TTA คว้าสิทธิ์ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า NIU ทุ่ม 100 ล้านประกอบไทย

TTA คว้าสิทธิ์จำหน่ายมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (EV) NIU เตรียมผุดโรงงาน-ศูนย์วิจัยและพัฒนา นอกจีน แห่งแรก เดินหน้าพัฒนารถรองรับตลาดในประเทศ ส่งออกอาเซียน
ปี 2561 แบรนด์ NIU เข้ามารุกตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทยเป็นครั้งแรก โดย “ชาริช โฮลดิ้ง” ธุรกิจของอภิชาต ลีนุตพงษ์ โดยการทำตลาดจะเป็นในลักษณะของการจับตลาดไลฟ์สไตล์ ด้วยความเป็นรถที่มีเอกลักษณ์ และมีภาพลักษณ์ที่ดี และผู้บริโภคจะเห็นรถได้ตามช็อป ตามห้างสรรพสินค้ามากกกว่าโชว์รูมตัวแทนจำหน่าย
ล่าสุด NIU เปลี่ยนมือ มาอยู่ในการทำตลาดของ บริษัท พี 80 เจ็ท จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เข้ามาดูแลแทนตั้งแต่ปลายปี 2567 ที่ผ่านมา พร้อมกับแนวคิดการทำตลาดที่เปลียนแปลงไป
รวมถึงแผนธุรกิจของบริษัทแม่ที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน นั่นคือ การกำหนดให้ไทยเป็นฐานการผลิตนอกประเทศจีนแห่งแรก เพื่อรองรับการส่งออกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รวมถึงการมีศูนย์วิจัยและพัฒนา หรือ R&D นอกจีนแห่งแรกในไทย อีกด้วย เพื่อรองรับการผลิต เพราะความต้องการในรายละเอียดต่าง ๆ ของตัวรถอาจแตกต่างกับตลาดอื่นๆ
โลว เจีย ฮวา (Low Chie Hua) ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก NIU International ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางการตลาด ละการตอบรับพลังงานไฟฟ้าของผู้บริโภคดี รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์ของไทยได้เปรียบในการเป็นศูนย์กลางการส่งออก และยยังมีสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีในภูมิภาคอีกด้วย
เฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนลงทุนมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท เปิดสายพานการผลิตรในประเทศไทยที่ถนนบางนา-ตราด กม.13 รวมถึงการตั้งทีมวิจัยและพัฒนาสินค้า โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดสายการผลิตได้ภายในช่วงปลายปี 2568
เบื้องต้นจะใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (local content) 40%
สำหรับการผลิตในไทย จะมีรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่างออกไป โดยการพัฒนาสินค้าสำหรับประเทศไทยได้รับความร่วมมือจาก NIU International
โดยมีเป้าหมายเปิดตัวสินค้าที่วิจัยและพัฒนาสำหรับประเทศไทย 2 รุ่น ปลายปีนี้ และเพิ่มเติมอีก 2 รุ่น ในปี 2570 ส่วนการส่งออกไปภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเริ่มต้นภายในปี 2571
ส่วนการดำเนินการด้านอื่น ๆ จะเริ่มสร้างพันธมิตรด้านต่าง ๆ ทั้งช่องทางจำหน่ายโดยมีเป้าหมายระยะยาวคือ มีโชว์รูมและศูนย์บริการครับทุกจังหวัด, สถาบันการเงิน, บริษัทประกันภัย รวมถึงธุรกิจรถจักรยานยนต์มือสอง เพื่อสร้างระบบนิเวศมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่สมบูรณ์
“ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เปิดรับสินค้ากลุ่มนี้ได้รวดเร็ว เห็นได้จากยอดจดทะเบียนที่เติบโตเมากกว่า 100% ต่อเนื่องหลายปี ซึ่งการจะผลักดันให้ตลาดเติบโตได้ต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น สมรรถนะ ราคาที่เหมาะสม การสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ ด้วยการทำโครงสร้างราคาที่ชัดเจนและมั่นใจมากกว่าที่ผ่านมา”
ด้านการตลาดบริษัทตั้งเป้าหมายยอดจำหน่ายให้ได้ 10,000 คัน/ปี ในปี 2572 และก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าพรีเมียม
ส่วนภาพรวมตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในไทยในปี 2568 ประเมินว่าจะมียอดรวม 30,000-35,000 คัน และภายใน 3 ปี จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 คัน
ในด้านโครงสร้างราคาจำหน่าย ที่ผ่านมา NIU เป็นการนำเข้ารถสำเร็จรูป (CBU) จากจีน เข้ามาทำตลาด ซึ่งต้องเสียภาษีนำเข้า 50% ซึ่งทำให้มีราคาที่ค่อนข้างสูง ซึ่งการผลิตในไทย จะทำให้สามารถทำราคาได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับการทำตลาดในช่วงนี้ ซึ่งยังมีรถจากตัวแทนเดิมประมาณ 200 คัน บริษัทจะปรับราคาลงมาเพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ก่อนที่จะเริ่มทำตลาดรุ่น CKD ซึ่งเป็นคนละโมเดลกับที่จำหน่ายปัจจุบัน