ซ่อมรถนอกตำรา

ซ่อมรถนอกตำรา

วงจรชีวิตของรถยนต์แตกต่างกันไปตามเวลา คนขายรถยนต์ในครั้งที่ผมยังเป็นเด็ก หรือพูดให้ถูกก็ต้องบอกว่าคนขายรถยนต์ เมื่อครั้งประเทศไทยเริ่มมีธุรกิจขายรถยนต์อย่างจริงจัง

หากจะนับเอากันตามวันเดือนปีแบบสากล ผมคิดว่าน่าจะเริ่มนับกันตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้นมา เพราะเริ่มมีการวางรากฐานการสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย มีการนำรถยนต์จากต่างประเทศที่เป็นรถยนต์ใหม่เอี่ยม เข้ามาจำหน่ายให้คนทั่วไปสามารถหาซื้อไว้ใช้งานได้แพร่หลายขึ้น

คนขายรถยนต์ในเวลานั้นแทบจะไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ไม่มีรูปแบบมาตรฐานของห้องแสดงสินค้าหรือโชว์รูม ไม่ต้องมีการตั้งศูนย์บริการเพื่อคอยให้บริการดูแล และซ่อมบำรุงสำหรับรถยนต์ที่ขายกันออกไป เรียกว่าขายแล้วก็ขายขาดไม่ต้องมาเห็นหน้ากันอีกก็ว่าได้ เรื่องการบำรุงรักษาและซ่อมบำรุง ตามกำหนดระยะทางหรือตามกำหนดระยะเวลา ก็เป็นหน้าที่ของคนที่ซื้อรถไปใช้งาน ให้ทำหน้าที่นั้นหรือหาคนมาทำหน้าที่นั้นเอาเอง

การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะทางของรถยนต์ในยุคแรก จึงมีสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหรือที่เรียกว่าปั๊มน้ำมัน เปิดแผนกนี้มาให้บริการ โดยส่วนใหญ่จะมีพื้นที่ด้านหลัง ที่ติดกับอาคารของสถานีบริการ แล้วขุดเป็นหลุมลงไปในพื้นลึกประมาณสัก ๑ เมตร ๕๐ เซนติเมตร หรือกว่านั้น เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับช่างให้เดินลงไปตรวจสอบ หรือทำงานบริการด้านใต้ท้องรถ งานบริการส่วนใหญ่ก็เป็นการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเครื่อง (เพราะกรองน้ำมันเครื่องยุคนั้นสามารถเปลี่ยนเฉพาะไส้ในได้) จากนั้นก็เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์, น้ำมันเฟืองท้าย แล้วก็อัดจาระบีสำหรับหล่อลื่นตามหัวต่อต่างๆ ให้บริการทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็มีกระดาษพิมพ์ตราและชื่อสถานีบริการน้ำมัน พร้อมทั้งระบุวันที่ซึ่งเจ้าของรถจะต้องนำมาเข้ารับบริการครั้งหน้า ห้อยด้วยด้ายเส้นเล็กๆไว้บริเวณก้านสวิตช์ไฟเลี้ยว

เจ้าของรถยนต์อีกส่วนหนึ่งก็จะดูแลรถยนต์ด้วยตนเอง ทั้งการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง, น้ำมันเกียร์, น้ำมันเฟืองท้าย และอัดจาระบี เพราะคนที่เป็นเจ้าของรถยนต์หรือคนขับรถยนต์ในยุคนั้นกว่าจะขับรถยนต์ได้ก็ต้องผ่านการเรียนรู้ว่าจะต้องดูแลรถยนต์อย่างไร เมื่อมีเหตุผิดปรกติเกิดขึ้นต้องแก้ไขอย่างไร เกือบทุกคนจึงสามารถทำการบำรุงรักษาและดูแลเบื้องต้นได้

ช่างตามอู่ซ่อมรถยนต์ในยุคก่อนก็เช่นกัน ส่วนใหญ่กว่าจะเป็นช่างเปิดอู่ได้ ก็ต้องสะสมประสบการณ์มายาวนาน และต้องเรียนรู้ถึงวิธีการแก้ไขปัญหา อะไรที่ซ่อมได้ก็จะซ่อม กว่าจะตัดสินใจเปลี่ยนอะไหล่หรือชิ้นส่วนได้ ก็หมายความว่าเป็นวิธีสุดท้ายหรือเป็นวิธีที่ไม่มีทางเลือกแล้วเท่านั้น เหตุผลอย่างหนึ่งก็คืออะไหล่รถยนต์สมัยก่อน ไม่ได้หาซื้อได้ง่ายๆ เหมือนในปัจจุบัน และมีราคาแพงกว่าเมื่อเทียบกับการซ่อม

ต่างจากรถยนต์สมัยนี้ที่อะไหล่หรือชิ้นส่วนต่างๆหาซื้อได้ง่าย และผู้ผลิตชิ้นส่วนหรือผู้ผลิตชิ้นส่วน ก็พยายามผลิตขึ้นมาในรูปแบบที่ยากจะซ่อมให้กลับมาใช้งานได้ พูดให้ตรงเป้าก็คือเท่ากับบีบให้เปลี่ยนอะไหล่ชิ้นใหม่มากกว่าทำการซ่อมกลับมาใช้งาน ส่งผลถึงเมื่อรถยนต์มีอายุใช้งานไปนานๆ และมีอะไหล่เริ่มชำรุดตามระยะเวลา พอถึงเวลาต้องเปลี่ยนชิ้นนั้นชิ้นนี้หลายๆชิ้นเข้า เจ้าของรถยนต์จึงมักจะคิดว่า “ใช้ต่อไปไม่คุ้ม สู้หาซื้อคันใหม่มาใช้งานแทนดีกว่า” นั่นเอง

