ประเมินตลาดรถยนต์ปี 68 ฟื้นตัวช้า โตโยต้า คาดยอดขาย 6 แสน

ประเมินตลาดรถยนต์ปี 68 ฟื้นตัวช้า โตโยต้า คาดยอดขาย 6 แสน

ตลาดรถยนต์ไทยปี 2567 ที่ผ่านมา หดตัวอย่างรุนแรง จากปัจจัยลบหลายอย่างที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน โดยมี 572,675 คัน ลดลง 26.2% ส่วนปีนี้โตโยต้า มองว่าจะเริ่มฟื้นตัวแบบช้าๆ สรุปยอดปี 67 ร่วง 26.2%

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ประเมินแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี 2568 โดยมองว่าจะยังคงอยู่ในสภาวะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป  พร้อมกับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวม

โดยปัจจัยบวกที่จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมคือ แรงหนุนด้านอุปสงค์จากกิจกรรมในภาคธุรกิจ และการลงทุนที่กระเตื้องขึ้น ภาคการท่องเที่ยวเติบโตดีขึ้น จะช่วยกระตุ้นความต้องการรถยนต์

นอกจากนี้ยังมีนโยบายภาครัฐที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายให้เร่งตัวขึ้น การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภายในประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานขยายตัวขึ้น รวมถึงการผลักดันมาตรการสนับสนุนภาครัฐที่มีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ และกลยุทธ์การส่งเสริมการขายรวมถึงสงครามราคาจากแบรนด์ต่าง ๆ ที่จะเข้มข้นยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลต่อการส่งออก และสถานการณ์ที่ทางสถาบันการเงินอาจยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อจากความกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้จากภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูง และหนี้เสียที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงต่อไป รวมถึงทิศทางของนโยบายอัตราดอกเบี้ย 

เมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ โตโยต้า คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2568 จะอยู่ที่ 600,000 คัน เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แบ่งเป็น

  • รถยนต์นั่ง 235,900 คัน เพิ่มขึ้น 5%
  • รถเพื่อการพาณิชย์ (รวมปิกอัพ) 364,100 คัน เพิ่มขึ้น 4%

 

ขณะที่ปี 2567 ที่ผ่านมา 

ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทายเป็นอย่างมาก จากสภาวะโดยรวม และทิศทางของตลาดสะท้อนมายังตลาดรถยนต์ในประเทศ โดยมียอดขายรวม 572,675 คัน ลดลง 26.2% เมื่อเทียบกับปี 2566

  • รถยนต์นั่ง 224,148 คัน ลดลง 23.4%
  • รถเพื่อการพาณิชย์ รวมปิกอัพ 348,527 คัน ลดลง 27.9%
  • รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 200,190 คัน ลดลง 38.4%
  • รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 163,347 คัน ลดลง 38.3%

โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดในปีที่ผ่านมามีหลายด้าน  ไม่ว่าจะเป็นกำลังซื้อที่ลดลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมถึง ค่าครองชีพ อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ทรงตัวสูง ความเข้มงวดของมาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยอื่นๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในปีที่ผ่านมา เช่น การที่ตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะรถยนต์ไฮบริด (HEV) มีความนิยมเพิ่มขึ้น เป็นแรงส่งสำคัญในช่วงที่ตลาดยังไม่ฟื้นตัว เห็นได้จากการที่รถยนต์ไฮบริดมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 29% แสดงให้เห็นถึงทางเลือกเทคโนโลยีของผู้บริโภคหลากหลายขึ้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์