10 อันดับ ขับแล้วชอบ รวมรถลองขับ ปี 2564
ปี 2564 ที่ผ่านมา มีรถยนต์ที่ผมได้ลองขับมากมายหลายรุ่น ซึ่งต่างก็มีเอกลักษณ์ มีจุดเด่นที่ต่างกันไป วันนี้ผมขอเลือกรุ่นที่ชื่นชอบบางรุ่นจากการลองขับระหว่างปี ซึ่งจริงๆ มีมากมาย แต่เอาเท่าที่เหมาะสมกับพื้นที่ครับ
สวัสดีปีใหม่ 2565 แฟนๆ Bankgokbiznews ขอให้มีความสุข สุขภาพแข็งแรงทุกท่านครับ
สำหรับรถที่ผมได้ลองขับในปี 2564 ที่คัดเลือกมาคุยกันในวันนี้ เริ่มต้นกันที่
- "ฮอนด้า เอชอาร์-วี" เพราะเป็นรถที่ยกระดับจากเจเนอรชั่น 1 ที่ก็ขับดีอยู่แล้วอย่างชัดเจน
เป็นรถที่การควบคุมทำได้ดี และหากเทียบกับรถในตลาดเดียวกัน ผมจัดให้อยู่ในอันดับต้นๆ ได้อารมณ์สปอร์ตคล้ายๆ กับมาสด้า ซีเอ็กซ์-3 แต่ได้ความนุ่มนวลมากกว่า
ควบคุมง่าย นิ่ง ในทุกย่านความเร็ว จับพวงมาลัยแค่หลวมๆ สบายๆ เข้าออกโค้งได้เนียนๆ แม่นยำ การยึดเกาะถนนกลางโค้งส่งความรู้สึกมายังผู้ขับให้รับรู้ได้ ไม่มีอาการไถลลื่น การโยนตัวของตัวถังมีบ้าง แต่ไม่มาก ต้องให้เครดิตกับพวงมาลัยที่แม่นยำ มีน้ำหนักดี
การตอบสนองของระบบไฮบริด ช่วงออกตัว ความเร็วต่ำ และความเร็วกลางๆ ทำได้ดี อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกับการขับดุๆ 17.8 กม./ลิตร แต่เมื่อขับขี่กลมกลืนกับรถคันอื่นๆ เกือบๆ 21 กม./ลิตร
- “อาวดี้ อาร์เอส5 คูเป้ ควอทโทร” รถรหัสแรงของอาวดี้ มีความดุดัน ผสมกับอารมณ์ดิบๆ เล็กน้อย ชวนให้คนชอบขับรถหลงใหลได้อย่างไม่ทันระวังตัว
รถที่โมดิฟายด์จาก เอ5 คูเป้ ทั้งระบบ ตั้งแต่การสรรหาวัสดุน้ำหนักเบา แข็งแรง เครื่องยนต์เบนซิน วี 6 เทอร์โบคู่ 2.9 ลิตร 450 แรงม้า แรงบิด 600 นิวตันเมตร ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ quattro ช่วงล่าง RS Sports
จุดเด่นคือ เครื่องยนต์ตอบสนองรวดเร็ว ช่วงล่างยึดเกาะแบบไว้ใจได้ แม้จะเป็นการลองขับในช่วงฤดูฝนก็ตาม
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งคือ การเคลื่อนที่ของรถให้ความรู้สึกได้ว่าเคลื่อนไปทั้งคัน โดยเฉพาะการขับขี่ในทางโค้ง หลายจังหวะกับความเร็วดูคล้ายๆ ว่าท้ายดิ้นเล็กน้อย แต่ก็ไม่ดิ้นออก และพร้อมให้เราเติมน้ำหนักเท้าได้อีก
- ยุคนี้ นานๆ จะได้ขับรถเกียร์ธรรมดาสักครั้ง ดังนั้นเมื่อมาเจอกับ "มินิ แพดดี้ ฮอปเคิร์ก" รถรุ่นพิเศษย้อนตำนานมอนติ คาร์โล ทำให้ผมตื่นเต้นไม่น้อย
แม้จะสร้างจาก มินิ คูเปอร์ เอส 3 ประตู เครื่องยนต์ ช่วงล่างเหมือนกัน แต่การปรับมาใช้เกียร์ธรรมดา 6 สปีด ที่คันเกียร์สั้นๆ และตำแหน่งเกียร์ชิดกัน ทำให้กระฉับกระเฉง ดึงความสนุกสนานในการขับขี่ขึ้นมาได้ แม้จะต้องออกแรงเหยียบคลัทช์ที่ค่อนข้างหนักก็ตาม