แต่ช่วงนี้มีรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมบ่อยครั้ง มีรถยนต์ที่เสียหายเพราะน้ำท่วม หรือถูกโคลนทับถมจำนวนมาก เจ้าของที่มีทุนรอนพอที่จะซ่อม หรือพอซื้อคันใหม่ได้ก็รอดตัวไป หรือในกรณีที่มีการประกันภัยรถยนต์เอาไว้ และได้รับเบี้ยประกันหรือได้รับการซ่อมจนกลับฟื้นสภาพได้ ก็โชคดีไปเช่นกัน แต่คงมีจำนวนมากที่ไม่ได้ทำประกันเอาไว้ หรือได้เงินชดเชยจากประกันภัยแล้ว แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะซ่อมให้กลับคืนสภาพเดิม วันนี้ผมจึงมาแนะนำการซ่อมรถยนต์ให้อยู่ในระดับที่ “พอใช้งานได้” แม้ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมก็ตาม ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้หากเจ้าของรถยนต์ทำใจได้ และเพียงแค่ต้องการรถยนต์มาใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น ก็ลองตัดสินใจดูเอาเองก็แล้วกัน

วิธีการดังกล่าวคือ ตัดบรรดาอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นต่อการขับขี่ออกไปให้หมด ไม่ต้องซ่อมหรือเปลี่ยน เช่น อุปกรณ์ที่เป็นเรื่องของความบันเทิง หรืออุปกรณ์เพื่อความสวยงาม หรือแม้แต่อุปกรณ์ “ช่วยเหลือ” ที่ผู้ผลิตรถยนต์ใส่เข้ามาให้ แล้วทำให้ราคารถยนต์แพงขึ้น และค่าซ่อมบำรุงแพงขึ้น

อุปกรณ์ที่ว่ามานั้น เช่น ระบบกระตุกกลับของเข็มขัดนิรภัย ซึ่งติดตั้งอยู่ใต้เบาะคนขับ และใต้เบาะที่นั่งคนโดยสารตอนหน้า เราก็เอาไว้เฉพาะเข็มขัดนิรภัยก็พอ หรือระบบกล้องรอบคัน หรือระบบกล้องเมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง เราก็ยังสามารถตัดออกไปยังไม่ต้องซ่อมหรือเปลี่ยน แล้วใช้กระจกส่องหลังและกระจกมองข้างทำหน้าที่ หรือระบบอุปกรณ์อีเลคทรอนิคส์ เช่นระบบชาร์จโทรศัพท์แบบไร้สาย, ระบบเตือนเมื่อรถวิ่งออกนอกเส้นทาง, ระบบควบคุมความเร็วคงที่, ระบบสตาร์ตด้วยการกดปุ่ม ก็เปลี่ยนมาเป็นระบบใช้กุญแจแบบดั้งเดิม, ระบบล็อกรถอัตโนมัติเมื่อรถแล่นไปถึงความเร็วในระดับที่กำหนดไว้, ระบบเปิดฝากระโปรงท้ายอัจฉริยะ, ระบบจอเพื่อความบันเทิง หรือแม้แต่จอที่มาตรวัดต่างๆ

หรือท้ายที่สุดก็คือแปลงทั้งระบบ ด้วยการเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นรุ่นเก่าหน่อย ไม่ต้องมีระบบอีเล็กทรอนิกส์มากมาย เพียงเท่านี้ก็สามารถมีรถยนต์กลับมาใช้งานในชีวิตประจำวันได้ โดยไม่ต้องไปเสียเงินจำนวนมาก เพื่อซ่อมให้ทุกอย่างอยู่ในสภาพเดิม ผมย้ำอีกครั้งว่าคำแนะนำครั้งนี้ เป็นคำแนะนำเพื่อเจ้าของรถยนต์ที่มีปัญหาเรื่องทุน และมีความจำเป็นที่จะต้องมีรถยนต์ไว้ใช้ประกอบอาชีพ หรือใช้งานในชีวิตประจำวัน เงินหรือทุนทรัพย์ที่มีก็ต้องไปใช้ในเรื่องอื่นๆที่จำเป็นมากกว่า

รถยนต์ในปัจจุบันนี้มีระบบต่างๆ ติดตั้งมาไว้ให้มากมาย ในขณะที่ระบบหรืออุปกรณ์ต่างๆที่ติดตั้งมานั้น ต่อให้ถอดทิ้งออกไปจนหมด ก็ยังสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยในระดับที่เพียงพอสำหรับการใช้งานปรกติในชีวิตประจำวัน 
คนเป็นเจ้าของรถยนต์แต่ละคนจึงต้องตัดสินใจด้วยความรอบคอบ ตามเหตุผลและความจำเป็นของแต่ละคนครับ