รีไซเคิลพลาสติก (rPET) จากขวดกลับมาสู่ขวด

รีไซเคิลพลาสติก (rPET) จากขวดกลับมาสู่ขวด

 

ประเทศไทยยังคงติดอันดับ Top 10 ประเทศที่สร้างขยะสู่ทะเลมากที่สุดในโลก และแนวทางที่จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกสู่ทะเลได้คือ ลดการใช้พลาสติกและเพิ่มการนำขยะพลาสติกโดยเฉพาะขวดพลาสติก PET กลับมารีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดซึ่งเป็นแนวทางที่สอดรับกับ BCG Model  ของรัฐบาลที่ใช้เป็นนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้เกิดขึ้นได้จริง    

SEA circular” ความร่วมมือจัดการบ่อขยะในทะเล

สาเหตุที่ขยะพลาสติกจากบนบก หลุดรอดไปสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติได้เป็นเพราะระบบการจัดการขยะบนบกยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ  ดังนั้น การจัดการขยะบนบกจึงต้องเริ่มต้นตั้งแต่ต้นทาง แต่การจะช่วยลดการใช้พลาสติกและเพิ่มการนำขยะพลาสติก PET กลับมารีไซเคิลได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการกำหนดนโยบายจากภาครัฐที่เอื้อต่อการปฏิบัติและการให้ความร่วมมือระหว่างกันของทุกภาคส่วน  

ล่าสุด มีการจัดทำโครงการลดพลาสติกฟุตปรินท์ (Plastic Footprint ) โดยสมาคมการจัดการของเสีย (ประเทศไทย) (Solid Waste Management Association Thailand หรือ SWAT) เพื่อแสดงเจตจำนงและความมุ่งมั่นที่จะลดการปนเปื้อนของขยะพลาสติกสู่ทะเล  ศึกษาการใช้และทิ้งพลาสติกในปัจจุบันเพื่อหาโอกาสในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการลงมือปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม  โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในชุดโครงการ SEA circular ของ UNEP (United Nations Environment Programme) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลสวีเดน  เพื่อสนับสนุนให้เกิดแนวทางการแก้ไขและนโยบายสำหรับปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งการดำเนินงานในประเทศไทยในระยะเริ่มต้นได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม  ผู้ผลิตพลาสติกและบรรจุภัณฑ์  ภาคธุรกิจบริการ และภาคการศึกษา

รีไซเคิลพลาสติก (rPET) จากขวดกลับมาสู่ขวด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้ากลุ่มวิจัย Circular Economy for Waste-free Thailand (CEWT) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  กล่าวถึงโครงการว่า เป็นความตั้งใจของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการในการวัด Plastic Footprint ว่าแต่ละที่  ใช้พลาสติกในปริมาณมากขนาดไหน  ประเภทพลาสติกที่ใช้มากที่สุดคืออะไร  จากนั้นให้มีการตั้งเป้าหมายที่จะลดการใช้ และออกแบบวิธีการจัดการขยะพลาสติกแต่ละประเภท โดยทางสมาคมจัดการของเสียจะมีทีมผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำหรือให้ความช่วยเหลือสนับสนุนให้เป้าหมายที่ตั้งไว้สามารถเดินหน้าไปได้สำเร็จ  ซึ่งเป้าหมายท้ายสุดของการร่วมมือในเบื้องต้นนี้คือ การสร้างโมเดลต้นแบบในแต่ละภาคส่วนตลอดห่วงโซ่ของการผลิตและการใช้พลาสติกเพื่อนำร่องและขยายผลให้กับองค์กรอื่นในระยะต่อๆ ไป 

“แต่ละองค์กรมีเป้าหมายและกระบวนการต่างกัน ถ้าคุณเป็นโรงงานผลิตสินค้าพลาสติก จากเดิมต้องใช้เม็ดพลาสติกใหม่เท่านั้นในการผลิตสินค้า คุณอาจจะปรับมาใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล เช่น  rPET  เพิ่มด้วยได้มั้ย เช่นเดียวกัน อุตสาหกรรมที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภท PET อาจจะพิจารณาเพิ่มข้อกำหนดเรื่อง  rPET Content  ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายในขณะที่ผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ก็อาจจะมีการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวและมีระบบคัดแยกขยะที่ดี เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดการขยะสามารถส่งเศษวัสดุไปรีไซเคิลได้มากขึ้น ซึ่งสุดท้ายก็จะลดปริมาณขยะที่ต้องทิ้งหรือหลุดรอดไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม” ผศ.ดร.ปเนต กล่าว

