โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ‘Legender’... หรูได้ ลุยได้ ถ้าใจพร้อม
เป็นการไมเนอร์เชนจ์ใหญ่ในรอบ 5 ปี สำหรับ “ฟอร์จูนเนอร์” เมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และดูเหมือนว่า นอกจากหน้าตาที่ดูดีขึ้นแล้ว การขับขี่ และการใช้งาน ยังพัฒนาขึ้นอีกด้วย
ฟอร์จูนเนอร์ ไมเนอร์เจนจ์ มีให้เลือกทั้งรุ่นมาตรฐานที่วางตำแหน่งเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีครอบครัว และมองหารถที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อความสะดวกในการใช้งาน และ “ลีเจนเดอร์” ที่มุ่งเจาะนักธุรกิจรุ่นใหม่
และอย่างที่บอกไปว่า นอกจากเรื่องของการตกแต่ง หน้าตา ที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มความสดใหม่ สวยงามมากขึ้น หรือารเปลี่ยนแปลงด้านออปชั่นแล้ว แก่นลึกเนื้อในก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเช่นกัน ซึ่งมีผลต่อเนื่องของสมรรถนะ และอารมณ์การขับขี่ ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้น ทางที่ดีที่สุดคือ การลองขับครับ
และวันนี้เป็นการลองขับกับ "ลีเจนเดอร์"
ลีเจนเดอร์ มี 2 เครื่องยนต์ดีเซลให้เลือก คือ ขนาด 2.4 ลิตร ที่ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ที่ 3,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร ที่ 1,600-2,000 รอบ/นาที เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด มีทั้งรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ และ 4 ล้อ
และเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 204 แรงม้าที่ 3,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร ที่ 1,600-2,800 รอบ/นาที เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด
ผมลองขับรุ่น 2.8 ครับ
จุดเด่นแรก ก็คือ เครื่องยนต์ที่ตอบสนองได้ดี แม้ไม่ถึงกับจี๊ดจ๊าดมาก แต่ไหลลื่นตอบสนองคันเร่ง การเร่งแซงมีจังหวะหน่วงแค่เล็กน้อยให้พอรู้สึกได้เท่านั้นแต่ไม่มีผลอะไรกับการขับขี่ แซงได้ทันใจ และเติมความเร็วช่วงสูงได้ดี
เครื่องยนต์เงียบและนิ่งขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากการใส่เพลาสมดุล หรือบาลานซ์ ชาฟท์ เข้าไป ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นความตั้งใจของโตโยต้า เพราะโดยปกติเครื่องขนาดเล็กๆ ไม่ค่อยจะใส่กัน
การเก็บเสียงโดยรวมในห้องโดยสารก็ดีครับ เสียงลม เสียงยาง เข้ามาน้อย สมแล้วกับการเป็นตัวท็อป
ช่วงล่างด้านหน้าอิสระปีกนกคู่ พร้อมคอย์สปริงและเหล็กกันโคลง ด้านหลังโฟร์ลิงค์ คอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง
โดยรวม ช่วงล่างทำหน้าที่ได้ดี การขับขี่ทั่วไปรถนิ่ง ไม่วอกแวก แม้จะใช้ความเร็วค่อนข้างสูง การขับขี่ในทางโค้งไว้ใจได้ได้ แม้ว่าตัวถังจะมีอาการโยนตัวอยู่บ้าง แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้
