รถเลี่ยงภาษี ทำอย่างไร ปัญหาคู่สังคมไทย ที่ควรหมดไปเสียที
ปัญหารถเลี่ยงภาษี รถลักลอบนำเข้า ฯลฯ เกิดขึ้นมายาวนาน เพียงแต่ว่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันตอนไหนเท่านั้นเอง และมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ปัญหานี้จะหมดไปเสียที
เรื่องของรถเลี่ยงภาษี ฯลฯ จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูด ส่วนใหญ่ก็คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรสักอย่าง เช่น กรณีของรถในครอบครอง ผกก.โจ้ มากมายหลายคัน โดยเฉพาะคันที่โดดเด่นที่สุดที่หากซื้อขายถูกต้องทุกอย่างจะมีค่าตัว 47 ล้านบาท
นั่นคือ ลัมโบร์กินี อเวนทาดอร์ แอลพี 720-4 50 แอนนิเวอร์ซารี (Lamborghini Aventador LP 720-4 50 Anniversario) ซึ่งป็นรถรุ่นพิเศษ ผลิตขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองอายุ 50 ปีของ Automobili Lamborghini และผลิตเพียงแค่ 100 คัน เท่านั้น
แต่รถคันนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า เป็นรถที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของดีเอสไอในคดี “รถหรู” เลี่ยงภาษี ใน คดีพิเศษที่ 199/2560
ทั้งนี้หากจำกันได้ ปี 2560 ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการขอหมายค้นต่อศาลอาญาเพื่อตรวจค้นสถานที่เป้าหมายหลายแห่ง และอายัดรถยนต์เกือบๆ 200 คัน
แต่ว่าประกอบการหลายายก็สามารถแจกแจงรายละเอียดต่างๆ ได้ทำให้รถหลายๆ คันหมดปัญหาไป แต่ก็ยังมีบางคันที่ยังคงมีคดีตกค้างอยู่
หรือหากย้อนกลับไปอีกสักหน่อย คือปี 2556 มีเหตุการณ์ที่ทำให้เรื่องของรถหนีภาษีถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงคือ กรณี รถเทรลเลอร์ บรรทุกรถยนต์ไฟไหม้บนถนนมิตรภาพย่านกลางดง นครราชสีมา ฝั่งขาเข้านครราชสีมา
โดยรถที่อยู่บนรถเทรลเลอร์และถูกไฟไหม้ ทั้ง บีเอ็มดับเบิลยู เบนท์ลีย์ ลัมโบร์กีนี และ เฟอร์รารี
และยังตรวจพบถังแก๊สในซากรถด้วย ทำให้ถูกตั้งคำถามว่าจะเป็นความพยายามที่จะใช้เป็นหลักฐานในการจดทะเบียนเป็นรถติดแก๊สหรือไม่ เพราะมีอัตราภาษีที่ต่ำลงมาก
ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีเจ้าของรถในระดับนี้คนไหนที่จะเอารถไปติดแก๊ส สำหรับการใช้งานจริง
หรือกรณีนักการเมืองชื่อดังระบุว่ารถของตนเอง คือ เบนท์ลีย์ ซื้อมาในราคาแค่ 2 ล้านบาท ก็ทำให้เกิดคำถามว่าเป็นไปได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ที่มาที่ไปของรถจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง สามารถตรวจสอบได้ เพียงแต่อาจจะต้องใช้เวลา และทรัพยากร เนื่องจากว่าการเลี่ยงภาษี การลักลอบนำเข้า สะสมมานาน และคงไม่ได้หยุดแค่นั้น แต่มันเกิดขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้สำหรับเหตุกาณ์ในช่วงเวลานั้น ทาง พ.ต.ท. กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสอนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอ ซึ่งช่วงนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิบดีฯ ระบุว่า รถหลายๆ คัน แจ้งราคาต้นทาง (ประเทศแหล่งนำเข้า) ที่ต่ำกว่าราคาจริง คือ ไม่เกิน 40% ของราคาต้นทางเท่านั้น ทำให้เมื่อนำเข้ามาแล้วจึงจ่ายภาษีต่ำกว่าปกติ เพราะราคาต้นทางที่ต่ำกว่าจริงเกินครึ่ง
ซึ่งประเด็นนี้ในช่วงนั้น ทำให้ผู้คนตั้งข้อสงสัยกันมากว่า ทำไมในเมื่อ ดีเอสไอ รู้ แต่หน่วยงานที่ดูแลการนำเข้า ถึงไม่รู้
ทั้งนี้เป็นเพราะว่าโดยปกติหน่วยงานที่ดูแลด้านนี้จะสามารถตรวจสอบราคากลาง ที่เรียกว่า “ฮาร์โนไนเซชัน” ได้ไม่ยาก ตรวจสอบเพื่ออะไร ก็เพื่อใช้เปรียบเทียบได้ ซึ่งใช้เวลาดำเนินการไม่นาน
