ซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกกังวลความเสี่ยงห่วงโซ่อุปทาน

ซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกกังวลความเสี่ยงห่วงโซ่อุปทาน

ซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกกังวลความเสี่ยงห่วงโซ่อุปทาน ในขณะที่ความเชื่อมั่นซีอีโอทั่วโลกกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19


ซีอีโอธุรกิจยักษ์ใหญ่ของโลกมองแนวโน้มธุรกิจของตนในเชิงบวก และแม้ว่าโควิดสายพันธุ์เดลต้าจะทำให้ "การกลับสู่ภาวะปกติ" ช้าลง ความเชื่อมั่นของซีอีโอเหล่านี้ต่อเศรษฐกิจโลกได้กลับสู่ระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาด การสำรวจ CEO Outlook ของเคพีเอ็มจี ในปี 2564 ซึ่งสอบถามซีอีโอทั่วโลกมากกว่า 1,300 คน เกี่ยวกับกลยุทธ์และแนวโน้มธุรกิจในช่วง 3 ปี พบว่าผู้นำร้อยละ 60 มีความมั่นใจในแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในช่วง 3 ปีข้างหน้า (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 42 ในผลการสำรวจ Pulse survey ของเดือนมกราคม/กุมภาพันธ์)

โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะแข็งแกร่งขึ้น กระตุ้นให้ซีอีโอลงทุนในการขยายและเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ โดยผู้บริหารระดับสูงร้อยละ 69 ระบุว่าการเติบโตจากภายนอก (Inorganic growth) เช่น การร่วมทุน การควบรวมกิจการ และการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เป็นกลยุทธ์หลักในการเติบโตขององค์กร ผู้นำระดับโลกส่วนใหญ่ (ร้อยละ 87) กล่าวว่า ต้องการเข้าซื้อกิจการในอีก 3 ปีข้างหน้าเพื่อช่วยให้ธุรกิจเติบโตและเปลี่ยนแปลง การสำรวจพบว่าซีอีโอร้อยละ 30 วางแผนที่จะลงทุนมากกว่าร้อยละ 10 ของรายได้เพื่อมาตรการและโครงการด้านความยั่งยืนในช่วง 3 ปีข้างหน้า

บิลล์ โทมัส ประธาน และซีอีโอ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “แม้จะมีความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ซีอีโอก็มีความมั่นใจมากขึ้นว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาแข็งแกร่ง ความเชื่อมั่นนี้ทำให้ผู้นำมุ่งสู่การเติบโตเชิงรุก แม้ว่ากลยุทธ์การเติบโตจากภายนอก (Inorganic growth) จะมีความสำคัญ แต่ซีอีโอก็หาวิธีเติบโตจากภายในด้วย และยังคงประเมินอนาคตของการทำงานต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถดึงดูดผู้มีความสามารถระดับสูงได้

“ผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา คือ ซีอีโอได้กำหนดให้การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือ ESG เป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์การฟื้นตัวและการเติบโตในระยะยาว วิกฤตด้านสภาวะแวดล้อมและสังคมที่ส่งผลกระทบต่อโลก แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเราต้องเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจและต้องทำงานร่วมกัน ผมเชื่อมั่นในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะผู้นำทางธุรกิจยอมรับว่าตนเองจำเป็นต้องเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก สนับสนุนมาตรการเพื่อจัดการกับอันตรายด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความท้าทายทางสังคม ทั้งในด้านเพศและเชื้อชาติ ไปจนถึงความเท่าเทียมและการเคลื่อนไหวทางสังคม”

ฮอนสัน โท ประธานเคพีเอ็มจีเอเชียแปซิฟิก และเคพีเอ็มจีประเทศจีน เสนอมุมมองต่อผลการสำรวจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ว่า “ซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกมองเชิงบวกมากกว่าซีอีโอในภูมิภาคอื่นๆ ในแง่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในอีกสามปีข้างหน้า โดยคาดว่าจำนวนพนักงานจะเพิ่มขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค และจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรในด้านวิธีการทำงานอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะที่ปัจจัยด้านทาเลนท์ยังคงเป็นความสี่ยงที่ต้องกังวล ความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานได้ไต่อันดับเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อการเติบโตขององค์กรในเอเชียแปซิฟิก และอัตราซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกที่มองห่วงโซ่อุปทานเป็นความเสี่ยงสูงสุดนั้นคิดเป็นเปอร์เซนต์ที่สูงกว่าอัตราของซีอีโอทั่วโลก เช่นเดียวกับซีอีโอระดับโลก ซีอีโอในเอเชีย แปซิฟิกมองว่า ESG จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์องค์กร และผมดีใจที่ได้เห็นว่าทั้งมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงสุดขององค์กรต่างๆ”

เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 แต่ความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจโลกยังคงสูงในกลุ่มซีอีโอระดับเอเชียแปซิฟิก โดยซีอีโอร้อยละ 72 จากการสำรวจในประเทศไทยมีความมั่นใจ อย่างไรก็ตาม การรับรู้ความเสี่ยงได้เปลี่ยนไป และซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกจำนวนสองในสาม รายงานว่าห่วงโซ่อุปทานอยู่ภายใต้สภาวะตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ในการบรรเทาปัญหานี้ บริษัทต่างๆ จะต้องติดตามดูแลระบบห่วงโซ่อุปทานของตนอย่างใกล้ชิด กระจายความเสี่ยงไปยังแหล่งนำเข้าใหม่เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น นำเข้าจากหลายแหล่งมากขึ้น และใช้มาตรการเชิงกลยุทธ์ เช่น การป้องกันความเสี่ยง และสัญญาระยะยาว”


