'ฮอนด้า ซิตี้' ช่วงล่างดีกว่าที่คิด
ฮอนด้า ซิตี้ เจเนอเรชั่นที่ 5 เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งการมาของเจเนอเรชั่นที่ 5 ครั้งนี้ เปลี่ยนไปจากเดิม คือถอดชุด “ซับ คอมแพคท์” ที่เคยสวมใส่ทิ้งไป แล้วสวมชุด “อีโค คาร์ เฟส2” เข้าไปแทน
ผลที่ตามมาก็คือ โครงสร้างราคาที่ถูกกว่า เจเนอเรชั่นที่ 4 เพราะได้สิทธิพิเศษทางภาษีจากโครงการส่งเสริมการลงทุนรถเล็กตามมาตรฐานสากล ที่เราเรียกันติดปากว่า อีโค คาร์ นั่นแหละครับ และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มันได้รับการตอบรับที่ดี ในภาวะเศรษฐกิจ และตลาดปัจจุบัน ด้วยยอดจองขณะนี้เกือบๆ 5,000 คันเข้าไปแล้ว
ส่วนราคาเริ่มจากรุ่น S 579,000 บาท รุ่น V 609,000 บาท รุ่น SV 665,000 บาท และตัวท็อป RS 739,000 บาท
ในเชิงเทคนิค สิ่งที่เปลี่ยนแปลงหลักๆ ก็คือเครื่องยนต์ ที่หันมาใช้เครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ ขนาด 1.0 ลิตร 3 สูบ ให้กำลังสูงสุด 122 แรงม้า ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 173 นิวตันเมตรที่ 2,000-4,500 รอบ/นาที การปรับแพลตฟอร์มใหม่ ตัวถังมีขนาดยาวขึ้น กว้างขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย แต่เตี้ยลงเล็กน้อย ทำให้หลักอากาศพลศาสตร์ดีขึ้น และมีรูปลักษณ์ที่สปอร์ตมากขึ้น ส่วนระยะฐานล้อยังเท่าเดิม
เครื่องยนต์ตัวนี้ผ่านมาตรฐานไอเสีย ยูโร 5 ซึ่งใช้งานได้ปกติ แม้ว่าบ้านเราในวันนี้ น้ำมันที่จำหน่ายกันอยู่ จะมีมาตรฐาน ยูโร 4 ก็ตาม ทั้งนี้ เครื่องยนต์ตัวนี้รองรับเชื้อเพลิงได้ถึง อี 20 ส่วนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขหลักของอีโค คาร์ เฟส 2 นั้น ซิตี้ปล่อยที่ 99 กรัม/ กม.
เกียร์ซีวีที แต่มีระบบการเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัยให้ด้วย โดยออกแบบให้ปรับได้ 7 ระดับ
ซิตี้ใหม่ ใช้ช่วงล่างด้านหน้า แมคเฟอร์สัน สตรัท อิสระ พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลัง ทอร์ชั่น บีม ดิสค์เบรกหน้า ดัานหลังดรัมเบรก พวงมาลัยเพาเวอร์ ไฟฟ้า
เห็นยอดจองเยอะๆ อย่างนี้ แต่ยังไม่มีรถลงสู่ถนนนะครับ จริงๆ แล้วต้องบอกว่ายังไม่มีรถเข้าโชว์รูมด้วยซ้ำไป เพราะกำหนดการที่ฮอนด้าระบุไว้ตั้งแต่ต้นก็คือจะเริ่มส่งมอบรถให้กับดีลเลอร์วันที่ 24 ธ.ค. จากนั้นก็จะทยอยส่งมอบต่อไป
แต่ก่อนจะส่งรถ ฮอนด้า จัดกิจกรรมลองขับกันพอหอมปากหอมคอ ซึ่งพูดได้เต็มปากว่าเป็นการลองขับกลุ่มแรกในโลก
กิจกรรมนี้จัดขึ้นในพื้นที่ปิด คือ Prooving Ground ของ บริษัท ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชียแปซิฟิก จำกัด ซึ่งเพิ่งสร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ตั้งอยู่ที่ปราจีนบุรี จัดเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาและทดสอบขนาดใหญ่นอกประเทศญี่ปุ่น
ที่นี่มีสนามทดสอบหลักๆ 2 สนาม คือ สนามรูปวงรี (Oval Course) ความยาว 2.18 กม. และสนามทดสอบทางโค้ง (Winding Course) ความยาว 1.83 กม. ซึ่งอยู่ในรอบวงของสนามวงรีนั่นแหละครับ
ขับกันไม่มากนัก พอหอมปากหอมคอ สนามรูปไข่ 2 รอบ และสนามทดสอบทางโค้ง 1 รอบ ส่วนการทดสอบบนเส้นทางจริงนั้นจะจัดขึ้นช่วงปลายเดือน ม.ค. ปีหน้า
รถที่นำมาลองวันนี้ เป็นรุ่น RS
เรื่องของเครื่องยนต์นั้น ผมตอบได้คร่าวๆ ว่าน่าจะทำได้ดี ในการขับขี่จริง ที่พูดอย่างนี้ เพราะว่าสนามทดสอบเขาก็จะมีกฎเกณฑ์บางอย่างหนดเอาไว้ เช่น ทางตรง ไม่เกิน 100 กม./ชม. ส่วนทางโค้งของสนามรูปไข่ก็ 80 กม./ชม. ส่วนสนามทดสอบทางโค้งก็แตกต่างกันไปแล้วแต่รูปแบบโคังซึ่งมีทั้งหมด 17 โค้ง ตั้งแต่ 25 กม./ชม. ไปจนถึง 80กม./ชม.