รีไซเคิลพลาสติก (rPET) จากขวดกลับมาสู่ขวด

Closed-loop Recycle รีไซเคิลพลาสติกจากขวดกลับมาสู่ขวด

ผศ.ดร.ปเนต ยกตัวอย่างแนวทางที่มีการนำไปหารือร่วมกันในการประชุมและชี้ว่า การนำพลาสติกชนิด  PET มารีไซเคิลนั้น เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดการลดปริมาณขยะและทำให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตได้   แม้ปัจจุบัน เม็ดพลาสติกรีไซเคิล rPET ส่วนหนึ่งจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในลักษณะของการ upcycling เพื่อผลิตเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น เสื้อผ้า สิ่งทอ  เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ แต่สินค้าเหล่านี้ก็ต้องมีการสร้างความต้องการใหม่ในตลาดและส่วนใหญ่สามารถรีไซเคิลได้เพียงรอบเดียว  นอกจากนี้ เม็ดพลาสติกรีไซเคิลอีกส่วนหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นส่วนใหญ่ที่มีการปนเปื้อนก็จะถูก  downcycling ผลิตเป็นสินค้าที่มีมูลค่าด้อยลง  เช่น ถุงขยะดำ ถัง กะละมัง เป็นต้น  โดยการรีไซเคิลแต่ละรอบ คุณสมบัติของวัสดุพลาสติกจะลดลงเรื่อยๆ  จนสุดท้ายก็ไม่สามารถรีไซเคิลได้ต้องทิ้งไป ดังนั้น แนวทางที่จะเป็นการลดขยะและช่วยหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรได้อย่างยั่งยืนควรจะเป็น closed-loop Recycle  ซึ่งเป็นการรีไซเคิลสินค้าใช้แล้วนั้นนำกลับมาผลิตเป็นสินค้าแบบเดิม

 “การจะทำให้เกิด closed-loop recycle  ผมคิดว่าตัวพลาสติกที่นำมารีไซเคิลได้มากที่สุดตัวหนึ่งในปัจจุบันคือ พลาสติก PET ซึ่งมันมีระบบเก็บรวบรวมขยะกลุ่มนี้ดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะขวดเครื่องดื่มและเทคโนโลยีการรีไซเคิลในปัจจุบันก็ก้าวหน้าไปมากทั้งการหลอม การฆ่าเชื้อโรคที่สามารถรับประกันว่าจะควบคุมสิ่งปนเปื้อนหรือสารเคมีเป็นพิษตกค้างอยู่ใน rPET ให้อยู่ในระดับที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศยอมรับ จนสามารถนำกลับมาใช้เป็นขวดเครื่องดื่มใหม่ได้ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา  ญี่ปุ่นออสเตรเลียและยุโรป   แต่สำหรับประเทศไทย ในปัจจุบันเรายังไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลกลับเป็นขวดใหม่ได้ เนื่องจากข้อกำจัดทางกฎหมายที่ห้ามใช้พลาสติกรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่ต้องสัมผัสอาหารและเครื่องดื่มแม้ในขณะนี้จะมีข้อเสนอให้มีการปรับข้อกำหนดเพื่อเปิดให้สามารถนำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้งานตรงนี้ได้ แต่ตัวเลขค่ามาตรฐานที่จะใช้ในประเทศไทยก็ดูจะสูงเกินไปจนทำให้ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ

ผมเข้าใจดีที่หน่วยงานสาธารณสุขมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยเรื่องสารเคมีหรือสิ่งปนเปื้อนตกค้างจากการรีไซเคิลพลาสติกใช้แล้วหากจะทำมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสอาหารหรือเครื่องดื่มโดยตรง  จึงพยายามวางกฎเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ ที่อาจจะสูงเกินไปกว่ามาตรฐานโลกที่ประเทศชั้นนำใช้กันอยู่  ในขณะเดียวกันเรากลับปล่อยให้มีการสกรีนสีลงบนขวด PET ซึ่งนอกจากมาตรฐาน food grade และ food safe ของหมึกที่ใช้แล้วยังทำให้การรีไซเคิลขวดเครื่องดื่มทำได้ยากขึ้นด้วย  จริงๆ ถ้าเป็นความกังวลแบบเฉพาะสำหรับสารตกค้างกลุ่มไหน หรือการนำไปใช้ประโยชน์ของผู้บริโภคแบบใดที่มีความกังวล ก็ควรระบุให้ชัด ซัพพลายเชนในภาคธุรกิจทั้งการผลิตและการรับซื้อของเก่าสามารถแก้ปัญหาให้ได้  ผมเชื่อว่าตลาดมีพลัง ถ้าภาครัฐตั้งเงื่อนไขที่ถูกต้องและเป็นไปได้ ตลาดจะปรับตัวตามได้” ผศ.ดร.ปเนต กล่าว

