ทุนไทย ลุย "รถ-ราง-เรือ" แข่งต่างชาติ
"สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น" วอน กรรมาธิการพลังงานฯ จี้ "ขสมก." แก้ระเบียบหนุนธุรกิจไทย ชิงเค้ก "รถเมล์ไฟฟ้า" 4,000 คัน เดินหน้าโครงการผลิตรถไฟ "ไฮบริด-อีวี" เล็งประเดิมขบวนพิเศษ กรุงเทพ-สุพรรณฯ
สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น เป็นกลุ่มธุรกิจของไทย ที่แตกตัวมาจากบริษัท โชคนำชัย จำกัด ผู้ผลิตแม่พิมพ์และชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ มีเป้าหมายคือการสร้างแบรนด์ของตนเอง จากที่ก่อนหน้านั้นธุรกิจเป็นเพียงผุ้รับจ้างผลิตเท่านั้น ซึ่งมีผลกำไรไม่มากนัก
เป้าหมายของสกุลฎ์ซี คือ การทำธุรกิจแบบครบวงจร ริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา การผลิต ไปจนถึงการทำตลาด โดยสินค้าที่วางแผนพัฒนาจะครอบคลุม “รถ เรือ และราง” ตั้งเป้าภายในปี 2566 จะมีรายได้รวม 5,000 ล้านบาท เป็นการโตก้าวกระโดดจากที่คาดว่าจะทำได้ 200 ล้านบาทในปีนี้
โดยขณะนี้สิ่งที่เริ่มต้นได้ก่อน คือ เรือ ซึ่งเริ่มต้นผลิตเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าหลากหลายรูปแบบ ทั้งเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ เรือโดยสาร เรือตรวจการณ์ หรือเรือเก็บขยะของกรมชลประทาน เรือช่วยน้ำท่วมของหน่วยงานทหาร เป็นต้น โดยจุดเด่นของคือเป็นเรือที่ผลิตจากอลูมิเนียม ทำให้มีน้ำหนักเบา และไม่เป็นสนิม นอกจากนี้ยังออกแบบให้มีระบบลอยตัวหากเกิดอุบัติน้ำเข้าจนเรือจม แต่ยังลอยปริ่มน้ำได้ เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร
ซึ่งการส่งมอบเรือแบบต่างๆ ภายในปีนี้จะสร้างรายได้รวม 200 ล้านบาท เป็นรายได้หลักของบริษัทในปีนี้
นอกจากนี้ ยังพัฒนาเรือพลังงานไฟฟ้า เพื่อตอบสนองการใช้งานที่ต้องการความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยขณะนี้ 2 ลำแรก ขนาด 20 เมตร 130 ที่นั่ง ใช้แบตเตอรี 625 กิโลวัตต์ชั่วโมง ชาร์จไฟระบบ ดีซี ใช้เวลา 4 ชม. อยู่ระหว่างการต่อ และจะส่งมอบได้ช่วงสิ้นปีนี้
“ปัจจุบันเรือส่วนใหญ่เป็นไม้ และไฟเบอร์กลาส 80-90% แต่ของเราเป็นอลูมิเนียมซึ่งทนทาน และยังสามารถต่อได้รวดเร็ว ใช้เวลาไม่ถีง 1 เดือน ขณะที่การสั่งต่อทัวไปใช้เวลานานกว่านั้นมาก” วีรพลน์ เตชะผาสุขสันติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สกุลฎ์ซี กล่าว
วีรพลน์ เตชะผาสุขสันติ
ขณะที่ธุรกิจผลิตรถบัสโดยสาร บริษัทเป็นรายเดียวที่ผลิตด้วยอลูมิเนียม ซึ่งมีน้ำหนักเบา และมีความแข็งแรง โดยผ่านการตรวจสอบจากกรมการขนส่ง ทั้งมาตรฐานการเอียง หรือมาตรฐานการชน
ทั้งนี้การพัฒนารถบัส บริษัทร่วมมือกับสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ในการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้มาตรฐานสากล
ส่วนการทำตลาดรถบัสโดยสาร จะมีทั้งความร่วมมือกับ ฮีโน่ โดยใช้เครื่องยนต์ และช่องทางการจัดจำหน่ายและบริการของฮีโน่ คาดว่าจะเริ่มเปิดตัวได้ภายในปีนี้
