การเลิกบุหรี่ส่งผลดีต่อสถานประกอบการ
รองประธานคณะอนุกรรมการแรงงาน ฝ่ายสถานประกอบการ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังไทยไทยปลอดบุหรี่ ยืนยันว่า การเลิกบุหรี่ส่งผลดีต่อสถานประกอบการ ทำให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อองค์กร จากการมีทรัพยากรบุคคลที่ช่วยทำงานได้เป็นอย่างดี
แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ โดยคณะอนุกรรมการฝ่ายแรงงาน จัดการเสวนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ "บุหรี่เลิกได้ 100%" เพื่อส่งต่อประสบการณ์และให้ความรู้เกี่ยวกับการเลิกบุหรี่โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานในสถานประกอบการท่ามกลางสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ต้องเฝ้าระวังทั้งเรื่องของโรคระบาดและโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่
พลตรี ผศ.นพ.กิฎาพล วัฒนกูล รองประธานคณะอนุกรรมการแรงงาน ฝ่ายสถานประกอบการ กล่าวว่า ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้การสูบบุหรี่ถูกเชื่อมโยงกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มากขึ้น เพราะควันบุหรี่มีสารเคมีกว่า 7,000 ชนิด มีสารพิษกว่า 250 ชนิด มีสารก่อมะเร็ง 70 ชนิด และเป็นตัวทำลายปอด ทำให้ปอดมีสภาพที่อ่อนแอลง ภูมิต้านทานต่ำ เมื่อติดเชื้อแล้วก็ส่งผลต่ออาการที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนถึงขั้นปอดอักเสบ ยืนยันได้จากข้อมูลการระบาดในระยะแรกที่ประเทศจีน ที่พบการรายงานว่า คนที่ป่วยแล้วมีอาการหนัก มักจะเป็นเพศชายที่สูบบุหรี่เป็นเวลานาน ส่งผลให้องค์การอนามัยโลกและสหราชอาณาจักร เผยแพร่ข้อมูลในวารสารทางการแพทย์ที่แนะนำว่า ให้เลิกการสูบบุหรี่ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จนเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก องค์การอนามัยโลกก็ออกมาย้ำอีกครั้งว่า คนสูบบุหรี่ เสี่ยงโควิด จึงขอให้เลิกบุหรี่
ขณะเดียวกันในประเทศไทยเองจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบ ของศูนย์วิจัยและการจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล พบว่า ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 คนไทยลดการสูบบุหรี่ลง มีสาเหตุหลักมาจากรายได้ที่ลดลง แต่วิธีการเลิกนั้นกว่าร้อยละ 57.63 คือลดจำนวนการสูบลง หักดิบเลิกสูบทันทีร้อยละ 34.41 แต่การรับคำแนะนำเพื่อเลิกบุหรี่นั้นอยู่ที่ร้อยละ 3.39 สะท้อนภาพว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ติดบุหรี่จากความเครียดและความกลัว ดังนั้นจึงต้องมีการส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงบริการเลิกสูบบุหรี่กันมากขึ้น โดยหากยิ่งเลิกสูบได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี จากกงานวิจัยในสหราชอาณาจักรพบว่า หากเลิกสูบบุหรี่ในช่วงอายุ 30 ปีได้ จะมีอายุยืนขึ้น 10 ปี แต่หากเลิกไปในช่วงอายุ 60 ปี จะมีอายุยืนขึ้นเพียง 3 ปีเท่านั้น
ส่วนประเด็นบุหรี่ไฟฟ้านั้น องค์การอนามัยโลกยืนยันแล้วว่า ไม่สามารถป้องกันการติดโควิดได้ อย่างที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผิด ๆ กันมา และยังมีส่วนทำร้ายปอดอีกด้วย พร้อมระบุว่า ไม่ว่าในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์ในรูปแบบได้หากขึ้นต้นด้วยคำว่า "บุหรี่" ย่อมไม่เป็นสิ่งดีต่อร่างกายทั้งนั้น
ทั้งนี้ การที่จะทำให้ประชาชนเลิกการสูบบุหรี่นั้น ในปัจจุบันมีหลากหลายช่องทาง ทั้งการใช้ยา ที่มาในรูปแบบของแผ่นแปะสารทดแทนนิโคติน หมากฝรั่งนิโคติน และในอนาคตก็จะมียาจากเมล็ดจามจุรีสีทอง ซึ่งอยู่ระหว่างการวิจัย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นภายในปีหน้า รวมถึงการช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การนวดกดจุด ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (สายเลิกบุหรี่ 1600) ที่สามารถโทรได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อขอคำแนะนำและกำลังใจในการเลิกบุหรี่ รวมถึงคลินิกฟ้าใส ที่อยู่ในโรงพยาบาลมากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ หากต้องการเลิกบุหรี่ก็สามารถแจ้งความประสงค์กับแพทย์หรือพยาบาลได้เพื่อเข้าสู่กระบวนการเลิกบุหรี่ต่อไป
