"TCEB" จับคู่ธุรกิจ ผนึกกำลัง "ไมซ์" ไทย สู่การเป็น ASIAN MICE Destination
ทีเส็บ (TCEB) ร่วมกับสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) จับคู่ธุรกิจระหว่างสถานประกอบการไมซ์ บริษัทออแกไนเซอร์และกลุ่มผู้ใช้งานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้กิจกรรม “TMVS Partnership Program” สร้างเครือข่ายผู้ให้บริการด้านการจัดงาน
ท่ามกลางการตื่นตัวของวงการธุรกิจทั่วโลก ที่ต่างก็ลุกฮือขึ้นมา ‘จับมือ’ และ ‘ผนึกกำลัง’ กัน พลิกวิธีการแข่งขันจากเดิมที่ใช้กลยุทธ์เอาจุดแข็งมางัดกัน กลับเปลี่ยนมาเป็นต่างฝ่ายต่างการผลัดกันเติมเต็มให้กันเพื่อร่วมกันสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ หรือความแข็งแกร่งให้เกิดขึ้น ในการนำเสนอสินค้า และบริการให้ครบวงจร และมีไดนามิกตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และแน่นอนว่าอุตสาหกรรมไมซ์ คือหนึ่งในอุตสาหกรรมโลก ที่มุ่งเน้นการสร้างเครือข่าย และ คู่ธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจครั้งใหม่และช่วยให้ธุรกิจแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม ตอบสนอง MICE New Normal ที่เกิดขึ้นในทุกเขตเศรษฐกิจทั่วโลก
ทีเส็บ (TCEB) ร่วมกับสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) จับคู่ธุรกิจระหว่างสถานประกอบการไมซ์ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งระดับประเทศและระดับอาเซียน ร่วมกับบริษัทออแกไนเซอร์ที่ให้บริการการจัดงานในรูปแบบออนไซต์และ/หรือไฮบริดอีเวนต์ อีกทั้งกลุ่มผู้ใช้งานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้กิจกรรม “TMVS Partnership Program” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การสร้างเครือข่ายผู้ให้บริการด้านการจัดงานแบบบูรณาการ ต่อยอดไปสู่การเกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ และมุ่งให้เกิด Business Partner ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจไมซ์ของประเทศแบบครบทุกด้าน
ศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาและนวัตกรรม สสปน. กล่าวว่า “สสปน. เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาซึ่งเป็นส่วนหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนไมซ์ไทย สู่การเป็น ASIAN MICE Destination ด้วยการพัฒนามาตรฐานซึ่งประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ มาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย (TMVS) มาตรฐานการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืนประเทศไทย (TSEMS) ยกระดับสู่มาตรฐานสถานที่จัดงานอาเซียน (AMVS) และมาตรฐานระดับสากล (ISO) ด้านการพัฒนาองค์ความรู้ด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมไมซ์ (Venue Management Course) ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการ เช่น The(He)art of service , Customer Insights/Experience Design ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่การสร้างมาตรฐานในองค์กร สถานที่จัดงาน เพื่อยกระดับการบริการในระดับสากลต่อไป"
จุดหมายปลายทางที่ต้องนึกถึงคือ “เมืองไมซ์ซิตี้” นั่นหมายถึงการเตรียมพร้อมเป็นเมืองเจ้าภาพการจัดงานระดับนานาชาติ และงานในประเทศ ซึ่งความสำคัญของการบูรณาการร่วมมือ หรือหัวใจของการเป็นเมืองไมซ์ซิตี้หรือเป็นเมืองโฮสซิตี้ที่ดี คือ การทำงานร่วมกันกับทุกคนทุกภาคส่วนในเมือง ปัจจุบันรัฐบาลมุ่งสู่กลยุทธ์ Regional Economy คือการกระตุ้น Cluster เศรษฐกิจของเมืองต่าง ๆ ให้เกิดความพร้อม
อุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) กล่าวว่า “ในฐานะกลุ่มผู้จัดงานมองว่าการจัดงานอีเวนต์ จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทย 13,000-15,000 ล้าน/ปี มีการจ้างงาน 400,000-500,000 คน” ต่อปีเช่นกัน ดังนั้นหากองค์กรไหนสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยสามารถติดต่อสมาคมได้เพื่อรับสิทธิประโยชน์ร่วมกัน คือ ความช่วยเหลือในเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน ได้รับข่าวสารความเคลื่อนไหวของสมาคมและสามารถใช้สมาคมเป็นสื่อกลางในการติดต่อข่าวสารกับสมาชิกในสมาคมในทางที่เกิดประโยชน์ได้ มีสิทธิเสนอความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำต่อสมาคมนำไปสู่การเสนอต่อนโยบายของรัฐบาลต่อไป นอกจากนี้ยังสามารถเข้าร่วมฝึกอบรมสัมมนาในราคาพิเศษทั้งในและต่างประเทศ อาทิเช่น มาตรฐานการจัดงานแบบยั่งยืน , สมรรถนะของตำแหน่งงานต่าง ๆ
อรชร ว่องพรรณงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า “กลุ่มเป้าหมายในการจับคู่ธุรกิจ ระหว่าง ผู้ให้บริการสถานที่จัดงาน ผู้ให้บริการด้านระบบการจัดงาน และ ผู้ใช้บริการสถานที่การจัดงาน โดยผ่านกิจกรรม “TMVS Partnership Program” มีแผนจัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือนโดยใช้สถานที่จัดงานที่ผ่านการรับรองมาตรฐานทั้งระดับประเทศและระดับอาเซียน (Thailand & ASEAN MICE Venue Standard) ซึ่งถือเป็นการสร้างโอภาสทางธุรกิจของสถานที่จัดงานให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสถานที่จัดงานไมซ์มากกว่า 400 แห่ง ทั่วประเทศ ที่มีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีการจัดงานและด้านสุขอนามัย (2HY – Hygiene & Hybrid) เป็นการสร้างแนวทางการจัดงานรูปแบบใหม่ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยนวัตกรรมคู่สุขอนามัยอีกทั้งยังสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงานมากขึ้น
อิทธิพล สุรีรัตน์ กรรมการบริหารสมาคมธรุกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทางสมาคมฯ อาจยังมีการร่วมตัวของสมาชิกใหม่ๆ ไม่มากนัก ซึ่งยังคงต้องการสร้างเครือข่ายทั้งฝั่ง Demand และ Supply โดยการสร้างเครือข่าย ไม่ได้มองแค่ว่าเป็นเพียงการสร้างโอกาสทางธุรกิจ แต่เป็นหุ้นส่วนที่เราจะร่วมพัฒนาด้วยกัน (Strategic Partner) เช่น สถานประกอบการที่อยู่ต่างจังหวัดต้องการขอคำแนะนำรีโนเวทระบบที่รองรับงานอีเวนต์ที่มีคุณภาพทางบริษัทที่เป็นสมาชิกสามารถให้คำแนะนำได้ ทั้งนี้ หากองค์การไหนยังไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคม สามารถสมัครได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่สำคัญคือ การสานต่องาน การส่งต่องาน การสร้างงานไปด้วยกัน นั้นคือหัวใจสำคัญของวัตถุประสงค์ของสมาคม EMA”