แต่นั่นก็เป็นทฤษฎีครับ เพราะทางปฏิบัติจริงแม้จะมีเจ้าหน้าที่นั่งไปด้วย แต่เขาก็คงแกล้งๆ ไม่เห็นว่าความเร็วมันเกินไปบ้าง ทางตรงสัก 140 ส่วนตามโค้งก็ลดหลั่นกันไป
ก็อย่างที่บอกครับว่าสนามรูปไข่ความยาวรวม 2.13 กม. ซึ่งแน่นอนมีช่วงทางตรงไม่ได้ยาวนัก แต่ไล่ขึ้นไปได้ระดับนั้น ก็บ่งบอกถึงการตอบสนองที่น่าพอใจของเครื่องยนต์ได้ระดับหนึ่งครับ
กระซิบดังๆ ให้ว่า ซิตี้ เขาล็อคความเร็วของรถไว้ที่ 200 กม./ชม.
นี่คือความเร็วสูงสุดของ อีโค คาร์ !!!
แต่ย้ำอีกครั้งครับ ในชีวิตจริง ไม่ต้องใช้สมรรถนะของเครื่องยนต์เต็มที่ทุกเวลา กำลังของเครื่องยนต์ที่เขาสร้างมา ก็เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้รวดเร็วและปลอดภัย เช่น ใช้ในการเร่งแซง ใช้ในการนำพารถออกจากจุดคับขัน เป็นต้น
เอาเป็นว่าเรื่องเครื่องยนต์ เอาไว้ให้ได้ลองบนถนนจริง ่ค่อยมาพูดคุยในรายละเอียดกันเพิ่มเติมครับ
แต่สิ่งที่ผมชอบสำหรับการขับครั้งนี้ก็คือ ช่วงของการขับในสนามทดสอบทางโค้ง ซึ่งมีทั้งโค้งแคบ โค้งกว้าง โค้งที่ถนนขรุขร รวมถึงโค้งที่มีหลุมยุบซ่อนอยู่ในโค้ง (ไม่อยากจะเดาว่าได้แนวคิดในการสร้างเส้นทางทดสอบแบบนี้มาจากถนนในประเทศไหน"
สิ่งที่ผมชอบก็คือ ซิตี้ เปลี่ยนไปจากเดิมชัดเจน การขับขี่ในโค้งทำได้ดีขึ้นมาก อารมณ์ของช่วงล่างที่สะท้อนขึ้นมาก็คือ มันบอกว่ามันมั่นใจที่จะไปต่อ ผ่านการยึดเกาะถนนที่ดี ตอบสนองการเลี้ยวไปมาตามเส้นทางได้อย่างกระฉับกระเฉง ไม่อิดออด ขณะที่พวงมาลัยซึ่งปรับเปลี่ยนใหม่ให้รกะชับมือมากขึ้น ก็แม่นยำ และที่สำคัญมีน้ำหนักที่ดี ไม่เบาโหวงเหมือนรุ่นก่อนหน้า ทำให้การขับในเส้นทางแบบนี้สนุกขึ้นอย่างชัดเจน และมั่นใจมากขึ้น
ผมให้การเซ็ทช่วงล่าง และโครงสร้างของตัวถังที่แข็งแรงขึ้น ไม่มีอาการให้ตัว ย้วย ในทางโค้ง สอบผ่านสบายๆ ครับ สำหรับ อีโค คาร์ หรือจะบอกว่าสำหรับ ซิตี้ ก็ได้เช่นกัน
ส่วนเรื่องของห้องโดยสาร นั่งสบายครับ ผู้โดยสารด้านหลังก็นั่งสบาย มีพื้นที่วางเท้า พื้นที่ช่วงเข่าเหลือเฟือ ส่วนหลังคาที่กดลงมา ทำให้อยู่ห่างศีรษะประมาณ 1 กำมือ ก็ไม่ทำให้รู้สึกอึดอัด ส่วนการนั่ง 3 คน ที่เบาะหลังยังไม่ได้ลอง แต่ประเมินดูแล้ว คงไม่สบายตัวเท่าไร แต่ถ้า 4 คน สบายแน่นอนครับ
ยังมีเรื่องอื่นๆ ระบบต่างๆ ความเงียบในห้องโดยสาร รวมถึงเรื่องของเครื่องยนต์ การขับขี่ การนั่งทางไกลๆ เป็นอย่างไร รอเอาไว้ขับยาวๆ เดือนหน้า จะนำมาเล่าให้ฟังอีกครั้งครับ
*****