มิตซูบิชิ 'Triton Athlete' เครื่องยนต์-ช่วงล่าง แบบนี้ ใช่เลย
มิตซูบิชิ ไทรทัน โฉมใหม่ เปิดตัวช่วงเดือน ก.ค. 2566 เป็นการเปลี่ยนโฉมในรอบ 9 ปี ซึ่งจะว่าลากยาวก็ยาว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะใช้เวลาในการพัฒนารายละเอียดบางอย่างให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด หนึ่งในนั้นคือช่วงล่างที่พัฒนาร่วมกับออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่
และถ้าถามว่าคุ้มกับการรอคอยการพัฒนากว่า 5 ปีไหม ในด้านการตลาดผมไม่แน่ใจ แต่ในเชิงการใช้งาน การขับขี่ ผมว่ามันน่าสนใจเลย
ถ้าพูดถึงโดยรวมตั้งแต่เปิดตัว ยอดขาย มิตซูบิชิ ไทรทัน ไม่น่าจะดีนัก ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากภาพรวมตลาดปิกอัพที่ตกกันแบบกราวรูด โดยปี 2566 ตลาดรวมติดลบถึง 31.8% ขณะที่เปิดหัวปี 2567 เดือน ม.ค. ติดลบ 43.5%
เป็นการติดลบถ้วนหน้าทุกยี่ห้อ จากปัจจัยลบหลายๆ อย่าง ที่สำคัญคือ ความเข้มของไฟแนนซ์
ก็เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต่างๆ จะต้องไปหาทางแบ่งเบาภาพลบกัน
ย้อนกลับมาที่ มิตซูบิชิ ไทรทัน ช่วงเปิดตัวแรกๆ ก็มีหลายความคิดเห็นในเรื่องของรูปลักษณ์ หน้าตา ก็เอาเป็นว่าอยู่ที่ความชอบของแต่ละคน แต่ผมว่ามันก็ดูไม่เลว และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
แต่ด้านการขับขี่นั้นทำได้ดี กับการลองขับรุ่น Plus 2.4 Ultra AT 4 ประตู ขับเคลื่อน 2 ล้อยกสูง เครื่องยนต์เทอร์โบเดี่ยวแปรผัน หรือ VG Turbo
แต่ล่าสุดการมาของ แอทลีท (Ahelete) หรือตัวท็อป ตัวจัดเต็ม ดูจะได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งเรื่องของรูปลักษณ์หน้าตาที่ปรับแต่งใหม่หลายส่วน ทำให้ดูพรีเมียมและดุดันมากขึ้น
แอทลีท มีสิ่งที่แตกต่างจากรุ่นอื่น คือ เครื่องยนต์เทอร์โบคู่ 204 แรงม้า พวงมาลัยไฟฟ้า ส่วนรายละเอียดการตกแต่งที่แตกต่างก็คือ ล้ออัลลอย สีดำ แต่ขนาดเท่าตัวอัลตร้า 265/60 R18
ตกแต่งซุ้มล้อด้วยคิ้วสีดำ กระจกมองข้าง, ราวหลังคา, มือจับเปิดประตูภายนอก คิ้วตกแต่งกันชนหน้าและกันชนหน้า, สปอร์ตบาร์ ทั้งหมดนี้ใช้สีดำเงา และมีพื้นปูกระบะท้ายเป็นอุปกรณฺ์มาตรฐานมาให้ด้วย
ภายในห้องโดยสาร เบาะหนังสีส้มสลับดำ ด้ายเย็บสีส้ม เช่นเดียวกับพวงมาลัย คอนโซลหน้า และแผงข้างประตูที่เดินตะเข็บสีส้มเช่นกัน และก็ปรับเพดานหลังคาให้เป็นสีดำ และเพิ่มที่วางแก้วนำบริเวณใต้ช่องแอร์ที่คอนโซลหน้าชิดกับประตู 2 ตำแหน่ง ซ้ายและขวา
ส่วนออปชั่นมาตรฐานหลักๆ ที่มีมาให้ก็ไม่น้อย เช่น กระจกบังลมหน้าตัดแสง UV ไฟหน้า แอลอีดี พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่น มาตรวัด เรืองแสง Optitron หน้าจอแสดงข้อมูลขับขี่ MID แบบสี LCD 7 นิ้ว
เบาะผู้ขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง และมีระบบดันหลังปรับด้วยไฟฟ้ามาให้ด้วย ระบบปรับอากาศแยกอิสระซ้าย-ขวา พร้อมโบเวอร์ กระจายความเย็นสำหรับผู้โดยสารแถวหลัง
จอกลางทัชสกรีน 9 นิ้ว ใช้งานได้ลื่นไหล รองรับแอ๊ปเปิ้ล คาร์เพลย์ และแอนดรอยด์ ออโต้ แบบไร้สาย ที่ชาร์จโทรศัพท์ไร้สาย ช่องเชื่อมต่อยูเอสบีมีทั้งไทป์ เอ และไทป์ ซี ช่องจ่ายไฟ 12 โวลต์ 2 ตำแหน่ง ระบบนำทาง เครื่องเสียงพร้อมลำโพง 6 ตำแหน่ง
พูดถึงเครื่องเสียงผมว่าเป็นอีกรุ่นที่ให้คุณภาพเสียงที่ดีเลยครับ มีมิติ ฟังได้เพลิน
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน หรือ Adaptive Cruise Control กล้องมองภาพรอบทิศทาง ซึ่งเมื่อใช้งานออฟโรด ก็ช่วยได้มากในการมองสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เมือความเร็วไม่เกิน 10 กม./ชม.
ระบบความปลอดภัยและช่วยเหลือการขับขี่ก็เช่นระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ระบบป้องกันการลื่นไถล ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ ระบบเตือนการชนด้านหน้า และช่วยชะลอความเร็ว ระบบตัดกำลังเครื่องยนต์ถ้าพบว่าการเหยียบคันเร่งผิดพลาด ระบบเตือนจุดอับสายทั้งช่วงการขับทั่วไป และถอยหลัง ระบบเตือนการเปลี่ยนเลน
ถุงลม 7 ตำแหน่ง คือด้านหน้า 2 ด้านข้าง 2 ม่านถุงลม 2 และถุงลมป้องกันหัวเข่าผู้ขับอีก 1
ส่วนเบรกมือยังเป็นแบบคันโยกอยู่ ก็แล้วแต่ครับว่าผู้ขับเห็นความจำเป็นของการต้องเป็นเบรกมือไฟฟ้าหรือเปล่า เท่านั้นเอง
พูดถึงห้องโดยสาร โดยรวมกว้างขวางนั่งสบาย แต่ว่าเบาะหลังในส่วนของเบาะรองนั่งอาจจะสั้นไปนิด ถ้าหากเพิ่มให้ยาวขึ้น หรือออกแบบกดตรงส่วนรองก้นให้เป็นหลุมลงไป ก็จะให้ปลายเบาะรองรับต้นขาได้ดียิ่งขึ้น
และที่สำคัญในเชิงเทคนิคก็เปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นก่อนหน้านี้ ทั้งเครื่องยนต์ที่มีสมรรถนะสูงขึ้น พวงมาลัยที่เป็นแบบพาวเวอร์ไฟฟ้า โดยมีราคา 1,125,000 บาท ในรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ และ 1,298,000 บาท ในรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ
ในด้านเครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล รหัส 4N16 แบบ 4 สูบ แถวเรียง เทอร์โบแปรผัน MIVEC ขนาด 2.4 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 204 แรงม้า ที่ 3,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 470 นิวตันเมตร ที่ 1,500-2,750 รอบ/นาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด
- เครื่องยนต์ - ดีเซล คอมมอน เรล เทอร์โบ แปรผัน MIVEC
- ความจุ - 2,442 ซีซี
- กำลังสูงสุด - 204 แรงม้า/ 3,500 รอบต่อนาที
- แรงบิดสูงสุด - 470 นิวตันเมตร/1,500-2,750 รอบต่อนาที
- เกียร์ - อัตโนมัติ 6 สปีด
- ยาวxกว้างxสูง - 5,360x1,930x1,815 มม.
- ระยะฐานล้อ -3,130 มม.
- ความสูงใต้ท้องรถ - 222 มม.
- ช่วงล่างหน้า -อิสระปีกนก 2 ชั้น คอยล์สปริง ช็อค แอบซอร์เบอร์
- ช่วงล่างหลัง - แหนบแผ่นซ้อน
- เบรกหน้า/หลัง - ดิสค์เบรกพร้อมช่องระบายความร้อน/ดรัมเบรก
สำหรับเทอร์โบของ 4N16 เป็นเทอร์โบคู่ ลูกเล็กกับลูกใหญ่เพื่อให้สามารถตอบสนองการใช้งานในทุกย่านความเร็วตั้งแต่ความเร็วต่ำๆ ไปจนถึงความเร็วสูง
ตรงนี้ต้องยอมรับครับว่า มิตซูบิชิ ทำได้ดีจากการลองขับที่เชียงใหม่ ซึ่งมีทั้งการขับขี่ในเมืองที่รถหนาแน่น ไปจนถึงติดหนึบช่วงรอสัญญาณไฟเขียว และออกนอกเมืองผ่านแม่ริม แม่แตง ก่อนขึ้นไปป่าโหล เชียงดาว
ที่ผมชอบคือ การตอบสนองของเครื่องยนต์ช่วงการขับขี่ในเมืองมันนุ่มนวล การออกตัว การเพิ่มความเร็ว ลื่นไหล หนีภาพของปิกอัพไปให้อารมณ์ใกล้เคียงกับรถยนต์นั่ง ไม่มีจังหวะฟืดฟาดหรือกระชากกระชั้นถ้าคุมคันเร่งดีๆ