อีกกลุ่มหนึ่งที่บริษัทคาดหวังเอาไว้มากในอนาคต คือ การผลิตรถบัสโดยสารพลังงานไฟฟ้า ที่จะมีทั้งขนาด 7 เมตร และ 12 เมตร มีทั้งรถบัสขนาดใหญ่ ซิตี้บัส และรถบัสพื้นต่ำ โดยขณะนี้ได้พัฒนารถต้นแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว
เป้าหมายของตลาดนี้มีทั้งภาคเอกชน ที่ต้องการใช้รถที่มีระยะทางหรือเส้นทางที่แน่นอน เพี่อความสะดวกในการชาร์จไฟ และอีกตลาดหนึ่งที่คาดหวังก็คือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ที่มีแผนจัดหา อีวี บัส ในเบื้องต้น 2511 คัน และหลังจากนั้นจะมีอีก 1,500 คัน เท่ากับว่ามีความต้องการเกิดขึ้น 4,000 คัน ซึ่งถือเป็นปริมาณที่เพียงพอต่อการรุกตลาด
อย่างไรก็ตาม ติดปัญหาที่ ระเบียบของ ขสมก.ไม่ได้ซื้อรถ แต่ใช้วิธีการสัมปทาน ซึ่งบริษัทไม่มีเงินเพียงพอ ซึ่งเรื่องนี้ในโอกาสที่กรรมาธิการพลังงานฯ เดินทางมาเยี่ยมชมโรงงาน ที่บางปลาม้า สุพรรณบุรี วานนี้ (31 ส.ค.) บริษัทมีข้อเสนอให้มีการปรับแก้ไข เพื่อเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจของคนไทยมากขึ้น
หนึ่งในนั้นคือ การปรับเปลี่ยนระเบียบของ ขสมก. ที่ระบุให้รถที่จะเข้าร่วมโครงการต้องใช้ชิ้นส่วนในประเทศไม่น้อยกว่า 40% แต่บริษัทเห็นว่า ควรเพิ่มเป็น 85% เพราะปัจจุบันธุรกิจไทยทำได้อยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะเอื้อให้รถจากต่างชาติเข้ามาด้วยข้อกำหนดแค่ 40%
ซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยนจริง บริษัท ก็พร้อมที่จะร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นคนไทยทั้งหมด เพื่อสร้าง อีโค ซิสเทมส์ ผลิต อีวี บัส รองรับ ขสมก. ได้แน่นอน
ส่วนด้านราง บริษัท เห็นว่าประเทศกำลังก้าวไปสู่การขยายงานทางรากมากขึ้น โดยจะเพิ่มขึ้น 60% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จึงเห็นว่าเป็นอีกโอกาสของธุรกิจไทย จึงได้วิจัยและพัฒนาขบวนรถไฟ ซึ่งมีทั่งแบบล้อเหล็ก และล้อยาง นอกจากนั้นขณะนี้ร่วมกับพันธมิตรจากเยอรมนี พัฒนารถไฟดีเซล ไฮบริด โดยใช้ระบบไฮบริดจากพันธมิตร ส่วนที่เหลือผลิตในประเทศทั้งหมด
นอกจากนี้จัดทำหลักสูตรรถไฟขึ้น เพื่อพัฒนาเยาวชนให้พร้อมรับการขนส่งทางรางในอนาคต
ด้านการทำตลาด ได้หารือการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อป้อนตู้รถใฟให้ และเตรียมแผนนำร่องด้วยการสร้างรถไฟขบวนพิเศษ สำหรับวิ่งในเส้นทาง กรุงเทพฯ-สุพรรณบุรี ให้บริการแบบ วันเดย์ ทริป หรือไป-กลับวันเดียว รองรับกลุ่มท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ธุรกิจของสกุลฎ์ซี ทั้งเรือ รถ และราง จะเป็นตัวเร่งสร้างรายได้ ให้ได้ 5,000 ล้านบาทในปี 2566 และจะกลายเป็นธุรกิจสำคัญของกลุ่ม จากปัจจุบันรายได้หลักคือ ธุรกิจแม่พิมพ์และชิ้นส่วนรถยนต์ ประมาณ 1,600 ล้านบาท ตามมาด้วยธุรกิจโรงผลิตไฟฟ้า