ปอร์เช่ เคาะราคา 'จีที 3' เริ่ม 17.9 ล้าน
ปอร์เช่ ยกระดับ จีที 3 ดึงทีมรถแข่งร่วมพัฒนา เพิ่มสมรรถนะ เครื่องยนต์ - อากาศ พลศาสตร์
ปอร์เช่ “911 จีที3” (Porsche 911 GT3) สปอร์ตตัวแรง พัฒนาไปอีกขั้น เมื่อปอร์เช่ เอจี ผู้ผลิตรถสปอร์ต พรีเมียม เยอรมนี ตัดสินใจ เสริมการติดตั้งอุปกรณ์ทางเทคนิคเข้าไปในขั้นตอนการพัฒนา
โดยแนวคิดหลักในการพัฒนา คือ การเพิ่มขีดความสามารถในเรื่องสมรรถนะ โดยไม่ลดทอนอรรถประโยชน์ความสะดวกสบายในการใช้งานประจำวัน
การพัฒนาครั้งนี้ เป็นการ่วมมือกันระหว่างช่างเทคนิคจากสายการผลิตปกติในโรงงาน และทีมพิเศษคือ บุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากแผนกมอเตอร์สปอร์ต
แอนเดรียส พรูนิงเกอร์ ผู้อำนวยการส่วนงาน จีที โมเดล ไลน์ กล่าวว่า ปอร์เช่ ใช้ทีมงานวิศวกรชุดเดียวกับที่พัฒนารถแข่งเข้ามาร่วมออกแบบจีที คันใหม่ ให้เป็นรถสำหรับใช้งานบนถนนสาธารณะ
ขั้นตอนสำคัญในการพัฒนาอย่างหนึ่ง คือ การปรับแต่ลและทดสอบภายในอุโมงค์ลม ที่ใช้เวลามากว่า 160 ชั่วโมง จากการให้ความสำคัญกับหลักอากาศพลศาสตร์ ซึ่งสิ่งที่เป็นสิ่งยืนได้คือ การติดตั้งปีกหลังแบบลอยตัว หรือ suspended rear wing เป็นครั้งแรกสำหรับรถในสายการผลิตปกติ และมีจุดยึดแบบ swan-neck ลักษณะเดียวกันกับที่ใช้ในรถแข่ง จีที (GT) ปอร์เช่ 911 อาร์เอสอาร์ (Porsche 911 RSR) และรถแข่ง one-make cup ปอร์เช่ 911 จีที3 คัพ (Porsche 911 GT3 Cup)
ขาแขวนแบร็คเก็ตอะลูมิเนียมทั้ง 2 ข้าง รองรับชิ้นส่วนปีกดังกล่าว ทำให้อากาศเคลื่อนที่ผ่านด้านล่างโดยไม่ถูกกีดขวาง ชึ่งช่วยลดการสูญเสียพลังงาน และช่วยเพิ่มแรงกดท้ายรถให้มากขึ้นเมื่อขับขี่ที่ความเร็วสูง ทำให้รถเสถียรภาพการทรงตัวมากขึ้น
“เราพัฒนาด้านอากาศพลศาสตร์ของปอร์เช่ 911 จีที3 ใหม่ ผ่านแบบจำลองมากกว่า 700 รูปแบบ ใช้เวลามากกว่า 160 ชั่วโมง เพื่อปรับตั้งตัวรถอย่างประณีตภายในอุโมงค์ลม ซึ่งไม่ได้จำลองเฉพาะทิศทางที่รถวิ่งตรงไปข้างหน้าเท่านั้น แต่ทดสอบทุกสถานการณ์ในการขับขี่ที่อาจจะเป็นไปได้ทั้งหมด เราจับรถม้วนตัว โยนไปมา และเขย่าซ้ายขวา เพื่อจำลองทุกสภาพที่ต้องพบเจอระหว่างขับขี่บนสนามแข่ง”
ทั้งนี้สำหรับปีกหลังดังกล่าว สามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งได้ 4 ระดับ ทำงานสอดคล้องกับดิฟฟิวเซอร์หน้าซึ่งปรับได้ 4 ระดับเช่นเดียวกัน
ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ปอร์เช่ 911 จีที3 ใหม่ สร้างแรงกดได้มากกว่ารุ่นก่อนหน้า 50% ที่ความเร็ว 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง
แต่ถ้าหากกว่าต้องการแรงกดสูงสุด สามารถปรับตั้งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่า 150% ด้วยอุปกรณ์เสริม
“ไม่เพียงชิ้นส่วนตัวถังต่างๆ จะคล้ายคลึงอย่างมากกับอุปกรณ์ที่ใช้ในรถแข่งเท่านั้น ขั้นตอนและวิธีการในการพัฒนาก็ยังถอดแบบกันมาอีกด้วย” วิศวกรอากาศพลศาสตร์อธิบาย
ทางด้านขุมพลัง จีที 3 ปอร์เช่พัฒนาเครื่องยนต์ความจุ 4 ลิตร ไร้ระบบอัดอากาศที่ให้รอบการทำงานสูง และผ่านการทดสอบใช้งานมากกว่า 22,000 ชั่วโมงบนแท่นทดสอบ
- กำลังสูงสุด 510 แรงม้า ที่ 8,400 รอบ/นาที เพิ่มขึ้น
- 10 แรงม้า จากรุ่นก่อนหน้า
- แรงบิดสูงสุด 470 นิวตันเมตร
- เพิ่มขึ้นจากเดิม ที่ให้แรงบิด 460 นิวตันเมตร
- เครื่องยนต์ยอมให้ลากรอบไปได้สุงสุดที่ 9,000 รอบ/นาที
การพัฒนาเครื่องยนต์ ก็ได้แนวคิดมาจากสนามแข่ง ไม่ว่าจะเป็นการทำให้วาล์วทำงานแม่นยำขึ้นที่รอบสูง แบริ่งเพลาข้อเหวี่ยงขยายขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ผนังกระบอกสูบเคลือบสารพลาสมาเพื่อลดการสูญเสียกำลังรวมทั้งลดการสึกหรอจากแรงเสียดทานที่ต่ำลง ระบบลิ้นปีกผีเสื้อแยกอิสระซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากรถแข่งให้การตอบสนองที่รวดเร็วทันใจยิ่งขึ้น
อ่างน้ำมันเครื่องแยกด้วยการทำงานของจังหวะดูดน้ำมันเครื่องรวมทั้งสิ้น 7 ขั้นตอน เพื่อให้น้ำมันเครื่องถูกส่งกลับไปยังอ่างอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รองรับรอบที่จัดของเครื่องยนต์
“เครื่องยนต์ที่ประจำการอยู่ในรถแข่งปอร์เช่ 911 จีที3 คัพ นั้นมีอุปกรณ์ที่แตกต่างจากเครื่องยนต์บล็อกนี้แค่ 2 อย่างนั่นคือระบบระบายไอเสียและกล่องสมองกลควบคุมเครื่องยนต์ นอกจากนั้นเหมือนกันแทบทุกประการ” ปอร์เช่ ระบุ
สำหรับลูกค้าชาวไทย ปอร์เช่ เปิดรับจอง จีที 3 ใหม่ เรียบร้อยแล้ว ด้วยราคาเริ่มต้น 17.9 ล้านบาท