“เอ็มจีซี” เปิดเกมรุกสู้เศรษฐกิจ ดันเป้ารายได้ทะลุ 3 หมื่นล้าน
มาสเตอร์ กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) หรือ เอ็มจีซี-เอเชีย กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ของไทย รวมถึงค้าปลีกรถยนต์ สามารถฟันฝ่าภาวะเศรษฐกิจ และการตลาดรถยนต์ที่ไม่ดีนัก ด้วยการสร้างรายได้ 2.55 หมื่นล้านบาทในปี 2562 เติบโต 6.3% จากปีก่อนหน้า
และปีนี้ กลุ่มก็คาดหวังว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้อีกครั้งในสถานการณ์ที่ท้าทาย
สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่า ปัจจุบันกลุ่มมีธุรกิจในเครือรวม 5 กลุ่ม คือ 1.ค้าปลีกยานยนต์ ประกอบด้วย โรลส์-รอยซ์, แอสตัน มาร์ติน มาเซราติ บีเอ็มดับเบิลยู มินิ เปอโยต์ ฮอนด้า และ รถจักรยานยนต์ บีเอ็มดับเบิลยูมอเตอร์ราด นอกจากนี้ ยังรวมธุรกิจรถใช้แล้ว รถเช่า และการดูแลรักษารถยนต์ เอ็มเอ็มเอส บ๊อช คาร์ เซอร์วิส แอนด์ ไทร์
2.กลุ่มธุรกิจนำเข้ารถยนต์ 3.กลุ่มธุรกิจการเงินและประกันภัย 4.กลุ่มธุรกิจ ครีเอทีฟ โซลูชั่น และ 5.กลุ่มธุรกิจเรือสำราญ
ซึ่งการที่สามารถสร้างการเติบโตในปีที่ผ่านมาเพราะกลุ่มเน้นกลยุทธ์เชิงรุกมาโดยตลอด ทั้งด้านการตลาด ผลิตภัณฑ์ และการขยายเครือข่าย และปีนี้ก็เช่นกัน แม้ว่าในภาพรวมหลายคนจะรู้สึกกังวลกับภาวะเศรษฐกิจ ตัวเลขอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) แต่ในมุมมองของกลุ่ม จะพยายามหากลยุทธ์ใหม่ๆ โปรแกรมการเงินใหม่ๆ ดึงดูดลูกค้าเพื่อให้สู้กับสถานการณ์ด้านลบและสร้างการเติบโตในที่สุด
เช่น การจัดแคมเปญพิเศษสำหรับ บีเอ็มดับเบิลยู เอ็กซ์ 2 เอสไดรฟ์ 20ไอ เอ็ม สปอร์ต เอ็กซ์ ราคา 2.49 ล้านบาท จากปกติ 3.6 ล้านบาท พร้อมข้อเสนอผ่อนเริ่มต้น 1.49 หมื่นบาท/เดือน แถมโปรแกรมบีเอสไอ 6 ปี หรือ 1.2 แสน กม. หรือบีเอ็มดับเบิลยู 630ดี จีที เอ็ม สปอร์ต ราคา 3.99 ล้านบาท จาก 4.8 ล้านบาท แถมทองคำ 6 บาท โปรแกรมบีเอสไอ 5 ปี หรือ 1 แสน กม. เป็นต้น
สิ่งที่จะดำเนินการในปีนี้ มีอยู่หลายสิ่ง เช่น ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้หลักกว่า 60% ของทั้งหมด จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท ขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น การเปิด เอ็มจีซี เอเชีย ออโต้เพล็กซ์ ที่สุราษฎร์ธานี รองรับการทำตลาดรถยนต์ในเครือ 6 ยี่ห้อ นำโดยบีเอ็มดับเบิลยู ซึ่งจะทำให้มีเครือข่ายรูปแบบนี้ 2 แห่งทั้งฝั่งอันดามัน คือ ภูเก็ตที่เปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว และฝั่งอ่าวไทย ทำให้รองรับการบริการได้ดีขึ้น