การดูดซับแรงสั่นสะเทือนทำได้น่าพอใจ แม้จะยังมีความรู้สึกกระด้างหรือเด้งอยู่บ้างเล็กน้อยในบางช่วงที่ถนนไม่ราบเรียบ เพราะว่าเป็นตัวถังที่ตั้งอยู่บนแชสซีส์ ไม่ใช่โมโนค็อค แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี
พวงมาลัยยังเป็นระบบไฮดรอลิค คราวนี้ปรับน้ำหนักมาดีเลยทีเดียว ได้ทั้งความเบาสบายที่ความเร็วต่ำ และน้ำหนักเพิ่มขึ้นที่ความเร็วสูง แต่ถ้ายังไม่ถูกใจก็สามารถปรับน้ำหนักได้
ระบบเบรกก็เป็นอีกเรื่องที่ปรับมาได้ดี เบรก ซึ่งเป็นดิสค์เบรก 4 ล้อ ระยะเบรกไว้ใจได้ และที่เด่นสำหรับรถรูปแบบที่มีความสูงของตัวถังคือเบรกได้นุ่มนวล ไม่มีอาการหน้ายุบหรือหลังยกให้ปวดหัว
ลีเจนเดอร์ ติดตั้งระบบช่วยขับ ระบบความปลอดภัย มามากมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบป้องกันการชนด้านหน้า ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลน และรักษาช่องทางหากขับทับเส้นโดยไม่ได้เปิดไฟเลี้ยว โดยหลักการทำงานไม่ใช่แก้ที่พวงมาลัย แต่ใช้การเบรกแทน เช่น เมื่อเห็นว่ารถออกนอกช่องทางซ้ายโดยไม่ตั้งใจ ระบบจะเบรกที่ล้อขวา ถ้าออกทางขวา รถก็จะเบรกล้อซ้าย
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผันตามความเร็วคันหน้า ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน รเบบควบคุมการทรงตัว ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี ระบบควบคุมการส่ายของส่วนพ่วงท้าย เบรกเอบีเอส ระบบกระจายแรงเบรก ระบบเสริมแรงเบรก
ถุงลม 7 ตำแหน่ง และเข็มขัดนิรภัย 3 จุด 7 ที่นั่ง
ส่วนภายในห้องโดยสาร กว้างขวาง นั่งสบายครับ ทัศนวิสัยดี มองเห็นได้ชัดเจน เหมาะกับการเดินทางไกล ขณะที่เบาะนั่งแถว 3 ที่พับได้ ก็ยังเป็นแบบพับแล้วแขวนไว้ด้านข้าง ซึ่งโตโยต้าก็มีเหตุผลของเขาก็คือบอกว่า เพิ่มความสะดวกในการยกของขึ้นลง โดยเฉพาะกับผู้หญิง เพราะพับแบบนี้พื้นที่วางของจะเตี้ยกว่าการพับแบบแนบกับพื้นห้องโดยสาร แต่ก็พร้อมรับฟังเสียงจากลูกค้าและปรับเปลี่ยนได้ในอนาคต
แม้ว่าลีเจนเดอร์ 2.8 ลิตร ขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่มีค่าตัว 1.839 ล้านบาทนี้ ค่อนข้างเชื่อได้ว่าลูกค้าที่ซื้อไปคงแทบไม่มีใครจะเอารถไปลุยออฟโรด หรือแม้แต่เส้นทางวิบากกันมากนัก แต่ด้วความที่รถมีคุณสมบัติด้านนี้ บวกกับความอยากรู้ เราก็ต้องลองกันดูสักตั้ง
และอีกอย่าง ทางผู้ขายเอง ก็ต้องพยายามทำให้ลูกค้าได้เห็นว่ารถทำอะไรได้บ้าง ใช้งานออฟโรดได้จริง เพราะแม้ว่าจะไม่ได้มีความคิดจะใช้งานก็ตาม แต่ถ้าเมื่อใดที่เกิดเหตุจำเป็นจริงๆ จะได้รู้ว่ารถของตนเองนั้นทำได้
ครั้งนี้เราพา ลีเจนเดอร์ไปปีนเขาระเบิด ชลบุรี ซึ่งบนยอดเขาเป็นแหล่งเล่นกีฬาร่มร่อนชื่อดัง
แต่ทางขึ้นไป ไม่ง่ายครับ เส้นทางมีทั้งเนินชัน ลำธาร ก้อนหิน ร่องดิน และที่เด็ดสุดคือ โคลนเละๆ ในช่วงหน้าฝนเช่นนี้ ท้าทายยางติดรถจากโชว์รูมอย่างมาก ไม่ได้เปลี่ยนเป็นยางลุยโคลน ยางออฟโรดแต่อย่างใด
