“ลลิล พร็อพเพอร์ตี้” ปักธงเป็นผู้นำในตลาดแนวราบ
ประกาศแผนงานปี 63 วางแผนเปิดโครงการใหม่เพิ่มเติม 9 – 11 โครงการ ตั้งเป้าเติบโต 13% ยอดขาย 6,200 ล้านบาท ยอดรับรู้รายได้ 5,250 ล้านบาท
ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ประกาศแผนธุรกิจปี 2563 ตั้งเป้าเติบโตเหนือกว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 5 โดยบริษัทฯ เน้นขยายตลาดแนวราบซึ่งเป็น Real Demand เตรียมขยายโครงการใหม่เพิ่มเติมอีก 9 – 11 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 5,000 – 5,500 ล้านบาท ปักธงเป็น National Housing Company พร้อมขึ้นเป็นผู้นำตลาดอสังหาฯ แนวราบในช่วงราคา 2 - 6 ล้านบาท โดยตั้งเป้ายอดขายในปี 2563 ที่ 6,200 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ที่ 5,250 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 13%
สำหรับผลประกอบการปี 2562 แม้สภาวการณ์ของตลาดอสังหาฯ โดยรวมจะไม่เอื้ออำนวย ตลาดได้รับผลกระทบทั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ตลอดจนปัจจัยลบหลายปัจจัยที่เข้ามา ส่งผลให้บริษัทส่วนใหญ่ในตลาดฯ มีผลประกอบการที่ปรับลดลง แต่สำหรับ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ยังคงสามารถบริหารงานได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเป็นเพียงไม่กี่บริษัทที่ยังคงมียอดรับรู้รายได้ที่เติบโต โดยมียอดรับรู้รายได้ทั้งปี 2562 ที่ราว 4,640 ล้านบาท เติบโตขึ้น 13.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน
นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (LALIN) (Mr.Chaiyan Chakarakul (CEO, Lalin Property Plc.) ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากว่า 30 ปีกล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยของไทยในปี 2562 ที่ผ่านมา มีการชะลอตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มแนวสูง ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง ภาวะหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูง ตลอดจนมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมาเพื่อลดการเก็งกำไรในตลาดอสังหาฯ ทำให้ตลาดแนวสูง ที่มี Demand ในกลุ่มการลงทุน และ Speculative อยู่ ได้รับผลกระทบที่มากกว่าตลาดแนวราบ ทั้งนี้ ลลิลฯ มีการประเมินและมองเห็นความเสี่ยงตรงจุดนี้มาล่วงหน้า จึงได้หยุดการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมมาแล้วกว่า 2 ปี เน้นพัฒนาแต่โครงการแนวราบที่เป็น Real Demand จึงทำให้บริษัทฯ ยังคงสามารถเติบโตได้ แม้ในภาวะตลาดอสังหาฯ โดยรวมที่ซบเซา
สำหรับในปี 2563 นี้ คาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับในปี 2562 หรือดีขึ้นเล็กน้อย หรือขยายตัวได้ที่ราว 3% บวกลบ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เม็ดเงินการลงทุนของภาครัฐ ที่จะเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้นในปี 2563 นี้ หลังจากที่มีการล่าช้าไปในปี 2562 ตลอดจนมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมา และนโยบายสนับสนุนให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ผ่านการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยแบงก์รัฐ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ตลาดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยของประเทศไทยในไตรมาส 1 ปี 2563 ขยายตัวได้ดีขึ้นจากปี 2562 ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็จะพยายามกระตุ้นกำลังซื้อผ่านกิจกรรมทางการตลาดอย่างเข้มข้น ทั้งนี้ คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์แนวราบในปี 2563 จะเติบโตได้ที่ 2 – 4%
สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในปี 2563 นี้ จะให้ความสำคัญกับตลาดที่อยู่อาศัยในกลุ่มแนวราบ ที่เป็น Real Demand โดยมีแผนขยายโครงการใหม่ทั้งในทำเลใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ ตลอดจนเปิดโครงการใหม่เพื่อทดแทนโครงการเดิมของบริษัทฯ ที่ทยอยปิดโครงการ โดยในปี 2563 นี้ มีแผนเปิดโครงการใหม่ทั้งสิ้น 9 – 11 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 5,000 – 5,500 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 6,200 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ที่ 5,250 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นราว 13% จากปี 2562
นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (LALIN) (Mr. Churat Chakarakul, Deputy Managing Director, Lalin Plc.) กล่าวถึง แผนงานด้านการตลาด ว่า “ในปีนี้ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จะดำเนินธุรกิจเชิงรุก แสดงศักยภาพขององค์กรต้นแบบผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืน มากกว่า 30 ปี รวมถึงการสร้างศักยภาพองค์กรให้เติบโตในตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างมั่นคง ขึ้นเป็น National Housing Company โดยเมื่อกล่าวถึงที่อยู่อาศัยแนวราบราคาตั้งแต่ 2 -6 ล้านบาท แบรนด์ลลิล จะต้องเป็น Top of Mind ใน 3 ลำดับแรกของผู้บริโภค
ในปีนี้ จะนำเอากลยุทธ์ Lifestyle Marketing มาสื่อสารกับลูกค้าทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างแม่นยำ อีกทั้งเป็นการสร้าง Brand Loyalty กับลูกค้าเป้าหมาย สร้างความเชื่อมั่นในทุกมิติ ให้เกิดการแนะนำและบอกต่อ โดยในปีนี้จะเน้นต่อยอดการใช้สื่อ Digital Marketing ตลอดจนมีการนำ Big Data มาใช้ เพื่อวิเคราะห์และหา Customer Insight รวมถึงระบบ CRM เชิงรุก ในรูปแบบ Lalin 4.0 Connection ที่ลูกค้าสามารถรับทราบข่าวสารข้อมูล สื่อสารกับลลิล แบบทูเวย์คอมมิวนิเคชั่นอย่างรวดเร็ว ซึ่งทั้งหมดคือการต่อยอดมาตรฐาน Lalin’s Quality of Living โดยตั้งงบด้านการตลาดในปีนี้ไว้ที่ประมาณ 3 – 4%
ในส่วนของทางด้านการเงิน บริษัทฯ วางงบซื้อที่ดินไว้ที่ประมาณ 1,000 – 1,200 ล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และกำไรสะสมของบริษัทฯ ในส่วนของ Working Cap ในการดำเนินธุรกิจ นอกจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานแล้ว ส่วนหนึ่งจะมาจากการออกหุ้นกู้ และแหล่งเงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะพิจารณาออกในจำนวนและช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้สอดรับกับการขยายธุรกิจ และการเติบโตในระยะยาวของบริษัท ทั้งนี้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ของบริษัทฯ ในปัจจุบันอยู่ในระดับเพียงประมาณ 0.8 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ราว 1.4 เท่าอยู่มาก ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนความเสี่ยงทางด้านการเงินที่ต่ำ และยังคงมีศักยภาพในการขยายธุรกิจได้อีกมากโดยไม่ติดปัญหาเรื่องของแหล่งเงินทุน