“สิ่งที่อยากฝากไปยังแรงงานในสถานประกอบการและผู้ประกอบการ คือ การเลิกบุหรี่นั้นจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งตนเองและคนรอบข้าง โดยในกลุ่มแรงงานนั้น สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก และช่วยให้สุขภาพดีขึ้นด้วย ส่วนผู้บริหารสถานประกอบการนั้นก็จะไม่สูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีค่า ทำให้เกิดทั้งความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนแก่บริษัทเอง จากการที่พนักงานมีสุขภาพที่ดี มีความพร้อมในการทำงาน จึงเชื่อว่าการเลิกบุหรี่ได้ 100% สามารถเกิดขึ้นได้ถ้ามีความตั้งใจจริง”
ขณะที่ นายแพทย์วันชาติ ศุภจัตุรัส กรรมการสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติ เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เล่าถึงประสบการณ์เลิกบุหรี่ของตนเองว่า ในอดีตเป็นคนที่สูบบุหรี่จัดตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ จากความเครียดของการเรียน และได้รับคำแนะนำจากเพื่อนให้สูบบุหรี่แก้ง่วง ประกอบกับในสมัยก่อนเกือบ 60 ปีที่แล้ว ความรู้เรื่องของพิษภัยที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่มีน้อยมาก ยังเห็นว่าเป็นความเท่และแฟชั่น จึงทำให้เริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่มวนแรกแล้วเข้าสังคมกับเพื่อน บางวันได้สูบบุหรี่เป็นจำนวน 2 ซอง หรือตกประมาณ 40 มวน บางครั้งซื้อเป็นกระป๋องหรือ 50 มวน หากไม่สูบแล้วจะมีอาการกระวนกระวาย ต้องมีติดตัวไว้ตลอดเวลา และได้ลองการสูบมาแล้วทุกรูปแบบทั้ง ซิการ์ ไปป์ หรือแม้แต่บุหรี่ที่มวนเอง และสูบมานานกว่า 20 ปี
จากนั้นเมื่อเข้าสู่อายุ 40 ปี ได้เป็นผู้อำนวยการและหมอผ่าตัดที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และ ดร.นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ได้มีโครงการรณรงค์ให้เป็นโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ แต่ความคิดเดิมมองเพียงแค่เรื่องของทรัพย์สินที่เสียหายจากบุหรี่คือมีรอยไหม้ปลอกหมอนคนไข้เท่านั้น จึงได้เริ่มเข้าร่วมโครงการนี้ แต่เมื่อกลับมามองสำรวจตนเองแล้วก็พบว่า ตนเองยังคงสูบบุหรี่อยู่ ซึ่งการเข้าร่วมโครงการนี้ จะต้องเป็นแบบอย่างให้กับคนอื่น เพื่อให้ทุกคนเห็นถึงผลดีของการเลิกสูบบุหรี่ได้จริง ดังนั้นจึงได้เริ่มนำบุหรี่ใส่ในลิ้นชัก ล็อกกุญแจ แล้วโยนกุญแจทิ้ง เป็นจุดเริ่มต้นการหักดิบบุหรี่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เมื่อเลิกบุหรี่ได้สัปดาห์แรก แน่นอนว่าจะมีอาการสับสนและกระวนกระวายอย่างมาก ต้องการจะสูบตลอดเวลา แต่เมื่อผ่านเข้าสู่สัปดาห์ที่สองก็เริ่มดีขึ้น สังเกตอาการตนเองได้ดีว่า เหนื่อยน้อยลง ด้วยจิตใจที่เข้มแข็งและแน่วแน่ จนสุดท้ายแล้วก็เลิกบุหรี่ได้ในที่สุด ดังนั้นยืนยันว่า การเลิกบุหรี่ 100% สามารถทำได้เพราะในสมัยก่อน ช่องทางการเลิกยังไม่มีมากมายเหมือนในปัจจุบันแต่ตนเองก็ผ่านจุดนั้นมาได้
“ในการเลิกสูบบุหรี่นั้น หากไม่มองตนเองในฐานะผู้นำองค์กร ก็อยากให้มองถึงฐานะผู้นำครอบครัว แล้วคิดภาพว่าเด็กหรือลูกจะได้รับผลกระทบทางสุขภาพอย่างไรเมื่อได้เป็นผู้รับควันบุหรี่มือสอง หรือจะก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ด้วย แต่การจะให้คนเลิกสูบบุหรี่นั้น จะต้องเน้นการให้ความรู้ถึงพิษภัยอย่างรอบด้าน” นายแพทย์วันชาติ กล่าวย้ำ
ส่วนเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้านั้น ถือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติต้องการนำออกมาสู่ตลาดให้ได้มากที่สุด ดังนั้นจึงมีการโฆษณาหลากหลายช่องทางแต่มีผลวิจัยออกมาชัดเจนแล้วว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนทำให้ปอดอักเสบและยังเป็นส่วนหนึ่งของการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อีกด้วย จากการสัมผัสใกล้ชิดกันเป็นกลุ่ม หรือละอองควันที่ลอยในอากาศ
พร้อมยืนยันว่า การเลิกสูบบุหรี่นั้น จะช่วยประหยัดเงินได้ประมาณ 2,000 บาท ต่อเดือน หากเลิกได้ 1 ปี ก็จะสามารถซื้อทองได้ 1 บาท หรือหากเลิกได้สองปีก็สามารถซื้อมอเตอร์ไซต์ได้ 1 คัน ดังนั้น การเลิกสูบบุหรี่ในวันนี้จะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจครัวเรือนและสุขภาพของตนเอง