เพิ่มศักยภาพเด็กไทยคิดต่างต่อยอดสร้างนวัตกรรม

เพิ่มศักยภาพเด็กไทยคิดต่างต่อยอดสร้างนวัตกรรม

 

ทีเอ็มบีผนึก 2 สถาบันการศึกษาเปิดพื้นที่เรียนรู้นอกตำราแก้ปัญหาจากโจทย์จริง

การเรียนรู้แค่ทฤษฎีจากตำราเรียนโดยไม่มีโอกาสปฏิบัติจริง ทำให้เด็กจบออกมาจำนวนไม่น้อยไม่มีทักษะในการทำงาน หรือขาดความรู้พื้นฐานที่สามารถนำมาใช้กับการทำงานได้จริง สร้างปัญหาให้กับตลาดแรงงานไทย ดังนั้น การจะพัฒนาเด็กไทยให้สามารถนำทฤษฎีมาสู่การปฏิบัติจริง รู้จักแก้ปัญหา และต่อยอดไปสู่การสร้างนวัตกรรม ภาคเอกชนต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SIIT) ร่วมด้วยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาทางวิชาการมาประยุกต์ใช้ในบริบทจริง อันนำมาสู่การลงนามความร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และสนับสนุนงานวิจัย ภายใต้แนวคิด “Partnerships for Customer Experience “ 

เพิ่มศักยภาพเด็กไทยคิดต่างต่อยอดสร้างนวัตกรรม  
คุณปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี กล่าวว่า เรามักจะสงสัยกันว่าทำไมในหลายประเทศทั่วโลกมีคนที่สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลกเกิดขึ้นได้มากมาย ไม่เว้นแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างมาเลเซีย หรือ อินโดนีเซีย ที่มีฟินเทคระดับยูนิคอร์นจำนวนไม่น้อย แล้วเหตุใดประเทศไทยจึงไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ทั้งที่เด็กไทยก็เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก ดังนั้น เราจึงควรมาช่วยกันหารูปแบบในการพัฒนาส่งเสริมเปิดโอกาสให้เด็กไทยคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะมาช่วยเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งเราเชื่อว่า ความร่วมมือกันมากขึ้นระหว่างองค์กรเอกชนและสถาบันการศึกษาเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยได้

 “องค์กรเอกชนมีความมุ่งมั่นอยากจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมให้ดีขึ้น เพื่อสร้างสิ่งใหม่ให้ลูกค้าที่ตัวเองดูแล ในขณะที่สถาบันการศึกษามีนักเรียนเก่งๆ มีองค์กรความรู้ แต่อาจจะไม่เห็นว่าสิ่งเหล่านั้นจะสามารถนำเอาไปทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกค้าในอุตสาหกรรม ผมคิดว่าถ้าภาคเอกชนกับภาคมหาวิทยาลัยร่วมมือกันได้ น่าจะสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้มากมาย” นายปิติ กล่าว

ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็ว ซึ่งภาคธุรกิจต้องหาองค์ความรู้ที่เท่าทันต่อโลกมาใช้แก้ไขโจทย์ธุรกิจ แต่ยากที่มหาวิทยาลัยจะเห็นโจทย์ของภาคธุรกิจ ดังนั้น ต้องร่วมมือกันเพื่อนำโจทย์ของลูกค้า หรือองค์กรธุรกิจมาให้มหาวิทยาลัยที่มีคนเก่ง มีองค์ความรู้ ช่วยกันแก้โจทย์ธุรกิจเพื่อจะช่วยเปลี่ยนแปลงเมืองไทยได้ในทางหนึ่ง ก่อนที่จะก้าวไปถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิภาค หรือเปลี่ยนโลก ตรงกับปรัชญา “Make THE Difference” ของทีเอ็มบี ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัย หรือนักศึกษามาร่วมสร้างความแตกต่างร่วมกัน

“หากเอกชนกับมหาวิทยาลัยมาร่วมมือกันได้ น่าจะเกิดอะไรใหม่ๆ ได้มากมาย นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องอยู่กับภาคอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว ไอเดียด้านวิชาการสามารถนำมาใช้กับภาคการเงิน หรือภาครบริการได้ และจะทำให้ประเทศไทยอย่างน้อยได้ขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ก่อนจะข้ามไปไกลกว่านั้น จึงหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำเอาความรู้และคนเก่งในมหาวิทยาลัยมาร่วมสร้างฝันกับองค์กรอย่างทีเอ็มบีที่ตั้งใจจะท้าทายสิ่งเดิมๆ ตามปรัชญา Make THE Difference” นายปิติกล่าว

สำหรับแนวทางการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ของทีเอ็มบีนั้น นายปิติกล่าวว่า ที่ทีเอ็มิบี เราเชื่อว่าดิจิทัลเป็นแค่เครื่องมือ (Enabler) ซึ่งวิธีคิดของทีเอ็มบีจะมองจากโจทย์ของลูกค้า หรือโจทย์ขององค์กร เป็นสิ่งสำคัญ จากนั้นจึงมองหาเทคโนโลยีมาตอบโจทย์เพื่อพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ เรียกแนวคิดนี้ว่า Digital Craftmanship

เพิ่มศักยภาพเด็กไทยคิดต่างต่อยอดสร้างนวัตกรรม
ศาสตราจารย์ ดร.พฤทธา ณ นคร ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้านศาสตราจารย์ ดร.พฤทธา ณ นคร ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สถาบันต้องการผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถแก้ปัญหา หรือทำงานได้จริงเมื่อก้าวสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งความร่วมมือกันระหว่างทีเอ็มบีและสถาบันการศึกษาทั้งสองแห่งในครั้งนี้ จะมาช่วยเพิ่มศักยภาพให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้และแก้ปัญหาจากโจทย์ที่เกิดขึ้นจริงของภาคธุรกิจ ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ทฤษฎีจากตำรา หรือในห้องเรียนเท่านั้น

“ความร่วมมือกันครั้งนี้ จะทำให้สถาบัน นักศึกษา อาจารย์ และทีเอ็มบี รวมถึงประเทศชาติได้ประโยชน์ เพราะการเรียนในห้องเรียน สุดท้ายเมื่อเจอนักศึกษาปัญหาจริงจะมีความยากลำบากในการแก้ปัญหา จึงต้องเปิดโอกาสให้นักศึกษาเผชิญปัญหาจริง โดยได้รับโจทย์ของภาคธุรกิจนอกสถาบัน ซึ่งโจทย์นั้นเด็กไม่สามารถใช้ความรู้เรื่องเดียวไปแก้ปัญหา ต้องหาความรู้หลายๆ ด้านมาตอบโจทย์ ทำให้ความคิดเปลี่ยนไป โครงการนี้จะช่วยให้นักศึกษาฝึกความสามารถในด้านนี้”

เพิ่มศักยภาพเด็กไทยคิดต่างต่อยอดสร้างนวัตกรรม
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

ด้านศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ความร่วมมือกันครั้งนี้ เพื่อที่จะพัฒนาคนและพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นในประเทศด้วยฝีมือคนไทย ซึ่งการที่ทีเอ็มบีให้โอกาสนักศึกษาได้ทำงานจริง นำความรู้จากห้องเรียนในมหาวิทยาลัยมาปฏิบัติจริงและต่อยอดพัฒนา รวมทั้งแก้ปัญหาจากโจทย์จริงของภาคธุรกิจจะช่วยเพิ่มศักยภาพของนักศึกษาอย่างมาก จึงอยากให้จุดนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นแต่เป็นการกำเนิดที่ยิ่งใหญ่ของความร่วมมือกันระหว่างองค์กรธุรกิจกับการศึกษาของประเทศไทย เพื่อพัฒนาคนไทยให้นำมาสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต

“เรามีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการสร้างองค์กร สร้างสังคม สร้างประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศที่เติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็วล้วนมีมหาวิทยาลัยที่เข้มแข็งติดอันดับของโลก ทุกคนจึงมีหน้าที่ต้องสนับสนุนกิจการของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างคนไปพัฒนาประเทศ ผมเชื่อว่าองค์ความรู้ที่ทีเอ็มบีต้องการจากสถาบันการศึกษานั้น หากไปซื้ออาจง่ายกว่า หรือดีกว่า แต่ไม่ได้สร้างอนาคตของประเทศ ดังนั้น ขอสนับสนุนวิสัยทัศน์ของทีเอ็มบีให้มีโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ทำงานร่วมกันต่อไป”

ทั้งนี้ ในยุคดิสรัปชั่น ซึ่งธนาคารเป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ทำให้ต้องปรับตัวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในเรื่องบริการและบริหารงาน เช่น การใช้ AI เข้ามาช่วยทำงานแทนคน เพื่อให้มีความผิดพลาดน้อยลง และเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสถาบันฯ คาดหวังว่าจะสามารถนำเอาองค์ความรู้ทางวิชาการมาช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพและยกระดับการบริการของธนาคารให้ดียิ่งขึ้น

เพิ่มศักยภาพเด็กไทยคิดต่างต่อยอดสร้างนวัตกรรม

ทีเอ็มบีจัดพิธีลงนามร่วมกับสองสถาบันการศึกษา