เมื่อต้องปีนเนินชันๆ เละๆ ลื่นๆ และยังมีร่องลึกๆ ยางที่ไม่มีดอกยางสำหรับจัดการกับพื้นผิวแบบนี้ ก็ทำให้รถดิ้นไปซ้ายบ้างขวาบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา ถึงตรงนี้การใช้พวงมาลัยจะมีบทบาทสำคัญในการฝ่าไปให้ได้ แถมยังเพิ่มความสนุกอีกด้วย ด้วยการโยกพวงมาลัยไปมาสลับกันไป เพื่อป้องกันไม่ให้จมลงไปในดินในโคลน ซึ่งที่สุดแล้วก็ผ่านไปได้ไม่ยากนัก
และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหลงพวงมาลัยในเส้นทางลื่นๆ เช่นนี้ เพราะบางทีทิศทางรถกับทิศทางล้อไม่สัมพันธ์กัน และก็ยังไม่สัมพันธ์กับความรู้สึกความเข้าใจของคนขับอีก เช่น เมื่อต้องการจะไปทางขวาคนขับหมุนพวงมาลัยไปขวาแล้ว แต่ความลื่น หรือร่องดินร่องโคลน มันบังคับให้รถไปทางซ้าย คนขับไม่รู้ก็หมุนพวงมาลัยมาทางขวาอีก แต่ผลไม่เป็นไปตามคาด เพราะรถจะยิ่งขืนไปทางซ้าย เนื่องจากการขับเส้นทางแบบนี้ ต้องเลี้ยงพวงมาลัย หรือหมุนแค่พอดี ถ้ามากไป รถจะไปผิดทาง
โตโยต้า เลยติดตั้งระบบระบุทิศทางของล้อ แสดงผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ เพิ่มความสะดวกในการขับขี่ออฟโรดมากให้ด้วย
แต่ว่าพระเอกตัวจริงนั้น คงต้องยกให้กับเครื่องยนต์ ซึ่งให้แรงบิดที่ดี เพียงแค่เราเลือกคุมน้ำหนักคันเร่งให้ถูกต้อง ไม่เบาไปจนขึ้นไม่ไหว ไม่แรงไปจนขุดดิน หรือลื่นไหล ก็สามารถดิ้นออกจากอุปสรรคเหล่านี้ไปได้ในที่สุด
ซึ่งถ้าใครที่ซื้อรถไปแล้วคิดจะเอารถไปลุยออฟโรดจริงๆ คงไม่ต้องทำอะไรมากครับ แค่เปลี่ยนยางที่เหมาะกับเส้นทางแบบนี้เท่านั้น ก็ไปได้สบายๆ แล้ว
ในขณะที่มุมปะทะ มุมจาก หรือ มุมคร่อมของรถ ก็ตอบโจทย์การใช้งานได้ดีพอควรไม่ต้องกังวลหน้ารถจะทิ่มดินตอนปีนเนิน หรือกันชนท้ายจะลากดินลากโคลนติดมาด้วยตอนลงมาจากเนิน หรือเมื่อต้องคร่อมตอไม้ คร่อมร่อง คร่อมหิน ใต้ท้องรถจะขูดจนเกิดความเสียหาย
ส่วนการปีนไต่ในช่วงเส้นทางที่ไม่เละเทะเป็นโคลน ไม่ชันมากก็แทบจะปล่อยคันเร่งให้รถปีนขึ้นไปด้วยวอล์คกิ้งสปีดได้เลย
ส่วนการลงเนิน มีระบบช่วยลงเขา ที่ระบบจะรักษาความเร็วให้เอง คนขับยกเท้าออกจากคันเร่งเบรก ควบคุมแค่พวงมาลัยเท่านั้น ระบบทำงานได้เนียนขึ้น เริ่มต้นเร็วขึ้น และจังหวะจับเบรกละเอียดขึ้น ไม่มีเสียงดังครืดคราดๆ สร้างความกังวลใหักับคนขับที่ยังไม่ชินครับ ให้เอง คนขับยกเท้าออกจากคันเร่งเบรก ควบคุมแค่พวงมาลัยเท่านั้น
ระบบทำงานได้เนียนขึ้น เริ่มต้นเร็วขึ้น และจังหวะจับเบรกละเอียดขึ้น ไม่มีเสียงดังครืดคราดๆ สร้างความกังวลใหักับคนขับที่ยังไม่ชินครับ
สรุปกันอีกครั้ง ว่า ฟอร์จูนเนอร์ ไมเนอร์เชนจ์นั้น พัฒนาขึ้นจากเดิมอย่างชัดเจน และเป็นรถที่รองรับการใช้งานได้หลากหลาย จะใช้งานทั่วไป ใช้งานกับครอบครัว หรือจะเอาไปลุยก็ได้ ถ้าใจพร้อม
แต่ถ้าจะลุยโหดๆ หนักๆ จริงๆ ก็อย่าลืมว่า ควรมีอุปกรณ์พร้อม และไม่ควรไปคันเดียว เผื่อช่วยเหลือกันในยามคับขันครับ