แต่มองอีกมุม ก็เป็นไปได้ว่าทางผู้นำเข้านั้นมีลูกล่อลูกชน ลูกเล่นมากมาย และมีอะไรใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ ทำให้การตรวจสอบยากขึ้น
วิธีการที่จะหลบเลี่ยงภาษี ทำอย่างไร คนในวงการให้ข้อมูล พร้อมระบุว่า นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น
- ตั้งบริษัทต่างประเทศ แจ้งอันเดอร์อินวอยซ์
วิธีนี้เป็นหนึ่งในแนวทางที่ผู้แจ้งจะสามารถอ้างราคาทุนที่ตำกว่าจริงได้ว่า เป็นราคาตามอินวอยซ์ที่ผู้นำเข้าแจ้งมา เรียกว่า อันเดอร์ อินวอยซ์
ทั้งนี้อันเดอร์ อินวอยซ์ ไม่สามารถกระทำโดยตรงได้ โดยเฉพาะรถยนต์ที่นำเข้าจากประเทศในทวีปยุโรป เนื่องจากมีความเข้มงวดมาก
วิธีการหลบเลี่ยงก็คือ การตั้งบริษัทในเครือในบางประเทศ เช่น ฮ่องกง เคย์แมน หรือ บริติช เวอร์จิน ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีการตรวจสอบรายละเอียดมากนัก จากนั้นจึงใช้กระบวนการซื้อด้วยวิธีแบ่งจ่าย หรือ แบ่งเป็นจ่ายเงินจองกับส่วนที่เหลือ
ก้อนหนึ่งจ่ายโดยบริษัทในเครือที่อยู่ต่างประเทศ อีกใบจ่ายโดยบริษัทในไทย ดังนั้นจึงมีใบอินวอยซ์ 2 ใบ และนำมาแจ้งแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแค่ใบเดียว คือ ใบของบริษัทในประเทศ ทำให้มีราคาต้นทางที่ต่ำลง อาจจะ 50% หรือ 40% ของราคาจริง
- แบ่งค่ารถเป็นค่าเทคนิค
นอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่นๆ ที่จะทำให้สามารถแจ้งต้นทุนต่ำกว่าราคาจริง ก็คือ การตกลงกับทางโรงงานผู้ผลิต ว่าจะจ่ายเงินค่ารถส่วนหนึ่ง เช่น 40% ส่วนที่เหลือ 60% จะให้บริษัทในเครือต่างประเทศ จ่ายให้ในรูปแบบที่เรียกว่าค่าบริการทางเทคนิค หรือ technical assistance fee ก็จะทำให้สามารถอินวอยด์ต่ำกว่าราคาจริงได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามวิธีการนี้ ในระยะหลังทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่นำเข้าจากยุโรปที่มีควมเข้มงวด แต่ก็ยังมีความเป็นได้ หากมีการซื้อขายผ่านบริษัทในเครือก่อน จากนั้นบริษัทในไทยจึงไปซื้อต่อมาอีกทอดหนึ่ง
“ยุโรปมีฐานข้อมูลที่แน่นและตรวจสอบได้ง่าย อย่างเช่นกรณีของเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ สำหรับเครื่องบิน ผ่านไปหลายปีก็ยังตรวจสอบได้”
- เปิดสูตรรู้ต้นทุนต้นทาง
อย่างไรก็ตาม หากต้องการรู้ต้นทุนที่แท้จริงของรถในยุโรปก็ไม่ใช่รื่องยากนัก โดยหน่วยงานก็สามารถใช้ราคาฮาร์โมไนเซชัน
แต่ถ้าเราๆ ท่านๆ คนทั่วไปอยากรู้คร่าวๆ ก็ใช้วิธีการดูราคาจำหน่ายในประเทศผู้ผลิต ว่ามีราคาขายปลีกเท่าไร จากนั้น ใช้ 0.7 คูณ
เช่น ในประเทศผู้ผลิตมีราคาชายปลีก 5 ล้านบาท ต้นทุนราคารถที่จะส่งออกจะอยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านบาท โดยสัดส่วน 0.3 ที่หายไป คือภาษีต่างๆ
และเมื่อรู้ต้นทุนที่แท้จริงก็สามารถหาราคาที่ควรจะเป็นในไทย ได้โดยนำราคาต้นทุนบวกกับราคาขนส่งและประกันภัย ซึ่งปกติไม่เกิน 15% เรียกว่าเป็นราคา ซีไอเอฟ จากนั้นนำมาคิดภาษีนำเข้า 80% และนำบวกเข้าไปใน ซีไอเอฟก่อนนำมาคิดภาษีสรรพสามิต ซึ่งมีหลายระดับ แล้วจึงไปคิดภาษีมหาดไทย 10% และสุดท้ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
อย่างไรก็ตามแม้ผู้นำเข้าจะมีวิธีการหลีกเลี่ยงอย่างไร แต่หน่วยงานรัฐหากตรวจสอบจริงจัง จะไม่มีทางหลุดรอดไปได้ เพราะสามารถหาราคาเปรียบเทียบได้ ดังนั้นจึงต้องตามดูว่าหน่วยงานไหน หรือ บุคคลใดที่ปล่อยให้รถผ่านออกไปจากด่านศุลกากรได้