โครงสร้าง-แอร์แบ็ก-เข็มขัดนิรภัย หรือว่า ‘โชค’ ช่วย ‘ไทเกอร์ วู้ดส์’
ในอดีตรถยนต์ที่มองว่าดีมีคุณภาพ แข็งแรง คือรถที่มีโครงสร้างตัวถังที่แข็งแรง เสียหายน้อย เมื่อเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง แต่หลังๆ แนวคิดเริ่มเปลี่ยนไป รวมถึงยังจำเป็นจะต้องมีตัวช่วยเพิ่มเติม
ข่าวคราวอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดขึ้นกับ “ไทเกอร์ วู้ดส์” ได้รับความสนใจจากทั่วโลก รวมถึงคนไทยจำนวนมาก จะด้วยการเป็นนักกอล์ฟชื่อดัง หรือมองว่าเขาเป็นลูกครึ่งไทยก็แล้วแต่
แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ ผลที่เกิดจากอุบัติเหตุครั้งนี้ที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ก็รอดมาได้ ซึ่งมีองค์ประกอบหลายๆ อย่างประกอบกัน
รถเอสยูวี คันใหม่เอี่ยม ที่เกิดเหตุ คือ “ฮุนได เจเนซิส จีวี 80” ซึ่งเป็นรถสนับสนุนการแข่งขันรายการ พีจีเอ กอล์ฟ ที่วู้ดส์ เป็นเจ้าภาพ
รถเสียหลักเป็นระยะทางยาว ปีนเกาะกลางถนนข้ามไปอีกฝั่ง ก่อนตกข้างทาง และพลิกหลายรอบ ก่อนจะหยุดนิ่งพร้อมร่องรอยความเสียหาย ทั้งด้านหน้าที่พังยับ กระจอุกหลังแตกละเอียด
แต่โครงสร้างห้องโดยสารยังคงรูปไว้ได้ นั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้วู้ดส์ไม่เจ็บไปมากกว่านี้
นี่เป็นรูปแบบการออกแบบรถยนต์ยุคใหม่ๆ ที่จะแบ่งโซนโครงสร้างตัวถัง ให้ด้านหน้าและด้านท้าย แข็งแรงน้อยกว่าห้องโดยสาร รวมถึงออกแบบทิศทางของแรงกระแทกให้กระจายออกด้านข้างให้มากที่สุด เพื่อปกป้องโดยสาร
เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ ห้องโดยสารที่ยังคงรูปและประตูที่สามารถเปิดได้ จะเป็นการช่วยชีวิตผู้ที่อยู่ในรถได้เป็นอย่างดี ลองจินตนาการดูว่าถ้าเปิดประตูไม่ได้ จะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นแค่ไหนในการช่วยเหลือ หรือหากมีปัจจัยที่เลวร้ายอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น กำลังจะจมน้ำ หรือ ไฟกำลังจะไหม้ จะยิ่งทำให้อันตรายเพิ่มขึ้น
ในอดีต รถยนต์สร้างขึ้นโดยเน้นความแข็งแรงทั้งคัน ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ที่อาจจะไม่รุนแรงนัก พบว่ารถเสียหายไม่มาก แต่ผู้โดยสารกลับได้รับบาดเจ็บรุนแรง เพราะถูกแรงเหวี่ยงไปกระแทกกับตัวรถ หรือบแม้แต่กระแทกกับเข็มขัดนิรภัยที่คาดอยู่นั่นเอง
ดังนั้นวิศวกรจึงต้องปรับใหม่ โดยให้ด้านหน้าหรือด้ายท้ายยุบตัวได้ เพื่อลดแรงที่ส่งเข้ามาในห้องโดยสาร
เมื่อไม่กี่ปีก่อน ในบ้านเรา บริษัทรถยนต์รายหนึ่ง นำเสนอโครงสร้างตัวถังในแนวคิดนี้ โดยสื่อสารออกไปหลายรูปแบบ รวมถึงจัดนิทรรศการ โดยนำรถที่ผ่านการชนมาจัดแสดงเพื่อทำให้เห็นว่าแม้ห้องเครื่องจะพังยับ แต่ประตูห้องโดยสารยังเปิดได้
แต่ด้วยความที่ยังเป็นเรื่องใหม่ คนที่ไปดูรถหลายคน พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
“อย่างนี้ ก็ต้องซ่อมแพงน่ะสิ”
จุดที่นำมาเป็นจุดขายคือเรื่องความปลอดภัย กลายเป็นจุดอ่อนในมุมผู้บริโภคบางรายไป
แต่วันนี้เชื่อว่าหลายคนเข้าใจกันดีแล้ว และเห็นถึงประโยชน์ของการออกแบบดังกล่าว
ย้อนกลับมาที่เรื่องราวของวู้ดส์ แม้ว่าห้องโดยสารจะยังคงคงรูปค่อนข้างดี ทำให้ปลอดภัยแต่ก็ยังมีองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย ซึ่งหากไม่มีหรือไม่ใช้ วู้ดส์ ก็อาจจะสิ้นชื่อไปแล้วเช่นกัน
นั่นก็คือ “แอร์แบ็ก” และ “เข็มขัดนิรภัย”
โดยเฉพาะเข็มขัดนิรภัย เพราะหากไม่คาด จะทำให้คนถูกแรงเหวี่ยงไปกระแทกกับรถ หรือ กระทั่งทะลุออกนอกรถไป
ขณะที่ แอร์แบ็ก ก็ช่วยลดแรงกระแทกอีกต่อหนึ่ง
แต่ 2 อย่างนี้ ถ้าขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไป ก็จะทำให้การปกป้องขาดความสมบูรณ์
ถ้าไม่มี แอร์แบ็ก อาจะมีโอกาสเจ็บเพิ่มขึ้น
แต่ถ้ามีแอร์แบ็ก แต่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย แบบนี้โอกาสเจ็บหนักหรือเสียชีวิตมีมากกว่า
ดังนั้นถ้าให้เลือก 2 อย่างนี้ เลือก เข็มขัดนิรภัยดีกว่า
แต่เหนืออื่นใด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ เพราะต่อให้โครงสร้างตัวถังดีอย่างไร มีพร้อมทั้งเข็มขัดนิรภัย มีทั้งแอร์แบ็ก แต่ถ้าเกิดการปะทะที่รุนแรงมากๆ ก็อาจจะช่วยได้ยากเช่นกัน
อย่าลืมว่า อุบัติเหตุครั้งนี้ ไม่มีรถคันอื่นสวนทางมาในจังหวะนั้น และเจเนซิส ก็ไม่พุ่งตรงไปยังเสาไฟที่มีความแข็งมากกว่าอีกด้วย
จะว่า “โชคดี” ก็ได้ แม้จะเป็นเรื่องที่หลายคนบอกว่าไม่ใช่วิทยาศาสตร์ก็ตาม