80 ปี นิสสัน โลโก้ เปลี่ยน ‘ดีเอ็นเอ’ คงเดิม

80 ปี นิสสัน โลโก้ เปลี่ยน ‘ดีเอ็นเอ’ คงเดิม

ปี 2563 เราได้เห็นโลโก้ใหม่ของนิสสัน บนรถ อาริยะ (Ariya) แต่ว่าแม้จะผ่านกาลเวลากว่า 80 ปี และมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง แตสิ่งหนึ่งที่จะต้องคงไว้ คือความหมายของคำว่า “ลูกพระอาทิตย์

ปีที่แล้ว นิสสัน ประกาศเปลี่ยนแปลงโลโก้ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย และตอบรับทิศทางในอนาคตที่เปลี่ยนไป ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยี ที่ก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งหลายคนก็เห็นว่าดูทันสมัยขึ้น

รถรุ่นแรกที่ใช้ โลโก้ใหม่ คือ “อาริยะ” (ARIYA) รถพลังงานไฟฟ้า หรือ “อีวี” ในรูปแบบ ครอสโอเวอร์ คันแรกของนิสสัน และหลังจากนี้เป็นต้นไป รถรุ่นใหม่ที่ผลิตออกมา ก็จะเปลี่ยนมาใช้โลโก้นี้เช่นกัน

161726849952

แต่จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร โลโก้ใหม่ ก็ยังอยู่พื้นฐานของอัตลักษณ์ คือ “ดวงอาทิตย์”

ทั้งนี้ชื่อของ “นิสสัน” นั้น ในภาษาญี่ปุ่น มีความหมายว่า “ลูกพระอาทิตย์” หรือ “กำเนิดจากพระอาทิตย์”ซึ่งเป็นที่มาของการออกแบบโลโก้ตั้งแต่เมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว

ปี. 2473 “โยชิซุเกะ ไอกาวา” มีความคิด ความฝันที่จะสร้างแบรนด์รถยนต์ของชาวญี่ปุ่นขึ้นมา โดยได้ดำเนินการควบรวม 3 บริษัทเข้าด้วยกันประกอบด้วย

  • บริษัท โทบาตะ ฟาวดรี้ จำกัด (Tobata Foundry Co. , Ltd.)
  • บริษัท นิฮอง ซังเกียว (Nihon Sangyo)
  • บริษัท ดัท มอเตอร์แคร์ จำกัด (Dat Motorcar Co.) ที่ก่อนหน้าเป็นผู้ริเริ่มผลิตรถยนต์ DAT ในปี 2457

การควบรวมทั้ง 3 บริษัท ได้ก่อให้เกิดขึ้นชื่อใหม่ขึ้นมา คือ “นิสสัน” และได้ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยพัฒนา ผลิต และจำหน่ายด้วยแบรนด์ “ดัทสัน” และ “นิสสัน” ก่อนจะสร้างโลโก้ของแบรนด์นิสสัน ขึ้นมา

โลโก้แรกเกิดขึ้นในปี 2476 โดยแนวคิดการออกแบบนั้นสืบทอดมาจากการออกแบบของ ดัทสัน โดยใช้ลวดลายสัญลักษณ์รูปแบบเดียวกัน มีสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีน้ำเงิน ตัวอักษรสีขาว อยู่บนดวงกลมสีแดง ซึ่งแน่นอน มันเป็นสัญลักษณ์ของ "ดวงอาทิตย์ที่กำลังขึ้น"

ศ.เดวิด บิฮานิก นักออกแบบ และอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ กรุงปารีส เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสัญลักษณ์เชิงกราฟฟิก ยืนยันว่า โลโก้แรก เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงรากเหง้าของญี่ปุ่น ซึ่งตรงกับวงกลมสีแดงบนธงชาติญี่ปุ่น

นิสสัน ใช้โลโก้แบบแรกนี้เป็นอัตลักษณ์มาจนถึงปี 2513 แม้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา จะมีการปรับแก้รวม 4 ครั้ง แต่ทุกครั้งก็จะคงเชื่อมโยงกับมรดก และวัฒนธรรมของนิสสัน อยู่เสมอ

