ฮอนด้า ปรับแผน หยุดผลิตรถโรงงานอยุธยา หันพัฒนาชิ้นส่วน - ส่งออก

ฮอนด้า ปรับแผน หยุดผลิตรถโรงงานอยุธยา หันพัฒนาชิ้นส่วน - ส่งออก

ฮอนด้า มีโรงงานผลิตรถยนต์ 2 แห่ง ที่อยุธยา และปราจีนบุรี แต่ตามแผนปรับโครงสร้างใหม่ โรงงานอยุธยาจะยุติการประกอบรถ โดยจะผลักดันให้เป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนทั้งทำตลาดในประเทศ และส่งออก 

บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแผนการดำเนินธุรกิจในไทย โดยเรียกว่า “การปฏิรูปฟังก์ชันสายการผลิตรถยนต์ของไทย” มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินการผลิตรถยนต์สำเร็จรูป รวมถึงเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ xEV หรือการนำพลังงานไฟฟ้าเข้ามาใช้อย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้เพื่อเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม "e:HEV series" ซึ่งเป็นระบบฟูลไฮบริดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของฮอนด้า ที่มีสัดส่วนยอดขายเติบโตขึ้นอย่างมาก

โดยผลประกอบการในปี 2566 รถในกลุ่มนี้มีสัดส่วนการขาย 32% แต่ปี 2567 นี้ ฮอนด้าตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 70% 

และเพื่อให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน บริษัทมีความพร้อมที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตแบบรวมศูนย์ โดยจะปฏิรูปแต่ละโรงงานของเราเพื่อยกระดับโครงสร้าง ประกอบด้วย

โรงงานปราจีนบุรี จะพัฒนาให้เป็นฐานการผลิต และส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป (CBU) ที่สมบูรณ์แบบ โดยการใช้ประโยชน์จากสายการผลิตที่ผสมผสานเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความสามารถในการรองรับธุรกิจ

โรงงานอยุธยา จะหยุดการผลิตรถยนต์ และหันมาพัฒนาเป็นฐานการผลิต และส่งออกชิ้นส่วน โดยใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีการผลิต และห่วงโซ่อุปทานที่พัฒนา และสั่งสมมาเป็นเวลาหลายปี

“เรามุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทที่สังคมต้องการให้ดำรงอยู่ตลอดไป โดยจะผลักดันอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อสนับสนุนตลาดรถยนต์ในประเทศไทย รวมทั้งยังเป็นฐานการส่งออกทั่วโลกเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยด้วย” แถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้ฮอนด้าเริ่มต้นการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยปี 2527 จากนั้นในปี 2539 ได้เปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา เป็นครั้งแรก ก่อนขยายงานด้วยการเปิดสายการผลิตที่ 2 ในปี 2551

และเมื่อประเทศไทยเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 รวมถึงอยุธยา ซึ่งฮอนด้าเป็นหนึ่งในโรงงานที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

ฮอนด้า ปรับแผน หยุดผลิตรถโรงงานอยุธยา หันพัฒนาชิ้นส่วน - ส่งออก

นำไปสู่การตัดสินใจทำลายรถที่เคลื่อนย้ายหนีน้ำไม่ทันรวม 1,055 คัน รวมถึงชิ้นส่วนที่รอการประกอบ แม้จะไม่ถูกน้ำท่วมก็ตาม เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าว่าจะไม่มีรถยนต์ หรือชิ้นส่วนใดจากโรงงานอยุธยา ที่อยู่ท่ามกลางน้ำท่วมยาวนาน หลุดรอดออกสู่ตลาด

โดยผลกระทบครั้งนั้นยังส่งผลให้ฮอนด้าต้องหยุดการผลิตรถในประเทศไทย 6 เดือน ก่อนจะกลับมาเดินสายการผลิตอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2555 โดยในช่วงที่หยุดการผลิตได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้สามารถนำเข้ารถบางรุ่นเข้ามาตลาดได้โดยไม่เสียภาษีนำเข้า คือ Jazz และ Accord

และปี 2556 ฮอนด้าประกาศลงทุนแห่งใหม่เป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่า มูลค่า 17,150 ล้านบาท ที่ปราจีนบุรี

ฮอนด้า ปรับแผน หยุดผลิตรถโรงงานอยุธยา หันพัฒนาชิ้นส่วน - ส่งออก

ปี 2558 บริษัท ฮอนด้า อาร์แอนดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ประกาศสร้างสนามทดสอบรถยนต์ ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ปราจีนบุรี ด้วยเงินลงทุน 1,700 ล้านบาท

ปี 2559 รถยนต์ ฮอนด้า ซีวิค เจเนอเรชันที่ 10 เป็นรถรุ่นแรกที่โรงงานฮอนด้าปราจีนบุรี 

ฮอนด้า ปรับแผน หยุดผลิตรถโรงงานอยุธยา หันพัฒนาชิ้นส่วน - ส่งออก

ปี 2560 ฮอนด้าเปิดสนามทดสอบในประเทศไทย เพิ่มศักยภาพการวิจัย และพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย และโอเชียเนีย ที่ปราจีนบุรี 

ฮอนด้า ปรับแผน หยุดผลิตรถโรงงานอยุธยา หันพัฒนาชิ้นส่วน - ส่งออก

การลงทุนหลายส่วนที่ปราจีนบุรี ในช่วงเวลานั้นหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าฮอนด้าจะย้ายการผลิตไปปราจีนบุรีทั้งหมด เพื่อลดความเสี่ยงน้ำท่วมอยุธยา 

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาฐานการผลิตทั้ง 2 แห่ง ก็เปิดสายการผลิตรถยนต์ด้วยกันทั้งคู่ 

โดยปัจจุบัน โรงงานอยุธยา มีความสามารถในการผลิตสูงสุด (capacity) 150,000 คัน/ปี โดยผลิต Accord, BR-V, HR-V, CR-V, Civic

ขณะที่โรงงานปราจีนบุรี มีกำลังการผลิต 120,000 แสนคัน/ปี รองรับการผลิต Civic Hatchback, Jazz, City Sedan, City Hatchback และล่าสุดคือ การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) รุ่นแรกของฮอนด้า คือ e:N1

 

ฮอนด้า ปรับแผน หยุดผลิตรถโรงงานอยุธยา หันพัฒนาชิ้นส่วน - ส่งออก

สำหรับการปรับเปลี่ยนแผนการผลิตครั้งนี้ ถูกจับตาพอควร เนื่องจากเกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดรถยนต์ไทยหดตัวอย่างต่อเนื่อง  การเข้ามาตีตลาดของ อีวี จากจีน รวมถึงข่าวคราวการประกาศหยุดการผลิตรถยนต์ของแบรนด์ญี่ปุ่น 2 แบรนด์ก่อนหน้านี้ คือ ซูบารุ ที่มีผลช่วงปลายปีนี้ และซูซูกิ มีผลปลายปี 2568

อย่างไรก็ตาม หากดูภาพรวมของตลาดรถยนต์ที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 ล่าสุดช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) พบว่าฮอนด้า มียอดขายรวม 37,374 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4.3% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่อยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี ถ้าเทียบกับหลายแบรนด์ หรือ ตลาดรวมที่ติดลบ 23.8%

แต่ก็มีความเป็นได้ที่ฮอนด้าจะรวมการผลิตไว้ในแห่งเดียว เพื่อบริหารต้นทุน ในภาวะที่ตลาดรถยนต์หดตัว อีกทั้งที่ปราจีนบุรีเป็นโรงงานที่มีเทคโนโลยีสูงกว่า และยังมีศูนย์ อาร์แอนด์ดี และสนามทดสอบในย่านเดียวกัน ทำให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น 
 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์