ทำให้การขับในเมืองแบบนี้มีความคล่องตัวสำหรับรถที่มีความยาวตัวถัง 5,360 มม. กว้าง 1,930 มม. และขับสบายๆ รู้สึกผ่อนคลาย ส่วนรัศมีวงเลี้ยว 6.2 เมตร แม้จะมากกว่าโฉมเดิมซึ่งอยู่ที่ 5.9 เมตร แต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์แคบ ทำให้ใช้งานสะดวก
และเมื่อมองว่า แอทลีท เป็นรถสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันหรือไลฟ์สไตล์มากกว่าการใช้งานเชิงพาณิชย์ นั่นยิ่งตอบโจทย์ครับ
และไม่ใช่แค่ใช้งานในเมืองครับ เมื่อขับออกนอกเชียงใหม่มุ่งหน้าเชียงดาว ได้ใช้ความเร็ว การไล่ความเร็วทำได้ต่อเนื่อง แม้บางช่วงที่เรียกกำลังเพิ่มอย่างรวดเร็วจะได้ยินเสียงเครื่องคำรามจากการเค้นกำลังบ้าง แต่การเคลื่อนที่ของรถลื่นไหลดี
ช่วงล่างนิ่ง การคุมพวงมาลัยทำได้สบายๆ และช่วงที่ผ่านเขาผ่านโค้งเยอะๆ ก็ได้คำตอบว่าช่วงล่าง แอทลีท พร้อมรับกับสถานการณ์เช่นนี้ครับ แม้บางช่วงรับรู้ได้ถึงแรงหนีศูนย์ที่ทำให้ยางร้องบนผิวถนนจากความเร็วที่ไม่น้อย แต่รถก็ยังอยู่ในเส้นทางที่ควรจะเป็น ถือว่าสอบผ่านกับทางเรียบครับ
จากนั้นก็ถึงเวลาของทางออฟโรดกันบ้างกับเส้นทางที่ขึ้นไปยังป่าโหล เชียงดาว เริ่มจากทางปูนแคบๆ วัดได้ประมาณเลนครึ่ง แต่บางช่วงเขาก็ตีเส้นแบ่งเลนเอาไว้ (ไม่รู้ว่าตีทำไม) ก่อนที่จะป็นทางพื้นผิวธรรมชาติ ดิน หิน หลุมร่อง เนินชัน
มิตซูบิชิ ไทรทัน มีจุดขายเด่นอย่างหนึ่งสำหรับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ คือ Super Select 4WD-II ที่มีโหมดการขับที่มากกว่าคู่แข่งในตลาด
- 2H สำหรับขับขี่ทั่วไป
- 4H การขับขี่บนถนนเปียกลื่นที่ใช้ความเร็ว
- 4HLC การขับขี่เส้นทางทุรกันดาร แต่ใช้ความเร็วได้ โดยจะมีดิฟ ล็อค กลาง กระจายกำลังไปหน้าและหลัง 50/50
- 4LLC การขับขี่ในเส้นทางทุรกันดาร โคลน เนินสลับ หรือเนินชัน ที่ใช้ความเร็วต่ำ
แต่เส้นทางที่ขับไม่ถึงกับต้องพึ่งพา 4 LLC แม้จะมีหลายช่วงที่เป็นเนินชัน แต่ 4HLC ก็จัดการได้เพียงพอ การปีนไต่ไม่มีปัญหาอะไร เครื่องยนต์ก็ไม่ต้องทำงานหนัก แตะคันเร่งเบาๆ อยู่ประมาณ 1,500-1,600 รอบ/นาที ก็ขึ้นได้สบายๆ
และบางช่วงบางโค้ง ก็ลองเข้าไปด้วยความเร็วจุดนี้ก็ต้องชมเช่นกันว่าทางลื่นๆ แบบนี้แต่ยังคุมทิศทางได้ดี เกาะเส้นทางได้ดี ซึ่งแอทลีทก็มีตัวช่วยหลายอย่าง รวมถึง AYC สำหรับควบคุมการขับขี่ในทางโค้ง ที่เป็นจุดขายของเขา
จุดที่ต้องพูดถึงอีกอย่างคือช่วงล่างที่ทำได้ดี รองรับเส้นทางแบบนี้ได้ดีในด้านของการดูดซับแรงสั่นสะเทือนที่หนีภาพปิกอัพช่วงล่างหลังแหนบแผ่นซ้อนอย่างชัดเจน ทำให้นั่งได้สบาย การกระแทกกระทั้นน้อยมาก และนอกจากนี้ในด้านโครงสร้างแชสซีส์ และตัวถัง ไม่รู้สึกถึงอาการบิดตัวของตัวถัง
เรียกว่าทำออกมาโดยรวมได้ดีเลย ไม่ว่าจะเป็นสมรรถนะเครื่องยนต์ ช่วงล่าง หรือตัวถังที่รองรับการใช้งานได้เอนกประสงค์
แต่จะเป็นอย่างที่ผมว่าจริงไหม แนะนำว่าต้องลองครับ ลองให้รู้ ลองให้ตรงกับสิ่งที่เราต้องการ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหามาใช้งาน