นอกจากนี้จะลงทุนสร้างโชว์รูมรถยนต์เปอโยต์เพิ่มเติมอีก 3 แห่ง ในกรุงเทพฯ และภาคใต้ รวมเป็น 7 แห่ง หลังจากเปิดไปแล้ว 4 แห่งในกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ เปอโยต์ เป็นธุรกิจยานยนต์ล่าสุด เปิดตัวในปีที่ผ่านมา และปีนี้บริษัทคาดหวังว่าจะมียอดขายระดับหลักพันคันหรือหลายพันคัน เป็นอีกส่วนสำคัญในการสร้างการเติบโตของกลุ่ม โดยนอกจากการขยายเครือข่ายเป็น 7 แห่งเองแล้ว ยังจะขยายในรูปแบบตัวแทนจำหน่ายอีก 14 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางอีกด้วย
ในส่วนของยี่ห้ออื่นๆ การที่บริษัทแม่มีรถรุ่นใหม่เปิดตลาด ก็จะช่วยเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น เช่น ฮอนด้า ที่ขณะนี้รุ่นซิตี้ กำลังได้รับความนิยมสูง
สัณหวุฒิ กล่าวว่า ในส่วนการตลาด จะเน้นทำตลาดแบบออมนิ แชนแนล รวมออนไลน์ และออฟไลน์ไว้ด้วยกัน และยังเน้นการนำดิจิทัล ออนไลน์ และระบบเอไอ เข้ามาใช้มากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นในทุกช่องทาง เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตราแกรม หรือเว็บไซต์ เป็นต้น และจะนำฐานข้อมูลลูกค้าที่เก็บสะสมไว้จำนวนมาก มาผ่านการวิเคราะห์ด้วยเอไอ เพื่อสร้างโปรแกรมการสร้างความภักดีต่อสินค้า หรือ แบรนด์ โลยัลตี้ ทั้งนี้ปัจจุบันกลุ่มมีฐานลูกค้า 5.8 แสนราย
ส่วนธุรกิจอื่นๆ ก็จะเปิดเกมรุกด้วยเช่นกัน รวมถีงเรือยอชต์ และการดำเนินการทั้งหมด ทำให้มั่นใจว่าปีนี้จะสามารถสร้างรายได้ 3 หมื่นล้านบาท เติบโต 15%
นอกเหนือจากการเปิดเกมรุกกับธุรกิจเดิมแล้ว กลุ่มยังมีแผนที่จะขยายธุรกิจใหม่ คือ ที่จอดรถอัตโนมัติ และ คาร์ แชร์ริ่ง โดยอยู่ระหว่างการจ้างทีมศึกษาวิจัยว่าจะคุ้มกับการลงทุนหรือไม่
“เราอยากจะทำธุรกิจนี้ แต่ต้องดูว่าคุ้มหรือไม่ เราเห็นว่าคาร์แชร์ริ่ง เป็นสิ่งที่น่าสนใจ แต่ก็มีความท้าทายว่าหากกรุงเทพฯ มีระบบรถไฟฟ้าเปิดครบทุกสาย จะทำให้รูปแบบการเดินทางของคนเมืองเปลี่ยนไป นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องจ้างทีมศึกษาก่อน 3 ขั้นตอน ตอนนี้อยู่ในขั้นที่ 1”
ทั้งนี้หากผลการศึกษาระบุว่าลงทุนได้ เราจะเริ่มต้นโครงการนำร่องประมาณ 10 แห่งก่อน และหากทุกอย่างไปได้ด้วยดี จำเป็นจะต้องเปิดบริการในระดับ 250-500 แห่ง เพราะการทำให้คนแบ่งปันรถใช้ จำเป็นจะต้องหาจุดบริการที่ครอบคลุมมากที่สุด
ส่วนการที่ปัจจุบันบริษัทมีธุรกิจรถเช่าในเครือ ทั้งมาสเตอร์ คาร์เร้นเทิล, ซิกท์ ประเทศไทย และมาสเตอร์ ไดรฟ์เวอร์ แอนด์ เซอร์วิสเซส นั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อกัน แต่จะเอื้อประโยชน์ต่อกัน เพราะรูปแบบธุรกิจแตกต่างกัน เพราะคาร์แชร์ริ่ง จะเป็นการเช่าที่สั้นกว่า