แต่นั่นคือ โลโก้ แบรนด์ แต่ว่าโลโก้บนรถยนต์นั้นจะแตกต่างไป และมีความหลากหลายมากกว่า เพื่อความเหมาะสมของการรถยนต์

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เจนคือช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ตราสัญลักษณ์ทางการของนิสสันเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ พบเห็นได้ทั่วในช่วงทศวรรษที่ 50 แต่พอเข้าสู่ยุค 60 มันก็ถูกแทนที่ด้วยตัวอักษรแบบเอียง และเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคในยุคนั้นชื่นชอบ เพราะมันแสดงออกถึงความเป็นตัวตน ละมีอิสระมากขึ้น รวมถึงให้ความรู้สึกเป็นกันเอง

และในปี 2503 นิสสันยังเปลี่ยนตัว N พิมพ์ใหญ่มาเป็น n พิมพ์เล็ก อีกด้วย

161726849880

แต่ทศวรรษต่อมาตัวพิมพ์ใหญ่ก็กลับมาอีกครั้ง เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวนิสสัน ต้องการเน้นภาพลักษณ์ด้านธุรกิจมากขึ้น โดยยุค 80 เป็นยุคที่ผู้คนต้องการแสดงถึงสถานะของตนเอง และต้องการให้คนอื่นได้รับรู้ ทำให้มียี่ห้อรถจำนวนมาก โดยมีตัวอักษรหนา

จนกระทั่งถึงยุคที่นิสสันต้องการสร้างแบรนด์สู่ระดับโลก ดังนั้นการสร้างการจดจำเป็นเรื่องสำคัญ และต้องทำให้ได้ทั้งอัตลักษณ์และภาพลักษณ์ จึงเกิดโลโก้แบรนด์เป็นขาวดำเมทัลลิกในปี 2554 ซึ่งโลโก้นี้ใช้กับรถทุกคันและทุกรุ่น

และเมื่อเข้าสู่ปี 2563 ยุคที่อุตสาหกรรมยานนต์ก้าวเข้าสู่ยุคของการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น นิสสันจึงเปิดตัวโลโก้ใหม่ มีจุดเด่นคือความเรียบง่าย และโลกได้เห็นมันติดอยู่ที่ด้านหน้าของอาริยะ เป็นรุ่นแรก

161726849849

โลโก้แบรนด์แบบใหม่ใช้รูปแบบ 2 มิติ สีเดียวที่เพรียวบางกว่า และความคมชัดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นตัวแทนของยุคใหม่ของการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ราบรื่น นอกจากนี้ยังปรับให้เข้ากับยุคของสมาร์ทโฟนด้วยกราฟิกที่สะอาดตา ทำให้ดูโดดเด่นบนหน้าจอ

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา จนถึงยุคที่โลโก้ใหม่ล่าสุด นิสสัน ระบุว่า แม้โลโก้จะเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือ “วงกลม” ที่เปรียบเสมือนตัวแทนของดวงอาทิตย์

161726849858

ซึโตมุ มัตซึโอะ รองผู้จัดการทั่วไปฝ่ายออกแบบขั้นสูง เปิดเผยว่า โลโก้ใหม่สื่อถึงความหมายและแนวทางที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตว่า “ถ้าคุณมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า มันก็ทำให้คุณก้าวไปได้ถึงดวงอาทิตย์”

ด้านบิฮานิกอธิบายว่า โลโก้จะสามารถเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อให้เข้ากับยุคปัจจุบัน กราฟิกเหล่านี้ต้องสะท้อนและถูกนำไปใช้เพื่อรักษา DNAของแบรนด์ แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม

“ส่วนหนึ่งของตัวตนนี้จะต้องเด่นชัดและไม่จางหายไปถึงแม้ว่าเราจะมีการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ก็ตาม ยกเว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงในฝ่ายบริหาร หรือวิสัยทัศน์รวมถึงทิศทางขององค์กร”

161726849872

ดังนั้นนิสสัน จึงอธิบายโลโก้ใหม่ เป็น วิวัฒนาการ” มากกว่าการ “รีแบรนด์”

ขณะที่ บิฮานิก เห็นด้วยว่า นี่เป็นสัญญาณของแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในการรักษาประวัติศาสตร์ของแบรนด์ และเปิดกว้างมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา