แพคท์คู่ OMODA 5 EV - JAECOO 6 EV เปิดตัว 6 สิงหาคม
โอโมดา แอนด์ เจคู พร้อมลุยตลาด อีวี ดีเดย์ เปิดตัว 2 แบรนด์ OMODA 5 EV และ JAECOO 6 EV รุ่นพวงมาลัยขวาเป็นครั้งแรก 6 สิงหาคมนี้
บริษัท โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทในเครือ เชอรี (Chery) ผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีน เตรียมเปิดตัวรถยนต์ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกวันที่ 5 สิงหาคม ที่จะถึงนี้พร้อมกัน 2 แบรนด์ และถือเป็นการเปิดตัวรุ่นพวงมาลัยขวาครั้งแรกทั้งคู่ คือ
- OMODA 5 EV
- JAECOO 6 EV
โดย OMODA 5 EV เป็นรถคอมแพคท์ เอสยูวี ใกล้เคียงกับ BYD ATTO3 มอเตอร์ขับเคลื่อนให้กำลังสูงสุด 201 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 340 นิวตัน-เมตร อัตราเร่ง 0 - 100 กม. 7.2 วินาที ระยะทางขับขี่สูงสุดต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง 505 กม. ตามมาตรฐาน NEDC
ส่วนการชาร์จไฟรองรับการชาร์จเร็ว หรือ DC Charge โดยการชาร์จ 30%-80% ใช้เวลา 28 นาที
รูปลักษณ์ภายนอกของ OMODA C5 EV เน้นออกแบบให้ร่วมสมัยกับ อีวี ภายในเน้นออกแบบให้ได้อารมณ์พรีเมียม และใส่เทคโนโลยีหลายอย่าง เช่น หน้าจอคู่ความละเอียดสูง 2 จอ ขนาด 24.6 นิ้ว ไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสารปรับสีได้ ช่องชาร์จไร้สาย เป็นต้น
ส่วน JAECOO 6 EV เป็นรถในรูปแบบ เอสยูวี ที่มีรูปทรงที่ดุดันมากกว่า ตัวถังมีความยาว 4,406 มม. กว้าง 1,910 มม. สูง 1,715 มม.
ระยะฐานล้อ หรือ Wheelbase 2,715 มม.
มาพร้อมระดับขับเคลื่อน 4 ล้อ มอเตอร์คู่ ให้กำลังสูงสุด 279 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 385 นิวตันเมตร แบตเตอรีความจุ 69.8 kWh รองรับการขับขี่สูงสุด 470 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน NEDC
ทั้งนี้สำหรับ เชอรี แสดงความสนใจที่จะเข้ามาทำตลาดในไทยและภูมิภาคอาเซียนได้ระยะหนึ่งแล้ว และช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม 2566 เปิดตัวอย่างเป็นทางการในมาเลเซีย แต่จะเน้นตลาดรถทีใช้เครื่องยนต์
โดยในช่วงการเปิดตัวที่มาเลเซีย “ชอว์น ซู” รองประธานฝ่ายต่างประเทศ พูดถึงตลาดตลาดเมืองไทยว่าแผนการทำตลาดจะไม่มีแต่อีวีเท่านั้น แต่จะมีรถพลังงานอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นไฮบริด หรือ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด
ซู ระบุว่า แม้ว่าตลาดอีวี ไทยจะเติบโตรวดเร็ว และน่าสนใจ แต่ตลาดกลุ่มไฮบริดยังมีความแข็งแกร่ง และมีขนาดตลาดที่ใหญ่กว่า ดังนั้นจึงไม่สามารถมองข้ามไปได้
อย่างไรก็ตามแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเชอรี จะเป็นในรูปแบบ หลายพลังงานบนแพลทฟอร์มเดียวกัน นั่นหมายถึงเป็นการเปิดทางเลือกให้ลูกค้าว่ารถหนึ่งรุ่นจะต้องการใช้พลังงานแบบไหน
และแน่นอนว่าในแง่ของการทำธุรกิจ และภาคการผลิตความยืดหยุ่นของรถโมเดลเดียวกัน ต่างกันหลายชนิดพลังงาน แต่สามารถผลิตบนสายพานเดียวกันได้ ทำให้บริษัทสามารถปรับการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้รวดเร็ว
ส่วนแนวทางการทำตลาดในไทยปี 2567 จะเตรียมการด้านการผลิตในไทย อย่างไรก็ตามรายละเอียดความคืบหน้าทั้งเรื่องของการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ (BOI) จะเป็นอย่างไรน่าจะได้คำตอบในวันที่ 6 สิงหาคมนี้
อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานั้น เชอรี ระบุว่ามอง 2 แนวทางคือ การหาพันธมิตรร่วมทุน หรือไม่ก็เป็นการลงทุนโดยเชอรีเอง 100% ซึ่งไม่ว่าจะออกมาแนวทางไหน บริษัทก็มีความพร้อมทั้งสิ้น แม้ว่าจะลงทุนเองทั้งหมด บริษัทมีทุนเพียงพอ
ทั้งนี้เชอรีมีโรงงานประกอบรวม 10 แห่งทั่วโลก และในภูมิภาคอาเซียนมีการประกอบที่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดอาเซียนแห่งแรกที่เชอรีเข้ามาบุกตลาด ขณะที่การเปิดตัวในมาเลเซียปีที่แล้ว มีการผลิตด้วยการร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจใหญ่ “ไซม์ ดาร์บี้”
โดยสายการประกอบของ เชอรี เป็นส่วนหนึ่งของโรงงานไซม์ ดาร์บี้ ที่ปัจจุบันผลิตรถหลายยี่ห้อ โดยเข้าไปลงทุนในส่วนสายการผลิตเชอรี