ผลการสำรวจที่สำคัญ

การบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ

ท่ามกลางความท้าทายด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกำลังสร้างแรงกดดันมหาศาลต่อธุรกิจต่างๆ ให้จัดการกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ด้วยเหตุนี้ ผู้นำธุรกิจกว่าหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 27) จึงมีความกังวลว่าหากไม่สามารถปฏิบัติตามความคาดหวังด้านการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ จะส่งผลให้ตลาดไม่ลงทุนในธุรกิจของตน ซีอีโอกว่าครึ่ง (ร้อยละ 58) กล่าวว่าตนกำลังเผชิญกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (เช่น นักลงทุน หน่วยงานกำกับดูแล และลูกค้า) เพื่อให้มีการรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็น ESG

ผู้บริหารระดับโลกจำนวนสามในสี่ (ร้อยละ 77) เชื่อว่าจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐเพื่อให้ภาคธุรกิจบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ นอกจากนี้ ซีอีโอทั่วโลกจำนวนสามในสี่ (ร้อยละ 75) ระบุว่าการประชุมนานาชาติขององค์การสหประชาชาติ (COP26) เป็นช่วงเวลาสำคัญในการเพิ่มความเร่งด่วนของวาระการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

ผู้นำระดับโลกมากกว่าแปดในสิบ (ร้อยละ 86) ระบุว่า จุดมุ่งหมายขององค์กรของตนจะกำหนดกลยุทธ์การจัดสรรทุนและกลยุทธ์การเติบโตจากภายนอก ผลการวิจัยพบว่าจุดมุ่งหมายขององค์กร (Corporate purpose) ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทยึดมั่น และส่งผลเชิงบวกต่อชุมชนและโลก ได้ขับเคลื่อนซีอีโอร้อยละ 74 ให้ดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ลูกค้า พนักงาน นักลงทุน และชุมชน) นอกจากนี้จำนวนซีอีโอที่กล่าวว่าวัตถุประสงค์หลักของตนคือการนำเอาจุดมุ่งหมายขององค์กรมาใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าระยะยาวสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้เพิ่มขึ้น 10 ลำดับตั้งแต่ต้นปี 2563 (ร้อยละ 64)


จุดสนใจเปลี่ยนไปยังความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการและสิ่งแวดล้อม

เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงด้านการเติบโตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงมองว่า 3 สิ่งที่เป็นความเสี่ยงสูงสุด ได้แก่ ห่วงโซ่อุปทาน ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซีอีโอทั่วโลกร้อยละ 56 กล่าวว่า ห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจของตนอยู่ภายใต้สภาวะตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทัศนคติต่ออนาคตของการทำงานที่เปลี่ยนไป
ปัจจุบัน ซีอีโอเพียงร้อยละ 21 กล่าวว่า กำลังวางแผนที่จะลดขนาดหรือได้ทำการลดขนาดพื้นที่สำนักงานไปแล้ว นับเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของโควิด-19 ระลอกแรก และในขณะนั้น ผู้นำระดับโลกร้อยละ 69 กล่าวว่า มีการวางแผนเพื่อลดขนาดพื้นที่ที่องค์กรใช้ในการดำเนินการ

ซีอีโอมุ่งเน้นการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับพนักงานแทน โดยร้อยละ 51 (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14 ในการสำรวจ Pulse survey เดือนมกราคม/กุมภาพันธ์) ที่ต้องการลงทุนในพื้นที่ใช้ร่วมกันในสำนักงาน นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับโลกร้อยละ 37 ยังใช้รูปแบบการทำงานแบบไฮบริดกับพนักงานในองค์กร โดยที่พนักงานส่วนใหญ่ทำงานทางไกล 2-3 วันต่อสัปดาห์

การปฏิรูปภาษีระหว่างประเทศที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเป็นจุดสนใจที่สำคัญสำหรับซีอีโอ

ซีอีโอจำนวนสามในสี่ (ร้อยละ 75) เชื่อว่าแรงกดดันต่อผู้ให้บริการด้านการเงินสาธารณะอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เพิ่มความเร่งด่วนให้แก่ความร่วมมือระดับพหุภาคีในระบบภาษีทั่วโลก ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารระดับสูงร้อยละ 77 เห็นพ้องต้องกันว่าข้อเสนอด้านระบบภาษีขั้นต่ำทั่วโลกเป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งต่อเป้าหมายการเติบโตขององค์กรของตน

นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับสูงมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและภาษีมากกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ผลการวิจัยพบว่า ซีอีโอร้อยละ 74 ตระหนักถึงความเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งระหว่างความไว้วางใจของสาธารณชนต่อธุรกิจของตน และวิธีการทางภาษีที่สอดคล้องกับค่านิยมขององค์กร ในขณะที่ธุรกิจตั้งเป้าที่จะฟื้นตัวให้ดีขึ้น ซีอีโอส่วนใหญ่ (ร้อยละ 69) รู้สึกกดดันมากขึ้นในการรายงานภาษีเพื่อประโยชน์สาธารณะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบต่อ ESG ที่กว้างขึ้น