โลหิตจางเพราะขาดธาตุเหล็ก ส่งผลไอคิวในวัยเรียนต่ำลง 5-10 จุด
“ธาตุเหล็ก” เป็นสารอาหารกลุ่มเกลือแร่ที่สำคัญมาก มีส่วนเสริมสร้างและพัฒนาสมองในช่วงแรกของชีวิต และมีผลสัมพันธ์โดยตรงต่อการพัฒนาระดับสติปัญญาของเด็ก จึงมักจะถูกยกมานำเสนอในการประชุมวิชาการด้านอาหารและโภชนาการวัยเด็กในประเทศไทยอยู่เสมอ
ล่าสุด ในการประชุมวิชาการ Pre-Congress โดยสมาคมโภชนาการเด็กและชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงการสำรวจภาวะโภชนาการในเด็กไทยและความสำคัญของโภชนาการกับพัฒนาการด้านเชาวน์ปัญญา โดยอ้างอิงข้อมูลสำรวจขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ชี้ว่า เด็กที่มีภาวะโลหิตจางเพราะขาดธาตุเหล็กตั้งแต่วัยทารกและไม่ได้รับการแก้ไข อาจทำให้ไอคิวเมื่อเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยเรียนลดต่ำลง 5-10 จุด หรือหากแก้ไขช้าเกินไป อาจทำให้สูญเสียศักยภาพด้านสติปัญญาไปอย่างถาวร
WHO ระบุว่ามี 4 ปัจจัยสำคัญซึ่งมีผลต่อการพัฒนาเชาวน์ปัญญาของเด็ก คือ 1. ภาวะเตี้ย (ส่วนสูงของเด็ก) 2. ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก 3. การขาดธาตุไอโอดีน และ4. การเลี้ยงดู โดยเด็กเล็กที่มีภาวะขาดโภชนาการเรื้อรังและเตี้ย จะมีผลต่อพัฒนาการด้านสติปัญญาในช่วงอายุ 5-10 ปี เกิดผลเสียต่อการมีสมาธิ ความจำระยะสั้น การเรียนรู้และทักษะด้านมิติสัมพันธ์ อีกทั้งมีข้อมูลวิจัยระยะยาวในเด็กไทย พบว่า เด็กที่ประสบภาวะเตี้ยจากวัยทารกจนถึงอายุ 8.5 ปี มีระดับไอคิวต่ำกว่าเด็กที่ไม่เตี้ย 2.25 จุด
สำหรับภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron Deficiency Anemia; IDA) หากเกิดในช่วงวัยทารกต่อเนื่องถึงวัยเด็กเล็ก อาจทำให้ไอคิวเมื่อเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยเรียนลดต่ำลง 5-10 จุด หากแก้ไขช้าเกินไปอาจทำให้สูญเสียศักยภาพด้านสติปัญญา ไปอย่างถาวร โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีฐานะยากจน เลี้ยงลูกฉลาดต้องไม่ขาดธาตุเหล็ก
แพทย์หญิงกิติมา ยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก (PNMA) อ้างอิงผลสำรวจ South East Asian Nutrition Surveys : SEANUTS โดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ตีพิมพ์ในวารสาร BJN,2013 ซึ่งระบุว่า “เด็กไทยเกือบ 40% ขาดธาตุเหล็ก และมากกว่า 50% ได้รับสารอาหารต่ำในกลุ่มแคลเซียม เหล็ก สังกะสี วิตามินเอและวิตามินซี อันเนื่องมาจากคุณภาพของอาหารที่กิน”
คุณหมอ ให้ข้อมูลว่า ในภูมิภาคเอเชีย ภาวะโลหิตจางจากการธาตุเหล็กเกิดขึ้นถึงร้อยละ 40-50 ในเด็กก่อนวัยเรียนและในวัยเรียน ธาตุเหล็กเกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบเลือดในร่างกาย เพราะเป็นส่วนประกอบสำคัญของเฮโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงมีหน้าที่นำพาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ธาตุเหล็กจึงเป็นสารอาหารที่มีผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ รวมทั้งสมอง
อาหาร ที่มีเหล็กมาก ได้แก่ ปลา อาหารทะเล เป็ด ไก่ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง และในผักใบเขียวเข้มทุกชนิด เช่น ตำลึง ผักโขม คะน้า ถั่วดำ ถั่วแดง อัลมอนด์ ข้าวโอ๊ต ซีเรียลที่ทำจากข้าวโอ๊ต และในผลิตภัณฑ์นมเสริมสารอาหารที่มีการเติมวิตามินและธาตุเหล็ก
สำหรับแนวทางการป้องกันเด็กขาดธาตุเหล็ก คือ การจัดเตรียมอาหารที่มีธาตุเหล็กให้ลูกวัยเด็กเล็กได้กินอย่างสม่ำเสมอ เพราะการพัฒนาสมองของลูกวัยเด็กเล็กเป็นเรื่องสำคัญ โภชนาการที่ดีและครบถ้วนจะช่วยคุณแม่ในเรื่องนี้ได้
“กินให้ครบ เติมโภชนาการให้พอ การจัดเมนูอาหารให้ลูกวัย 1 – 3 ปี ควรมีเนื้อสัตว์ ผัก ไข่ เป็นตัวยืน ให้ลูกรับประทานอาหารมื้อหลักวันละ 3 มื้อทำจากอาหารห้าหมู่ กินให้หลากหลาย กินนมรสจืดเสริมวิตามินและธาตุเหล็กวันละ 2-3 แก้ว ดื่มน้ำสะอาด พักผ่อนให้พอและสนับสนุนให้ลูกออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านบ่อยๆ เป็นการส่งเสริมการสร้างพื้นฐานสุขภาพที่ดีให้ลูกเพื่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ” แพทย์หญิงกิติมา กล่าว