ส่วนสมรรถนะเครื่องยนต์ และช่วงล่างของรถก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า มินิทำได้ดี
เป็นรถเล็กที่ทำความเร็วได้สูง และให้ความรู้สึกมั่นคง เชื่อเถอะว่าจะไม่รู้สึกหวิว หรือ เหงื่อออกมือให้เปียกเล่น เมื่อกำลังโลดแล่นไปด้วยความเร็ว
- “บีเอ็มดับเบิลยู เอ็ม340ไอ เอ็กซ์ไดรฟ์” เป็นรถในตระกูล เอ็ม รุ่นแรกที่ผลิตในประเทศทำให้มีราคาที่คบหาได้ง่ายขึ้น 3.999 ล้านบาท
สิ่งหนึ่งที่ผมชอบคือ รูปทรงดุดัน แต่เรียบง่าย เหมาะกับคนที่่ไม่ต้องการตกเป็นเป้าสายตามากนัก
แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนนั้นอยู่ที่ภายในกับเครื่องยนต์ 387 แรงม้า แรงบิด 500 นิวตันเมตร ที่ตอบสนองรวดเร็ว ที่สำคัญคือเป็นไปอย่างนุ่มนวล ทั้งการใช้คันเร่ง หรือว่าเสียงเครื่องยนต์ที่ไม่ได้บ่งบอกว่าจำใจทำงานจนต้องเค้นเสียงออกมา
ช่วงล่างช่วยให้รถทรงตัวดี ขับสบายๆ ไม่เครียด และช่วงล่างที่ดูเหมือนแข็งๆ บวกกับยางรันแฟลตเอาเข้าจริงก็ดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้น่าพอใจ
มันเป็นรถที่ขับขี่ได้สมดุล เห็นชัดเจนเมื่อได้ลองในเส้นทางภูเขา และแม่นยำสูงทั้งช่วงล่างและพวงมาลัย
- “เลกซัส แอลเอส 500 เอช” รถที่ผมให้คำนิยามว่า “นั่ง-นอน สบาย แต่ก็เสียดายหากไม่ขับเอง”
แม้ราราคาจะโดดจากคู่แข่งฝั่งยุโรปมากแต่แอลเอสทำให้ตัวเองแตกต่างเพื่อดึงลูกค้าคือ เน้นความชัดเจนของรถพรีเมียม และเอกลักษณ์เฉพาะตัว
หลายๆ อย่างที่ใส่เข้ามา เช่น งานฝีมือตั้งแต่สีที่พ่นเป็นพิเศษ การตกแต่งด้วยผ้าสีแดงจับกลีบเป็นงานแฮนด์เมด เช่นเดียวกับกระจกแต่งลายจากช่างฝีมือระดับสูงจากญี่ปุ่น
มันเป็นรถที่นั่ง หรือนอนได้สบายมาก ปรับเบาะหลังด้านซ้ายได้เหยียดยาว เบาะนุ่ม มีระบบนวดผ่อนคลาย ช่วงล่างเก็บแรงสั่นสะเทือนได้ละเอียด เป็นช่วงล่างที่ผสมผสาน ระหว่างความนุ่มสบาย กับการเกาะถนนที่หนึบแน่น ทำให้ผู้ขับขี่มั่นใจ และสนุกกับรถคันใหญ่น้ำหนักกว่า 2.3 ตัน คันนี้ได้ง่ายๆ
- ใครที่หารถครอบครัว ผมว่า "เกีย คาร์นิวัล" เป็นตัวเลือกทีไม่ควรมองข้าม
เป็นรถ 11 ที่นั่ง แต่เบาะแถวที่ 4 อาจดูไม่เหมาะกับการนั่งเท่าไร พับราบลงไปดีกว่า ยกเว้นแต่ถ้าจำเป็นจริงๆ
ความสะดวกสบาย เริ่มตั้งแต่ ประตูสไลด์ 2 ด้าน ควบคุมด้วยไฟฟ้า เบาะนั่งสบาย ด้านการขับขี่ ถือว่าเป็นรถที่ขับดีคันหนึ่ง มีความคล่องตัวสูง การออกตัว อัตราเร่ง กระฉับกระเฉงกว่าที่คิด และประหยัดน้ำมัน ส่วนช่วงล่าง ก็เกาะถนนได้ดีไม่น่าเชื่อเช่นกัน
