อีวี เสี่ยง 'ล้น' ยืดเกมราคา 'ไฮบริด' วัดพลังตลาดรถ

อีวี เสี่ยง 'ล้น' ยืดเกมราคา 'ไฮบริด' วัดพลังตลาดรถ

ตลาดรถยนต์ไทย เผชิญวิกฤติค่อนข้างรุนแรง ยอดขายติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ขณะเดียวกัน ตลาดก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะการเข้ามาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี จากจีน และที่สำคัญยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างตลาดจากเกมสงครามราคา

จริง ๆ แล้ว สงครามราคารถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) เริ่มขึ้นในเวทีใหญ่ของโลก ก็คือ จีน เมื่อผู้ผลิตอีวีรายใหญ่ของสหรัฐอย่างเทสล่า ต้องการครองความยิ่งใหญ่ และบุกถ้ำเสือที่เป็นตลาดใหญ่

แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปตามคาดการณ์นัก เมื่อผู้ผลิตจากจีนซึ่งช่วงแรกดูเหมือนจะเสียเปรียบในด้านเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ ตัดสินใจหันหน้าเข้าสู้ และหนึ่งในกลยุทธ์ที่นำมาใช้คือ ราคา

ทำให้ช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา ตลาดอีวีในจีน ทั้งเทสลา และแบรนดด์จีน ปรับลดราคากันเกือบ 10 ครั้ง และยังลามไปที่ตลาดอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา รวมถึงประเทศไทย

 

ไทยเป้าหมายฐานการผลิตหลัก

สำหรับประเทศไทยเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นแหล่งอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก โดยเคยขึ้น ท็อป 10 ของโลก และช่วงที่ตลาดไม่ดีนัก ก็ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ ท็อป 10 

และเมื่ออีวีจากจีนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เกือบทุกค่ายไม่ได้มองเฉพาะด้านการขาย การตลาดเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายใช้ไทยเป็นฐานการผลิตอีกด้วย

การใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ไม่เพียงแค่เป็นเพราะให้การดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรการส่งเสริมอีวีของรัฐ ทั้ง อีวี 3.0 และ อีวี 3.5 ที่หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องประกอบรถในประเทศเพื่อชดเชยการนำเข้าเท่านั้น

และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การเป็นการหาทางหนีทีไล่ของแบรนด์จีนหากถูกมาตรการกีดกันทางการค้าผ่านการขึ้นภาษีที่รุนแรงจากทางสหรัฐ และยุโรป ซึ่งทำให้ต้องหาแหล่งส่งออกที่ไม่ใช่จีนแทน 

“จีนกำลังมองดูสถานการณ์การกีดกันทางการค้าจากตะวันตก และก็น่าจะเป็นโอกาสดีของไทยที่เราจะได้เห็นการเข้ามาลงทุนประกอบรถในไทยมากขึ้น เพื่อใช้เป็นฐานการส่งออกแทน” สุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าว

และเมื่อหันกลับมามองเป้าหมายของแบรนด์จีนก็พบว่าหลายค่ายเปลี่ยนแปลงไป  เช่น เกรท วอลล์ มอเตอร์ หรือฉางอาน จากเดิมคือการกำหนดให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาเพื่อส่งออกไปทำตลาดประเทศที่ใช้รถพวงมาลัยขวาเช่นเดียวกัน ก็มีแผนที่จะเพิ่มการผลิตในรุ่นพวงมาลัยซ้ายเหมือนกับบริษัทแม่ในจีนอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้มีปริมาณการผลิตที่สามารถควบคุมต้นได้ดีพอ หรือ economies of scale

ปาร์คเกอร์ ฉี ประธานเกรท วอลล์มอเตอร์ ตลาดต่างประเทศ พูดชัดเจนว่า ปัจจุบันการผลิตอีวีในไทย หากเทียบกับจีนจะมีต้นทุนที่สูงกว่า 30-80% ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะได้เปรียบการแข่งขัน สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการคือ การเพิ่มการผลิตในไทยให้มากขึ้น

อีวี เสี่ยง \'ล้น\' ยืดเกมราคา \'ไฮบริด\' วัดพลังตลาดรถ

 

การผลิตเพิ่ม การตลาด "ลด"

การระดมเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ซึ่งปัจจุบัน อีวี จีน ที่เดินเครื่องแล้ว ประกอบด้วย เอ็มจี, เกรท วอลล์, เนต้า, บีวายดี, จีเอซี ไออ้อน, วู่หลิง ส่วนที่เตรียมขึ้นสายประกอบเร็ว ๆ นี้ เช่น ฉางอาน, จูนเหยา, โอโมดา แอนด์เจคู และยังมีอีกหลายค่ายที่อยู่ระหว่างการศึกษาซึ่งรวมถึงปิกอัพ อีวี อย่างริดดาร่า

และหากดูแผนการด้านของโรงงานพบว่าหลายแห่งมีเป้าหมายการประกอบต่อปีหลายหมื่นคันไปจนถึง 1-2 แสนคัน ซึ่งหากในอนาคต ตลาดอีวีไม่ขยายตัวอย่างโดดเด่น ทำให้หลายคนเกิดความกังวลว่าจะทำให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด และส่งผลให้ภาวะสงครามราคายืดเยื้อออกไป

แต่หากเป็นไปตามที่บางคนคาดการณ์ว่าอีวี โลก จะขยายตัวในอนาคต ก็จะเป็นจังหวะที่ดีในการส่งออกสินค้าจากไทย

ทั้งนี้ประเด็นสินค้าล้นตลาด และส่งผลต่อสงครามราคานั้นความจริงแล้วเริ่มต้นเข้มข้นมากขึ้นให้เห็นกันในปีนี้เ เพราะปี 2567 มีอีวีรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดเพิ่มเติมประมาณ 10 รุ่น แต่ไม่สัมพันธ์กับด้านยอดขายที่พบว่าอยู่ในภาวะทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ 2566

โดยข้อมูลยอดจดทะเบียนล่าสุดเดือน ต.ค. พบว่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลอีวีมียอด 4,954 คัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 14% ของรถทุกประเภท และหากรวม 10 เดือน มียอดจดทะเบียนประมาณ 5.9 หมื่นคัน 

ขณะที่ปี 2566 ที่ผ่านมามียอดจดทะเบียนประมาณ 7.6 หมื่นคัน ซึ่งระยะเวลาที่เหลืออีก 2 เดือน ไม่เฉพาะตลาดรถยนต์ทั่วไปเท่านั้นที่กำลังประสบปัญหา แต่อีวีเอง ก็ต้องลุ้นว่าจะสามารถทำยอดได้เท่าปี 2566 ด้วยหรือไม่

การที่ปี 2567 ตลาดอีวีชะลอตัว ส่งผลต่อการบริหารงาน การวางแผนการตลาดของผู้ประกอบการไม่น้อย เนื่องจากแต่เดิมทุกคนมองว่าตลาดอีวีปีนี้จะขยายตัวขึ้นไปดับ 1.2-1.3 แสนคัน ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่ปี 2566 ตลาดเติบโตแบบก้าวกระโดดจากปี 2565 ที่มียอดไม่ถึง 1 หมื่นคัน เป็น 7.6 หมื่นคันนั่นเอง

โอเชี่ยน หม่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด แสดงความคิดเห็นไว้ก่อนหน้านี้ ปัจจุบันผู้ผลิตอีวีในจีนมีมากกว่า 200 บริษัท และมีจำนวนมากที่ต้องการขยายตลาดต่างประเทศ รวมถึงไทย  

แต่ด้วยตลาดปัจจุบันที่มีขนาดเกินกว่าจะรับได้หมด จึงเชื่อว่าเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดภาวะล้นตลาด และด้วยกลไกการตลาดจะเป็นตัวจัดระเบียบเอง ว่าผู้ที่มีความแข็งแกร่งกว่าจะอยู่รอดได้

 

เร่งมือรับแผนผลิตชดเชย อีวี 3.0

แน่นอนว่าการประเมินตลาดที่สูงทำให้ทุกคนวางแผนตลาด วางแผนออเดอร์ สต็อก ล่วงหน้าในระดับที่่สูง แต่เมื่อตลาดไม่โตตามคาด จึงจำเป็นจะต้องระบายออก และเมื่อมีค่ายหนึ่งค่ายใดที่เล่นเกมราคา ก็ทำให้จำเป็นต้องโดดเข้าร่วม เพียงแต่จะเล่นโดยตรง หรือทางอ้อมและความแรงของอาวุธก็ขึ้นอยู่กับคลังแสงของตนเอง