รีไซเคิลพลาสติก (rPET) จากขวดกลับมาสู่ขวด

อย่างไหนดี? เกณฑ์มาตรฐานการใช้ rPET แบบไทยหรือแบบสากล

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่ม ในขณะที่แนวโน้มของโลกมีการใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหารและเครื่องดื่มในกลุ่มประเทศชั้นนำมานานแล้ว ทั้งสหรัฐอเมริกา  ยุโรป  ญี่ปุ่นและในอาเซียนบางประเทศ โดยมีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลของ USFDA  และ EU ที่หลายประเทศทั่วโลกให้การยอมรับและใช้เป็นเกณฑ์ในการอนุญาตให้อุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศนั้นๆ สามารถใช้   rPET  หรือพลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบหนึ่งของการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่มได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลไทยเปิดไฟเขียวในระดับนโยบายโดยใช้ BCG Model เป็นแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)ได้มีการพูดถึงการใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหารและเครื่องดื่มซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าที่ใช้พลาสติกมากที่สุด จึงจำเป็นต้องเร่งให้มีการแก้ไขข้อจำกัดด้านกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ในการปฏิบัติของภาคธุรกิจเอกชน โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการปลดล็อกปัญหาดังกล่าวคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในช่วงต้นปี 2562 ได้แต่งตั้งคณะทำงานทบทวนประกาศกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการนำพลาสติกรีไซเคิลกลับมาผลิตเป็นภาชนะบรรจุที่สัมผัสอาหารและเครื่องดื่ม  มาจนถึงปัจจุบันการดำเนินงานในส่วนนี้คืบหน้าถึงขั้นที่เริ่มกำหนดเกณฑ์อ้างอิงมาตรฐานเพื่อใช้ทดสอบประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลในการกำจัดสารปนเปื้อนตกค้างจากวัตถุดิบที่เป็นขยะขวดพลาสติก PET

อย่างไรก็ดี นักวิชาการ เช่น ผศ.ดร.ปเนต ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งเกณฑ์มาตรฐานบางอย่างของไทยที่เข้มงวดกว่ามาตรฐานสากลในประเทศอื่นนั้นเกิดจากการตั้งสมมติฐานว่า เมื่อมีการอนุญาตให้ใช้พลาสติกที่ใช้แล้วนั้น ขวดทั้งหมดจะมี rPET เป็นส่วนประกอบทำให้มีความเสี่ยงจากการได้รับสารปนเปื้อนมากและต้องมีการกำหนดค่ามาตรฐานในระดับที่สูงมาก ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในประเทศที่อนุญาตให้ใช้ขวดจาก rPET แล้ว นอกจากนี้ ควรต้องมองในภาพรวมว่า การรีไซเคิลพลาสติกจากขวดกลับมาสู่ขวดนั้น ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่ทำเรื่องนี้ จึงไม่ได้เป็นผู้นำทางเทคโนโลยี และไม่ใช่ตลาดบริโภคขนาดใหญ่ที่มีความต้องการใช้งาน rPETมากเหมือนในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น  ผู้ประกอบการธุรกิจรีไซเคิลจึงไม่มีความจำเป็นต้องสร้างกระบวนการหรือเทคโนโลยีที่จะรองรับมาตรฐานตลาดไทยประเทศเดียว 

ดังนั้น หากหน่วยงานสาธารณสุขยืนยันมาตรฐานดังกล่าว ก็ควรต้องทำ RIA (การพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบการออก กฎ ระเบียบ และกฎหมายของไทย) และพิจารณาว่า ใครจะเป็นคนลงทุนเครื่องมือ  ลงทุนห้องปฏิบัติการ หรืออะไรก็ตามที่จะนำมาใช้ทดสอบตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้  หรือหากรัฐบาลสามารถลงทุนให้ได้ ก็ยังต้องศึกษาต่อไปอีกว่า ทำแล้วคุ้มค่าหรือไม่ทั้งในเชิงการตลาดและในเชิงปฏิบัติ

“ถ้ายังเดินหน้าไปแบบนี้ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ สุดท้ายเราก็มีแต่มาตรฐานที่เป็นกระดาษ  ดูดีแต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในทางปฏิบัติ เหมือนกับที่เรามีกฎหมายและนโยบายสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากมาย แต่เราก็ยังเป็นประเทศติดอันดับต้นๆ ในการปล่อยขยะสู่ทะเลมากที่สุดในโลกอยู่เลย” ผศ.ดร.ปเนต กล่าวทิ้งท้าย