- เป็น พีพีวี น้องใหม่ ที่ออกตัวในตลาดไม่แรง สำหรับ "นิสสัน เทอร์ร่า" ก่อนที่นิสสัน จะจัดการไมเนอร์เชนจ์ ทั้งภายนอกภายในให้ดูโฉบเฉี่ยวและหรูขึ้น ปรับออปชั่นใหม่
ทางเทคนิคไม่ได้ปรับอะไรนัก แต่ก็มีบ้าง เช่น พวงมาลัยนำหนักเบาลง ปรับอัตราทดใหม่ รอบการหมุนลดจากเดิม 12%
ช่วงล่างเดิม แต่เซ็ทใหม่เล็กน้อย เครื่องยนต์ตัวเดิม แต่ปรับคันเร่งใหม่
ที่ผมเลือกเทอร์ร่า เพราะเป็นการไมเนอร์เชนจ์ที่มีพัฒนาการ ทั้งรูปโฉมและการขับขี่ ที่ไม่น่าเชื่อว่ามันดีขึ้นชัดเจน รถตื่นตัวมากขึ้น อัตราเร่งดีขึ้น ช่วงล่างของรถที่มีความสูงเช่นนี้ ลุยกับโค้งกับเขาได้สบายๆ พวงมาลัยแม่นยำ ช่วยให้การควบคุมทำได้ดีขึ้น
- "เมอร์เซเดส-เบนซ์ จีแอลอี 350 ดีอี" เป็นปลั๊ก-อิน ไฮบริด รุ่นเดียวในไทยที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องของแรงบิด
เมื่อร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าทำให้มันพาผมควบจากกรุงเทพฯ ฝ่าถนนพระราม 2 เพชรเกษม ตะลุยโค้งฝ่าเขาจากสุราษฎร์ธานีผ่านระนองไปพังงาได้อย่างรวดเร็วและสนุกสนาน ด้วยจุดเด่นการเข้า-ออกโค้งได้เร็ว ปีนขึ้นเนินชันแบบไม่รีรอ
แม้ช่วงล่างจะนุ่มๆ ไปหน่อย เป็นที่ถูกใจผู้โดยสาร แต่สำหรับผู้ขับ แม้ความนุ่มทำให้มีอาการโยนตัวอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีปัญหาในการควบคุมรถ
ยิ่งได้ลองยาวๆ ไป-กลับ 1,600 กม. ผมว่ามันเป็นรถที่ลงตัว ทั้งการขับเอง ทั้งการเป็นผู้โดยสาร ทั้งการใช้งานส่วนตัว หรือ ใช้งานครอบครับ กับสมรรถนะทีไ่ด้ และขนาดที่ไม่ใหญ่ไม่เล็กเกินไป
- นี่คือ “แอสตัน มาร์ติน" ที่เร็วและแรงที่สุดเท่าที่เคยผลิตออกมาจำหน่าย สำหรับ “ดีบีเอส ซูเปอร์เลจเจรา”
ด้วยกำลังสูงสุด 715 แรงม้า แรงบิด 900 นิวตันเมตร เหลือเฟือกับการฉุดลากรถที่มีน้ำหนักตัวไม่มากนัก 1,693 กก. จากการเลือกใช้วัสดุน้ำหนักเบา อย่างอลูมิเนียมและคาร์บอนไฟเบอร์ในการผลิตตัวถังและส่วนประกอบ เช่น เพลากลางคาร์บอนไฟเบอร์ กับปลอกอลูมิเนียม
การใช้วัสดุน้ำหนักเลายังช่วยให้สามารถออกแบบการกระจายน้ำหนักหน้า/หลัง ได้สมดุล อยู่ที่ 51/49
และแน่นอนด้วยความแรงเช่นนี้ การออกแบบตัวถัง ไม่เพียงแค่เรื่องของความสวยงาม แต่ต้องทำให้มันมีส่วนช่วยในการควบคุมรถได้ดีขึ้น เมื่อต้องขับขี่ที่ความเร็ว เช่น ทำให้เกิดแรงกดสูงสุด หรือ ดาวน์ฟอร์ซ ด้านหน้า 60 กก. ด้านหลัง 120 กก.