นอกจากนี้ อีวี ยังมีการบ้านใหญ่อีกข้อคือ การผลิตรถชดเชยการนำเข้ามาทำตลาดตามมาตรการส่งเสริมภาครัฐ โดยอีวี 3.0 จะต้องผลิตภายในปี 2567-2568 และอีวี 3.5 ภายในปี 2569-2570

แต่ช่วงนี้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มเห็นแล้วว่า หากผลิตชดเชยตามจำนวนการนำเข้าในภาวะที่ตลาดชะลอตัว จะทำให้เกิดปัญหาสต็อกล้น ที่ผ่านมาจึงมีการรวมตัวกันเพื่อหารือกับภาครัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาผ่อนผัน 

และในเวลาเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจจะมีผลต่อเกมราคาในอนาคตได้เช่นเดียวกัน 

อีวี เสี่ยง \'ล้น\' ยืดเกมราคา \'ไฮบริด\' วัดพลังตลาดรถ

 

เชื่อสงครามราคาใกล้จบ

แม้ว่าปัจจุบันสงครามราคาจะเกิดขึ้นหลายระลอก และหลายพื้นที่ แต่หลายคนก็เชื่อว่าจะไม่สามารถยืดเยื้อออกไปได้มากนัก เนื่องจากสงครามก็มีต้นทุนของมันเอง

จาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท จูนเหยา ออโต (ประเทศไทย) จำกัด อีกหนึ่งแบรนด์ อีวี จากจีนที่ทำตลาดในประเทศไทย ระบุว่าทิศทางตลาด อีวี ที่ชะลอตัว ก็เป็นเหตุผลหนึ่งให้มีการแข่งขันด้านราคา แต่เชื่อว่าในอนาคตอีวีจะขยายตัว เนื่องจากเชื่อว่า อีวี จะเป็นตัวเลือกหลักในตลาดกลุ่มรถยนต์ส่วนบุคคล 

นอกจากนี้ยังเห็นว่าการแข่งขันด้านราคาทำให้ปัจจุบันบางแบรนด์แทบไม่มีกำไร ซึ่งไม่ใช่หลักการตลาดที่ถูกต้อง ดังนั้นถึงจุดหนึ่งทุกคนก็ต้องหยุดสงครามนี้

และเมื่อมองในภาพใหญ่ระดับโลก การที่ว่าที่ประธานาธิบดีสำหรัฐ "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่มีแนวทางจัดการด้านภาษีกับจีน ทำให้จีนประกาศที่จะหยุดการสนับสนุนพิเศษสินค้าส่งออก ซึ่งรวมถึงรถยนต์ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับแผนการตลาดกันใหม่เช่นกัน

ด้านโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงประเด็นนี้แบบหยอกเย้าว่าใครที่สามารถลดราคารถยนต์ลงมาได้หลายแสนบาท โดยที่ยังสามารถทำกำไรได้ ก็ต้องขอ “ชื่นชม” ว่าเขาทำกำไรได้ดี

 

มองอีวี ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

ขณะที่มุมมองต่ออีวี ที่โดดเด่นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทรถยนต์รายใหญ่อันดับ 1 มองว่า อีวี อาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของตลาด แต่เป็นรถลูกผสมอย่าง ไฮบริด ที่มีคุณสมบัติที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายทั้งความประหยัด และความสะดวก 

อีวี เสี่ยง \'ล้น\' ยืดเกมราคา \'ไฮบริด\' วัดพลังตลาดรถ

และจากข้อมูลช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. 2567 พบว่า ตลาดรถยนต์กลุ่มที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (xEV) ทั้งไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และ อีวี มียอดขายรวม 1.56 แสนคัน คิดเป็นสัดส่วน 36% ของตลาดรถยนต์ทั้งหมด เพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

ขณะที่ยอดขายรถยนต์โดยรวมช่วงเวลาเดียวกันทำได้ 438,659 คัน ลดลง 25.3%

และในกลุ่ม xEV พบว่ารถไฮบริด  ได้รับความนิยมสูง โดยมียอดขายสะสม 92,589 คัน เติบโตขึ้น 52% คิดเป็นสัดส่วน 59% ของตลาด xEV

ขณะที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) มียอดขาย 56,496 คัน เพิ่มขึ้น 8% คิดเป็นสัดส่วน 36% ของตลาด xEV