สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา (CDTI)
จากแนวทางการขับเคลื่อนประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
จากแนวทางการขับเคลื่อนประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตบนพื้นฐานของการพัฒนาและใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรม ที่ผสมผสานกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้อง สู่การกำหนดนโยบายการศึกษาของประเทศไทย โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในภารกิจนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปพัฒนาประเทศ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาภายใต้การกำกับดูแลจึงวางแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานสถาบันให้สอดคล้องและตอบโจทย์ด้านการผลิตและพัฒนากำลังคน รวมทั้งงานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาประเทศ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีที่มีคุณภาพ รวมทั้งมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ โครงการประกวดงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาจึงเกิดขึ้น
ผศ.ดร.สุรพันธ์ ตันศรีวงษ์ รักษาการคณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการประกวดงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาสถาบันฯ คิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่สำหรับใช้ในชุมชนและอุตสาหกรรม โดยได้ดำเนินการปีนี้เป็นปีแรกในหัวข้อ “ภูมิปัญญานักเทคโนโลยีสู่การสร้างนวัตกรรมเพื่อชุมชนและอุตสาหกรรม” มีผลงานที่ส่งเข้าร่วมการประกวด จำนวน 16 ผลงาน อาทิ เครื่องวัดอุณหภูมิสำหรับเครื่อง พาเลทอินไลน์เคียวในกระบวนการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เครื่องประกอบแผ่นกั้นด้วยระบบอัตโนมัติ Smart Home by Raspberry pi ระบบทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เครื่องกำจัดกลิ่นในอุตสาหกรรมยาง เตาเผาพลาสมาเพื่อกำจัดขยะติดเชื้อ การพัฒนาระบบการตรวจสอบและเก็บค่าการใช้พลังงานไฟฟ้าผ่านเว็บ และเครื่องนับคุณภาพเมล็ดข้าวเพื่อนำไปใช้ในห้องปฏิบัติการ เป็นต้น การจัดกิจกรรมในครั้งนี้นอกจากนักศึกษาจะได้ใช้ความรู้ในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมแล้ว ยังเป็นการพัฒนาความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกการทำงานอย่าง มีแบบแผนและเป็นรูปธรรมสามารถส่งเสริมให้นักศึกษาเติบโตสู่การเป็นนักวิจัยและนักประดิษฐ์คิดค้นที่ดี มีคุณภาพ สามารถผลิตผลงานสิ่งประดิษฐ์เผยแพร่สู่สาธารณชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เป็นการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายทางด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ดีที่สุด
โดยผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่ ผลงานระบบทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ของนายสุภเวช ภูวะนนท์ และนายพัชรกิจ สุขในมณี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สำหรับระบบทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Cleaning System for Solar Array) มีคุณสมบัติหลัก คือ สามารถทำงานในพื้นที่สูง ยากต่อการทำความสะอาด มีพื้นที่จำกัด สามารถทดแทนแรงงานคนได้เป็นอย่างดี และช่วยแก้ไขปัญหาการเสี่ยงอันตรายของผู้ปฏิบัติงานที่จะต้องทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนอาคารสูง การสั่งงานทำได้ 2 ระบบคือ การควบคุมโดยตรงที่ตัวเครื่อง และ การควบคุมผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนทำให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยสามารถควบคุมการทำงานได้อย่างต่อเนื่องด้วยการเชื่อมต่อรางสำหรับเคลื่อนทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งวางเรียงกัน