'ซูบารุ' หยุดผลิตในไทย หนีสงครามราคา หันนำเข้าญี่ปุ่นเจาะตลาดบน
ซูบารุ ปรับแผนธุรกิจ ยุติสายการผลิตในไทยสิ้นปีนี้ รับสู้สงครามราคาไม่ได้ เปลี่ยนโมเดลหันนำเข้ารถจากญี่ปุ่นทั้ง ไทย มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา ขยับตลาดขึ้นบนเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่มแทน
ซูบารุ ในประเทศไทย ดำเนินงานโดยกลุ่มตันจง มาเลเซีย ด้วยรูปแบบการนำเข้ามาทำตลาด ส่วนใหญ่จากฐานการผลิตในมาเลเซีย ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานผลิตในปี 2562 ในนาม บริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด (TCSAT) ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่าง กลุ่มตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล (TCIL) กับ ซูบารุ คอร์ปอเรชั่น (SBR) ประเทศญี่ปุ่น
โดยตันจง อินเตอร์เนชันแนล ถือหุ้น 74.9% ผ่านบริษัทฯในเครือ คือ บริษัท ทีซี แมนูแฟคแจอริ่ง แอนด์ แอสเซมบลี (ประเทศไทย) จำกัด (TCMA) ส่วนซูบารุ คอร์ปอเรชั่น ถือหุ้น 25.1%
โรงงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีพื้นที่รวมมากกว่า 100,000 ตารางเมตร เงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตเริ่มแรก 6,000 คัน/ปี โดยเป้าหมายคือการผลิตรถยนต์ รุ่น ฟอเรสเตอร์ เพียงรุ่นเดียว รองรับการทำตลาดทั้งในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา โดยมอเตอร์ อิมเมจ กรุ๊ป (Motor Image Group) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ TCIL ที่ความต้องการเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
ขณะที่การทำตลาดในประเทศไทย หลักมาจาก 2 รุ่น คือ ฟอเรสเตอร์ที่ผลิตในประเทศ และ เอ็กซ์วี ซึ่งนำเข้าจากโรงงานเพื่อนบ้านมาเลเซีย โดยอาศัยสิทธิพิเศษด้านภาษีจากเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA (หยุดผลิตแล้วก่อนหน้านี้)
อย่างไรก็ตาม หลังการเปิดสายการผลิตโรงงานในประเทศไทย อุตสาหรรมก็เริ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด -19 ที่ฉุดทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ อุตสหกรรม และเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย การแข่งขันในตลาดรถยนต์ก็เกิดแรงกระเพื่อมสำคัญจากการไหลบ่าเข้ามาของรถยนต์พลังงงานไฟฟ้าหรืออีวีจากจีนพร้อมกับกลยุทธ์ด้านราคา รวมถึงทิศทางราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และตลาดรถยนต์รวมถึงซูบารุด้วยเช่นกัน โดยในช่วงเวลาการตัดสินใจตั้งโรงงานผลิต ซูบารุยังมีสถานการณ์ที่ดี ยอดขายเติบโต โดยปีดังกล่าวมียอดขาย 3,952 คัน
ก่อนที่ปี 2563 ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ชัดเจน ยอดขายซูบารุลดลงเหลือ 1,715 คัน ปี 2564 เมื่อสถานกรณ์คลี่คลายขยับขึ้นมาที่ 2,953 คัน ปี 2565 ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 2,280 คัน และล่าสุดปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 1,682 คัน
ขณะที่ปี 2567 ยอดขายในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ซูบารุมียอดขาย 251 คัน ลดลง 48.6% จากไตรมาสแรกปีที่แล้ว
สถานการณ์การตลาด การแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะสงครามราคา ทำให้ซูบารุตัดสินใจปรับแผนตลาดใหม่ และไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น เช่น มาเลเซีย ก็หยุดการผลิตเอ็กซ์วีไปแล้วก่อนหน้านี้ และล่าสุดคือ การตัดสินใจหยุดสา่ยการผลิตในไทยช่วงสิ้นปีนี้
โดย ตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงได้รายงานการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่วนในประเทศไทย ได้รายงานให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วเช่นกัน เช่น กรมสรรพสามิต
สุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดจากการปรับนโยบายบริษัทแม่รับมือการเปลี่ยนแปลงในตลาดรถยนต์โดยเฉพาะสงครามราคาที่รุนแรง หากซูบารุดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิมจะต้องเข้าสู่สนามรบเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ และไม่เป็นผลดีกับภาพรวมธุรกิจ
ดังนั้น นโยบายใหม่ คือ การหันมาทำตลาดรถนำเข้า (CBU) ทั้งหมดจากสายการผลิตประเทศญี่ปุ่น รวมถึงมาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชาที่เคยนำเข้ารถจากไทย ก็จะหันไปนำเข้าจากญี่ปุ่นแทนเช่นกัน
แน่นอนว่า การทำตลาดรถซีบียูจะมีภาระภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น ทำให้โครงสร้างราคาสูงขึ้น แต่ซูบารุมองว่าดีกว่ามาแข่งขันด้านราคาในตลาดแมส แต่จะขยับไปทำตลาดเฉพาะกลุ่มหรือยูนีคแทน แม้จะมีราคาที่สูงขึ้น แต่ก็จะปรับด้านผลินภัณฑ์ให้มีความพรีเมียมขึ้นเช่นกัน เช่น รถ BRZ ซึ่งก็อาจจะมีเวอร์ชั่น เอสทีไอ เข้ามาทำตลาดเป็นต้น
“การปรับตลาดใหม่ จะเป็นการแยกตลาดชัดเจน และกลุ่มยูนีคทำให้เราไม่ต้องลงมาเล่นในสงครามราคาเหมือนตลาดแมส”
ขณะที่เครือข่ายตัวแทนจำหน่ายซึ่งขณะนี้มีอยู่ 21 ราย รวม 23 สาขา จะยังคงทำธุรกิจกับซุบารุต่อไป และยังสามารถสร้างรายได้จากการบริการหลังการขายที่ถือเป็นรายได้หลักของการทำธุรกิจรถยนต์ ให้กับประชากรซูบารุภายใต้การทำตลาดของบริษัทสะสมกว่า 24,000 คัน
สุรีทิพย์กล่าวเสริมว่า ในส่วนของโรงงานซึ่งจะหยุดสายการผลิตสิ้นปี 2567 จะยังคงเป็นทรัพย์สินที่กลุ่มตันจงเก็บเอาไว้ เพื่อรอโอกาสที่จะใช้ประโยชน์ในอนาคต ขณะที่พนักงานปัจจุบันจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานรวมกับค่าตกใจ