ฟื้น ไม่ฟื้น? ... ตลาดรถ ปี 64
เปิดมุมมอง ผู้บริหารบริษัทรถยนต์ ต่อตลาดรถยนต์ปีนี้ บางคนเชื่อว่ายังโตได้ และงานบางกอก มอเตอร์โชว์ขณะนี้จะเป็นอีกปัจจัยบวก ขณะที่บางรายก็หวั่นสถานการณ์โควิด-19 และปัญหาอื่นๆ เช่น ภาวะหนี้ครัวเรือน
งานบางกอก มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 42 ปีนี้ สามารถดำเนินงานได้ตามช่วงเวลาปกติ แม้จะอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ก็ตาม ซึ่งคนในวงการยานยนต์เชื่อว่าจะเป็นผลดี
การสามารถจัดงานได้ตามกำหนด ต่างจากปีที่แล้ว ที่จำเป็นต้องเลื่อนการจัดงานออกไปถึง 3 ครั้ง ก่อนจะลงตัวในช่วงเดือน กรกฎาคม ทำให้เสียอากสทางการขายในช่วงต้นปีไปไม่น้อย
การสามารถจัดงานได้ เป็นสิ่งที่ทางผู้ประกอบการมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่จะช่วยกระตุ้นยอดขาย เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์และข้อเสนอจำนวนมากที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ หลังจากที่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาภาพรวมตลาดรถยนต์ไม่ดีนัก เดือน ม.ค.-ก.พ. มียอดขาย 1.14 แสนคัน ลดลง 18.2%
นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างมั่นใจในการใช้ชีวิตของผู้คน เพราะเป็นงานที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมากได้ ซึ่งหากสามารถบริหารจัดการได้ถูกวิธี มีความปลอดภัย คล้ายกับงานในปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งมอเตอร์โชว์เป็นงานใหญ่งานแรก หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ประเทศ และทำให้ผู้คนกล้าใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น
ในด้านผู้จัด จาตุรนต์ โกมลมิศร์ รองประธานจัดงานประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่า งานปีนี้น่าจะมีผู้ชมงานประมาณ 1.3 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แสดงถึงความสนใจของผู้คนที่ยังมีอยู่ ขณะที่ยอดจอง ประเมินว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือ 2 หมื่นคัน ซึ่งไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับการจัดงานในช่วงภาวะปกติ แต่ก็ถือว่าเป็นระดับที่น่าพอใจ
โดยปีนี้มีรถยนต์และจักรยานยนต์เข้าร่วมงานใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยลดลงเล็กน้อย เช่น ลัมโบกินี แลนด์ โรเวอร์ จากัวร์ และรถจักรยานยนาต์ คาวาซากิ เนื่องจากเหตุผลด้านรถใหม่
แต่ที่ลดลงชัดเจน คือ สินค้ากลุ่มอุปกรณ์ประดับยนต์ ตกแต่ง เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป และซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น
ส่วนมุมมองของบริษัทรถยนต์ ก็คาดหวังกับงานนี้ไม่น้อย เช่น มาสด้าที่ตั้งเป้าการจอง 3,000 คัน สูงกว่าปีที่แล้วที่ทำได้ 2,365 คัน แม้จะต่ำกว่าช่วงภาวะปกติที่อยู่ระดับ 4,000 คันก็ตาม
ชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มาสด้าดีใจ ที่งานปีนี้จัดได้ตามกำหนดเวลาเดิม เพราะโดยปกติ การจัดงานแสดงรถยนต์ต่างๆ ในประเทศ เป็นช่วงเวลาที่กระตุ้นยอดขายได้ดี
อย่างไรก็ตามการที่ปีนี้ยังคงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดความกังวลอยู่บ้างว่า ประชาชนจะไม่กล้าเดินทางมาชมงาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบได้ แต่ถ้าหากไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อตลาดรถยนต์อย่างแน่นอน