เป็นรถที่ขับขี่ง่าย ตั้งแต่ช่วงการออกตัวที่แม้จะกดคันเร่งแบบเต็มกำลังเพื่อดูว่าอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 3.4 วินาทีแม้จะมีจังหวะรับรู้ได้ว่าล้อหลังอยากจะประท้วงเท้าขวาด้วยการไถลออก แต่ก็แค่เสี้ยววินาทีเท่านั้น เพราะจากนั้นในเวลาที่รวดเร็วเช่นกัน ลิมิเต็ด สลิป จะเข้ามาจัดการจัดระเบียบการเคลื่อนที่ของรถให้อยู่ร่องในรอย
เป็นรถที่เกาะถนนนิ่งมาก ทางโค้งหน้ารถคมมากจิกเข้าไปอย่างแม่นยำ แค่ก่อนเข้าโค้ง เราถอนคันเร่งเล็กน้อยเพื่อลดความเร็วโดยไม่ต้องเบรก แค่นี้ก็รู้สึกได้ถึงแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางของตัวเรา แต่รถยังคงไปในทิศทางที่ควรจะไป และไม่มีอาการโยนหรือการให้ตัวของตัวถังมาให้กวนใจ
เรียกว่าไม่ว่าจะใช้ความเร็วเท่าใดตัวรถแทบจะรักษาความขนานกับพื้นเส้นทางเอาไว้ตลอดเวลา
- เมื่อม้าป่า “เฟอร์รารี” หลงเข้ามาในเมือง มันก็ไม่ได้รู้สึกเคอะเขินแต่อย่างใด ใช่ครับผมกำลังพูดถึง “โรม่า”
โรม่าเป็นรถในรูปแบบ จีที (Grand Touring) ที่ออกแบบมาให้เป็นซูเปอร์คาร์ที่สามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน แม้แต่บ้านเราที่สภาพถนนหลากหลายเหลือเกิน
การพัฒนาช็อคแอบซอร์เบอร์ที่มีผงแม่เหล็กเป็นตัวช่วยปรับความหนืดให้เหมาะสม ทำให้มันรับกับสภาพผิวเส้นทางที่ไม่เรียบได้ดีเกินคาด ลดความกระด้าง กระแทกกระทั้นได้ดี
แต่ถ้าถามว่าถ้าอย่างนั้นมันไปลดอารมณ์สปอร์ตของรถ อารมณ์สปอร์ตของเครื่องยนต์เบนซิน 3.9 ลิตร วี8 เทอร์โบ 620 แรงม้า760 นิวตันเมตร หรือไม่คำตอบก็คือไม่ ม้าป่ายังคงดุดันเช่นเดิม
เครื่องยนต์ร้อนแรง ออกตัวได้อย่างรวดเร็ว อัตราเร่งมาเร็วๆ ครู่เดียวก็ถึงระดับ 200 กม./ชม. ได้ไม่ยาก
และยังคงมีกลิ่นอายความสนุกของรถขับหลังเครื่องแรง นั่นคืออาการท้ายดิ้น แต่แค่ใช้ทักษะเล็กน้อยในการเลี้ยงพวงมาลัย ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี พร้อมอารมณ์สปอร์ตที่พุ่งพล่านในตัวเรา
นั่นคือส่วนหนึ่งของรถลองขับในปี2564 ที่นำมาสรุปเล่าสู่กันฟังอีกรอบ ส่วนปีนี้ ก็เชื่อว่าแม้โควิดจะยังคงอยู่ แต่ทุกอย่างต้องเดินหน้าต่อไป รวมถึงตลาดรถยนต์ ที่จะมีรุ่นใหม่ๆ มาให้ได้ลอง ได้เล่ากันอีกมากมายครับ