางควรมีแนวทางการขยายฐานลูกค้าในต่างประเทศ อาทิ ชิ้นส่วนสำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV คาดว่าจะเกิดขึ้นช้ากว่า รวมถึงการเจาะตลาดอะไหล่ (REM) ซึ่งอุปสงค์ยังเติบโตได้ตามอายุการใช้งานรถยนต์ที่ยาวนานขึ้นในหลายประเทศ