สำหร้บภาพรวมของตลาดรถยนต์ปีนี้ มาสด้าประเมินว่าจะอยู่ที่่ 8 แสนคัน ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 7.9 แสนคัน โดยประเมินจากการที่ไทยมีทั้งปัจจัยบวกและลบ โดยปัจจัยลบ เช่น
- การระบาดของโควิด-19
- ภาวะหนี้ครัวเรือน
ส่วนปัจจัยบวก คือ
- การมีวัคซีน โควิด-19
- การบริหารจัดการสถานการณ์ของภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของภาครัฐ
- การเตรียมเปิดประเทศเพื่อส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่มีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ทาเคชิ คาซาฮาระ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดรถยนต์ในปีนี้ เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยาก ต้องดูทิศทางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าจะเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นในแนวทางแก้ปัญหาของภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาด
นอกจากนี้การที่ประชาชนส่วนหนึ่งอั้นการซื้อรถยนต์ในปีที่แล้ว จะส่งผลดีต่อปีนี้เช่นกัน รวมถึงการที่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ มีการเดินทางได้ตามปกติ และยังสามารถจัดกิจกรรมได้บางส่วน ต่างจากปีที่แล้วที่ล็อกดาวน์ ก็จะส่งผลดีต่อตลาดเช่นกัน โดยเฉพาะรถปิกอัพ
“โดยปกติช่วงก่อนสงกรานต์ จะเป็นฤดูการขายประจำปีอีกช่วงหนึ่ง เพราะคนต้องการซื้อรถเดินทางกลับบ้าน แต่ปีที่แล้วที่มีการล็อกดาวน์ ซึ่งจะเห็นได้ว่ายอดขายหายไปอย่างชัดเจน แต่ปีนี้ต่างจากปีที่แล้ว”
และเมื่อดูถึงปัจจัยอื่นๆ ประกอบกัน เชื่อว่าตลาดปีนี้จะมียอดขายประมาณ 8.6-8.7แสนคัน เติบโต 9-10% จากปีที่แล้ว และในส่วน อีซูซุคาดว่าจะมียอดขายไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 1.8 แสนคัน
โดยในช่วงเดือน ม.ค-ก.พ. อีซูซุมียอดขาย 3.17 หมื่นคัน แบ่งเป็น
- ปิกอัพ ดีแมคซ์ 2.63 หมื่นคัน
- รถพีพีวี มิว-เอ็กซ์ 3,285 คัน
- รถบรรทุก 2,127 คัน
ด้านโนริอากิ ยามาชิดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่มาตรการควบคุมของภาครัฐทำได้ดี รวมถึงมีมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจ และตลาดรถยนต์ ดังนั้นโตโยต้า เชื่อว่ายอดขายรถยนต์โดยรวมปีนี้จะอยู่ที่ 8.5-9 แสนคัน เพิ่มขึ้น 7-14%
สำหรับรถใหม่ๆ หรือรถที่ได้รับควาามสนใจในงานปีนี้เช่น
- เกรทวอลล์ ที่จัดแสดง ฮาวาล เอช 6
- รถพลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี โอรา กู๊ดแคท และแบล็คแค็ท
อย่างไรก็ตาม เกรทวอลล์ยังไม่เปิดราคา เพราะจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการสำหรับฮาวาล เอช 6 ในช่วงไตรมาสที่ 2 ส่วน อีวี จะเปิดตัวช่วงปลายปี
สำหรับ อีวี ในงานนี้ นอกจากโอร่า ก็ยังมีอีกหลายรุ่น ทั้งรุ่นเก่า และใหม่ เช่น ฮุนได โคน่า เอ็มจี แซดเอส อีวี เอ็มจี อีพี อาวดี้ อี-ทรอน อาวดี้ อี-ทรอน สปอร์ตแบ็ค อาวดี้ อี-ทรอน จีที ปอร์เช่ ไทคานน์ ทาคาโน่ รวมถึงเทสล่า จากผู้นำเข้ารายย่อย ขณะที่วอลโว่ ซึ่งเปิดราคา เอ็กซ์ซี-40 รีชาร์จ เพียว อีเลคทริค 2,59 ล้านบาท แต่ยังไม่มีรถตัวจริงมาจัดแสดง
ส่วนรถใหม่ หรือ ไมเนอร์เชนจ์ เช่น ซูบารุ เอาท์แบ็ค บีเอ็มดับเบิลยู เอ็ม 4 คอมเพทติชั่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ GLE 350de AMG Dynamic, อี-คลาส คูเป้ หรือว่า เอ็มจี เอ็กซ์เทนเดอร์ เป็นต้น