'ฉางอาน' เปิดตัวรถ 15 รุ่น 3 แบรนด์ เพิ่มลงทุนไทย 2 หมื่นล้าน
ฉางอาน ออโตโมบิล (Changan Automobile) ประกาศเข้ามาทำตลาดในไทยพร้อมแผนธุรกิจเบื้องต้น คือ ลงทุน เฟสแรก 8,860 ล้านบาท พร้อมประเดิมวางศิลาฤกษ์โรงงานประกอบรถที่ระยองเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ล่าสุด ฉางอาน เพิ่มเป้าหมายอีกหลายอย่าง ทั้งการผลิต และแบรนด์รถในไทย
เบื้องต้น ฉางอาน (Changan) กำหนดเป้าหมายการผลิตปีละ 1 แสนคัน เริ่มต้นได้ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2568
พร้อมกับเตรียมเปิดตัวรถยนต์ 2 รุ่นในไทย คือ Deepal S07 และ Deepal L07 โดยจะประกาศราคาอย่างเป็นทางการในงาน มหกรรมยานยนต์ที่จะเริ่มต้นในรอบสื่อมวลชนวันที่ 29 พ.ย.
ล่าสุด ฉางอาน ออโตโมบิล จัดกิจกรรมเปิดตัวบริษัทในไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมประกาศแผนธุรกิจเพิ่มเติม
จู ฮว๋าหรง ประธานบริษัท ฉางอาน ออโตโมบิล ระบุว่า ฉางอาน มีเป้าหมายในภายในปี 2573 คือ การลงทุนรวม 2 หมื่นล้านบาท และโรงงานมีความสามารถในการผลิต (capacity) 2 แสนคัน/ปี เพื่อรองรับตลาดทั้งในประเทศ และการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศที่ใช้พวงมาลัยขวา รวมถึง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้
ขณะที่แผนด้านผลิตภัณฑ์มีเป้าหมายเปิดตัวรถให้ได้ 15 รุ่น ภายในปีดังกล่าว โดยจะทำตลาด 3 แบรนด์ คือ
- Deepal
- Avatar
- Nevo
Avatar เป็นแบรนด์เรือธง โดยเฉพาะรุ่น 11 และ 12 ขณะที่ Nevo เป็นรถแบบคลาสสิค แต่จะอัดแน่นด้วยเทคโนโลยี ดิจิทัล ปัจจุบันมีทำตลาด 3 รุ่น คือ A05 A07 และ Q05
ขณะที่ Deepal ที่จะเป็นแบรนด์แรกที่เปิดตัวในไทย เป็นแบรนด์ใหม่ล่าสุด เปิดตัวในจีนเมื่อประมาณ 10 เดือนที่แล้ว และประความสำเร็จมากกับยอดจองที่ทะลุ 1 แสนคันไปแล้ว
ทั้งนี้ Deepal พัฒนาขึ้นบนแพลทฟอร์มที่ออกแบบมาสำหรับการพัฒนารถ อีวี โดยเฉพาะ
นอกจากนี้การลงทุนไทยจะมีทั้งการตั้งศูนย์ธุรกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งศูนย์อะไหล่ ศูนย์ชิ้นส่วน ตามแผนการที่ให้ไทยเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการขยายธุรกิจโลก หรือ Vast Ocean Plan และไทยก็จะเป็นประตูสู่อาเซียนของฉางอานอีกด้วย
ทั้งนี้ฉางอานให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมาระยะหนึ่งแล้ว และเริ่มต้นเข้ามาศึกษาตลาด และรายละเอียดต่างๆ 3 ปี ซึ่งรวมถึงการสำรวจผู้บริโภคกว่า 1 หมื่นคน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำว่า คนไทยต้องการอะไร
จูกล่าวว่า สำหรับแผนการขยายตลาดโลกนั้น ฉางอาน กำหนดเป้หามายภายในปี 2573 คือ การลงทุนนอกจีนรวม 1 หมื่นล้านดอลลาร์ มีพนักงานต่างประเทศกว่า 1 หมื่นคน และและมียอดขายต่อปีในปีดังกล่าว 5 ล้านคัน อยู่ใน Top 10 ของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก
ส่วนปัจจุบัน ถึงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ฉางอานมียอดขายทั่วโลก 2.11 ล้านคัน
เคลาส์ ซิซิโอรา รองประธานบริหารกล่าวว่า ฉางอานกำหนดกลยุทธ์ระดับโลกช่วงสองสามปีที่ผ่านมา และส่วนสำคัญที่จะไปสู่เป้าหมายสำคัญได้ สิ่งหนึ่งคือผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉางอานให้ความสำคัญมาก ปัจจุบันมีศูนย์วิจัยและพัฒนา ศูนย์ออกแบบหลายแห่งทั่วโลก วิศวกร ช่างเทคนิค และทีมออกแบบจาก 30 ประเทศ เพื่อให้ได้รถที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่สุด
“รถของฉางอาน ที่พัฒนาจะเป็นโมเดลระดับโลก แต่ว่าจะมีความแตกต่างกันบ้างในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้ตรงกับความต้องการที่แตกต่างในแต่ละตลาด”
โดยเป้าหมายของฉางอาน คือ การเปิดตัวรถรวม 60 รุ่น ภายในปี 2573
นอกจากนี้ที่ผ่านมา ฉางอาน พัฒนาระบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง หลายอย่างเป็นครั้งแรกของโลก จดสิทธิบัตรใหม่เฉลี่ยวันละ 18 สิทธิบัตร และยังเตรียมที่จะเปิดตัวแพลทฟอร์มใหม่ SDA Platform ที่มีแนวคิดคือ New Auto New Ecosystem
จูกล่าวว่า การที่ฉางอาน เข้ามาประเทศไทย ส่วนหนึ่งฉางอานเห็นความรวดเร็วของประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทที่มั่งมั่นสร้างรถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“นอกจากนี้ ฉางอานยังมุ่งหวังที่จะเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างประเทศจีนและประเทศไทย ผ่านการยกระดับเทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างรากฐานนวตกรรมสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน”
ด้านพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า รัฐบาลไทยพูดคุยกับฉางอานมาหลายปี และยินดีที่ฉางอานตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งเป็นการยืนยันถึงความพร้อมของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในหลายๆ ด้าน มีความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานทั้งท้างรถ ทางราง น้ำ และอากาศ ที่พัฒนามาตลอดช่วง 8 ปี
และมีเป้าหมายเกี่ยวกับ อีวี ที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น นโยบาย อีวี 3.0, อีวี 3.5 หรือเป้าหมาย 30@30 หรือ การมียอดจำหน่าย อีวี 30% ภายในปี 2030 หรือ 2573
ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ เช่น บีโอไอ ก็มีความชัดเจนในด้านการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงการเปิดศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติที่ได้มาตรฐาน ทำให้ผู้ที่ต้องการลงทุน สามารถใช้บริการได้