“มิตซูบิชิ”เสริมแกร่งฐานผลิต ทุ่ม 7.5 พันล้านบาท ปรับโรงงานแหลมฉบัง
มิตซูบิชิ เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยยาวนาน และเป็นบริษัทรถยนต์รายแรกที่เริ่มต้นกิจกรรมการส่งออกอย่างเป็นทางการในปี 2531 ไปยังตลาดแคนาดา จากนั้นก็ขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันมีกว่า 120 ประเทศทั่วโลก ล่าสุดมียอดส่งออกสะสมจากโรงงานแหลมฉบัง ชลบุรี 4 ล้านคัน ซึ่ง โอซามุ มาซูโกะประธานคณะกรรมการ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เดินทางมาร่วมพิธีเฉลิมฉลองครั้งนี้ พร้อมให้สัมภาษณ์พิเศษ
มาซูโกะ กล่าวว่า ไทยเป็นตลาด และฐานการผลิตที่สำคัญของมิตซูบิชิ ซึ่งปัจจุบัน 80% ของการผลิต เป็นการส่งออก และบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มความสำคัญมากขึ้นในอนาคต โดยเตรียมลงทุนเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงโรงงาน หลังดำเนินงานมา 20 ปี เริ่มจากก้อนแรก 1.2 หมื่นล้านเยน (ประมาณ 3,600 ล้านบาท) ที่จะลงทุนทันทีหลังจากนี้ เพื่อสร้างโรงงานสีใหม่ รองรับการขยายกรผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
จากนั้นเตรียมงบประมาณอีก 1.3 หมื่นล้านเยน (ประมาณ 3,900 ล้านบาท) สำหรับปรับปรุงสายการผลิต รวมถึงการเพิ่มการใช้หุ่นยนต์หรือโรบอตเพิ่มมากขึ้น เพื่อทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพที่ดีขี้น และช่วยลดต้นทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกที่เข้มข้นมากขึ้นทุกขณะ
ส่วนการที่ปัจจุบัน ตลาดรถยนต์หลายแห่งทั่วโลก อยู่ในภาวะชะลอตัว จากปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้าโลก โดยเฉพาะระหว่าง จีน กับ สหรัฐ ซึ่งฉุดเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศอย่างชัดเจน แต่มิตซูบิชิมองว่าเป็นเรื่องปกติ
“เรื่องของเศรษฐกิจ มีวงจรของมัน มีขึ้นมีลง เวียนกันไป ซึ่งเราก็เตรียมใจไว้ก่อนแล้วสำหรับปีนี้ ที่มองว่าจะไม่ดีนัก เพียงแต่ว่ามันไม่ดีมากกว่าที่เราคาดไว้ เพราะมีเรื่องของทั้งสงครามการค้าโลก รวมถึงการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ เบร็กซิท”
อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโลกจะไม่ดีนัก แต่มิตซูบิชิ ก็มีแนวทางที่ชัดเจน โดยเฉพาะบทบาทในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังไปได้ดี ตลาดหลายๆ แห่งอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวียดนามที่มีภาวะเศรษฐกิจดีมาก
“ปัจจุบันมิตซูบิชิทุ่มกำลังในตลาดอาเซียนอย่างมาก และจากนี้ไปจะยิ่งทุ่มกำลังมากขึ้นกว่าเดิม และอยากจะยืนยันให้ทุกคนมั่นใจกับความสำคัญของไทย”
มาซูโกะ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของการส่งออกรถยนต์จากไทย ในช่วงนี้คือ ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากเงินบาทแข็งค่าอย่างมาก ส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัท ซึ่งหากเป็นได้เข้าพบตัวแทนรัฐบาลไทย จะขอให้ดูแลในเรื่องนี้ เพราะไม่เพียงแต่บริษัทเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่รวมถึงทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกจากไทยด้วย
นอกเหนือจากการลงทุนปรับปรุงเพิ่มศักยภาพโรงงานแล้ว มิตซูบิชิ ยังเตรียมการลงทุนใหม่ในไทย คือ การผลิตรถยนต์ในโครงการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าของภาครัฐ ซึ่งมิตซูบิชิ ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ในส่วนของโครงการผลิตรถปลั๊กอิน ไฮบริด มูลค่าลงทุน 3,130 ล้านบาท ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการผลิต และจะเริ่มต้นได้ในช่วงครึ่งหลังปี 2563
โดยรถที่จะผลิตเป็นรุ่น เอาท์แลนเดอร์ ในรูปแบบของการนำชิ้นส่วนหลักๆ จากต่างประเทศเข้ามาประกอบ ซึ่งจะทำให้ยังไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากติดข้อกำหนดในด้านสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ หรือ local content
“ช่วงแรก จะเป็นการผลิต ปลั๊กอิน ไฮบริด เพื่อทำตลาดในประเทศก่อน โดยตั้งเป้าการขายไว้ปีละ 3,000 คัน”
ทั้งนี้การที่ช่วงแรกของการผลิตจะเป็นการนำเข้าชิ้นส่วนหลักมาก่อน เพราะปัจจุบันชิ้นส่วนสำคัญของรถพลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี และปลั๊กอิน ไฮบริด ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี หรือว่า มอเตอร์ ไฟฟ้า ขณะนี้ยังไม่มีบริษัทรถยนต์รายใดสามารถผลิตได้ ต้องใช้ผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตโดยเฉพาะ และหากต้องการให้บริษัทเหล่านั้นเข้ามาลงทุนในไทย จำเป็นจะต้องทำให้เห็นถึงความต้องการในประเทศก่อน
“การผลิตแบตเตอรี ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีการควบคุมอุณหภูมิ และหลังจากผลิตเสร็จแล้วยังต้องมีการจัดเก็บพิเศษก่อน ซึ่งปัจจุบันที่มิตซูบิชิใช้นั้นเป็นการผลิตในญี่ปุ่น แต่ก็มีแนวคิดที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีเหล่านี้มาไทย”
และการที่ทั้งอีวี และ ปลั๊กอิน ไฮบริด เป็นเทคโลยีที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง และต้นทุนสูง ทำให้จะเห็นว่าในตลาดโลกเกิดความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตต่างๆ จำนวนมากในขณะนี้
สำหรับมิตซูบิชิ นอกจากจะยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน ปลั๊กอินไฮบริด แล้ว ยังยื่นขอในส่วนของอีวี มูลกค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากบีโอไอ